เกี่ยวกับสำนักงาน

ประวัติสำนักงานอัยการจังหวัดตราด

          สำนักงานอัยการจังหวัดตราดมีหน่วยงานซึ่งสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด รวม 2 หน่วยงาน  คือ สำนักงานอัยการจังหวัดตราด และสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตราด

          สำนักงานอัยการจังหวัดตราดก่อตั้งขึ้นเมื่อใดนั้นไม่ปรากฏเอกสารแน่ชัด จากการตรวจสอบเอกสารภายในสำนักงานอัยการจังหวัดตราด พบว่า มีหนังสือเรื่องที่ 5 พ.ศ. 2464 เรื่องให้สำรวจพัสดุที่ดินของกองอัยการจังหวัดตราด ปรากฏตามหนังสือ ห้องอัยการมณฑลจันทบุรี ที่ 18/255 ลงวันที่ 23  กันยายน พุทธศักราช 2464 แจ้งความมายังรองอำมาตย์โท หลวงอาทรคดี  อัยการจังหวัดตราษ

          ตามราชกิจจานุเบกษา เล่ม 74 ตอนที่ 46 หน้า 18  ลงวันที่ 20 พฤษภาคม 2500  ได้มีพระราชกฤษฎีกา แบ่งท้องที่ของกรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย ออกเป็นเขต พ.ศ. 2500 โดยที่ มาตรา 2  พระราชกฤษฎีกานี้ให้ใช้นับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็น ต้นไป และมาตรา 3 ให้แบ่งท้องที่  กรมอัยการ  กระทรวงมหาดไทย  ออกเป็นเขต ดังต่อไปนี้ (2) อัยการเขต 2 มีสำนักงานเขตอยู่ที่ จังหวัดฉะเชิงเทรา และมีเขตภายในท้องที่ 7 จังหวัด คือ
                   1. จังหวัดฉะเชิงเทรา
                   2. จังหวัดนครนายก
                   3. จังหวัดปราจีนบุรี                   
                   4. จังหวัดชลบุรี 
                   5. จังหวัดระยอง 
                   6. จังหวัดตราด
                   7. จังหวัดจันทบุรี (http://www.ratchakitcha.soc.go.th)

          ตามบันทึกข้อความ ที่ทำการอัยการจังหวัดตราด ที่ ตด.22/1655 ลงวันที่ 6 มิถุนายน 2523 เรื่่องขออนุมัติรื้อรั้วลวดหนามและเพิงจอดรถยนต์เพื่อเตรียมการก่อสร้างที่ ทำการอัยการจังหวัดตราด เนื่องจากที่ทำการอัยการจังหวัดตราด ซึ่งอยู่ทางปลีกขวาด้านหลังของศาลากลางจังหวัด มีสถานที่คับแคบมากกรมอัยการจึงได้อนุมัติงบประมาณให้สร้างที่ทำการอัยการจังหวัดตราด แยกต่างหากจากศาลากลางจังหวัดเป็นจำนวนเงิน 830,000 บาท ซึ่ง  นายวิบูลย์  กนกเวชยันต์  อัยการจังหวัดตราด เห็นว่า ที่ดินที่จะทำการก่อสร้างอาคารที่ทำการอัยการจังหวัดตราด ที่เหมาะสมที่สุดในขณะนี้ คือ ที่ดินราชพัสดุด้านขวาของศาลากลางจังหวัด หลังอาคารที่ทำการกองอาสารักษาดินแดน ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ 630 ตารางเมตร เพียงพอที่จะสร้างที่ทำการได้สวยงามเคียงข้างกับศาลากลางจังหวัด (ที่ตั้งสำนักงานในปัจจุบัน)

          ปัจจุบันสำนักงานอัยการจังหวัดตราด ตั้งอยู่ที่ถนนราษฎร์นิยม  ตำบลบางพระ  อำเภอเมืองตราด จังหวัดตราด  ได้รับงบประมาณก่อสร้างอาคารจากกรมอัยการเมื่อปีงบประมาณ 2523 และได้ใช้เป็นอาคารที่ทำการจนมาถึงปัจจุบัน

          โดยสำนักงานอัยการจังหวัดตราดมี เขตอำนาจครอบคลุมท้องที่ อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอแหลมงอบ อำเภอคลองใหญ่ อำเภอบ่อไร่ อำเภอเกาะช้าง และอำเภอเกาะกูด

อำนาจหน้าที่

อำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด มีดังนี้

          (มาตรา ๒๓) สำนักงานอัยการสูงสุด นอกจากมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการและงานวิชากร เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานอัยการแล้ว ให้มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้

          (๑) ให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินการทางกฎหมายรวมตลอดทั้งในการคุ้มครองป้องกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
          (๒) ให้คำปรึกษา และตรวจร่างสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายให้แก่รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ
          (๓) ให้คำปรึกษา และตรวจร่างสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายให้แก่นิติบุคคล ซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐแต่ได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ ตามที่เห็นสมควร
          (๔) ดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง หรือคดีปกครองแทนรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งพนักงานอัยการได้รับดำเนินคดีให้
          (๕) ดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีร้องขอ เว้นแต่การดำเนินการนั้นจะขัดต่องานในหน้าที่ หรืออาจทำให้ขัดต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ
          (๖) ดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาข้ารการฝ่ายอัยการ
          (๗) ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการอำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน
          (๘) ติดต่อและประสานงานกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุด
          (๙) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ หรือสำนักงานอัยการสูงสุด
          ในการตรวจร่างสัญญาตาม (๒) และ (๓) ให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่รักษาประโยชน์ของรัฐ ในการนี้สำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่รายงานรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐตาม (๒) หรือนิติบุคคลตาม (๓) ที่เป็นคู่สัญญาให้ทราบถึงข้อที่ควรปรับปรุงหรือแก้ไขให้สมบูรณ์ ข้อเสียเปรียบหรือข้อที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ


อำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด มีดังนี้

          (มาตรา ๒๗)  ให้อัยการสูงสุดมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          (๑) กำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด ให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นไปตามเป้าหมาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด
          (๒) ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการ ปฏิบัติราชการ และบริหารงานบุคคลของสำนักงานอัยการสูงสุด ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผน และประเพณีปฏิบัติของราชการ
          (๓) บริหารจัดการงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน และการพัสุดของสำนักงานอัยการสูงสุด
          ในการปฏิบัติราชการตามวรรคหนึ่ง อัยการสูงสุดอาจมอบอำนาจให้รองอัยการสูงสุด หรือข้าราชการฝ่ายอัยการผู้หนึ่งผู้ใดปฏิบัติหน้าที่แทนได้
          ให้อัยการสูงสุดโอยความเห็นชอบของ ก.อ. มีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน และการพัสดุของสำนักงานอัยการสูงสุด


อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ 
มีดังนี้

          มาตรา ๑๔ พนักงานอัยการมีอำจานและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          (๑) อำนาจและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
          (๒) ในคดีอาญา มีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและ ตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ
          (๓) ในคดีแพ่ง หรือคดีปกครอง มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาล หน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ราชการส่วนกลาง หรือราชการส่วนภูมิภาคในศาล หรือในกระบวนการทางอนุญาโตตุลากรทั้งปวง กับมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ
          (๔) ในคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือคดีอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ก็ดี หรือในคดีแพ่งหรือคดีอาญาที่ราษฎรผู้หนี่งผู้ใดถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำตามคำสั่งของเจ้าที่ของรัฐซึ่งได้สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเข้าร่วมหรือช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกระทำการในหน้าที่ราชการก็ดี เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการจะรับแก้ต่างให้ก็ได้
          (๕) ในคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือกรณีมีข้อพิพาทที่ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ ที่หน่วยงานของรัฐซึ่งมิได้กล่าวใน (๓) หรือนิติบุคคลซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ แต่ได้มีพระราชบัญญัติด้วยกันเอง เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการจะรับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ก็ได้
          (๖) ในคดีที่ราษฎรฟ้องเองไม่ได้โดยกฎหมายห้าม เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการมีอำนาจเป็นโจทก์ได้
          (๗) ดำเนินการตามที่เห็นสมควรเกี่ยวกับการบังคับคดีอาญาเฉพาะในส่วนของการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาก ในการนี้มิให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมจากพนักงานอัยการ
          (๘) ในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันจำเลย หรือประกันรับสิ่งของไปดูแลรักษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น ในการนี้มิให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมจากพนักงานอัยการ
          (๙) อำนาจและหน้าที่ตาม ก.อ. ประกาศกำหนดหรือเห็นชอบเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือมติคณะรัฐมนตรี
          (๑๐) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ
          (๑๑) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด ตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด
          ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการตามมาตรา ๑๔ (๓) (๔) และ (๕) พนักงานอัยการจะออกคำสั่งเรียกบุคคลใดๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำก็ได้ แต่จะเรียกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาให้ถ้อยคำ โดยคู่ความฝ่ายนั้นไม่ยินยอมไม่ได้
          พนักงานอัยการตำแหน่งใดมีอำนาจดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้เพียงใดให้เป็นไปตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุด กำหนดโดยความเห็นชอบของ ก.อ.

ภารกิจของอัยการ


ภารกิจของอัยการอาจแบ่งเป็นหลักใหญ่ๆดังนี้

1.งานอำนวยความยุติธรรมทางอาญา

          เมื่อมีเหตุละเมิดกระบิลเมือง เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดำเนินการสืบสวน จับกุมสอบสวน แล้วเสนอสำนวนการสอบสวนต่ออัยการ อัยการจะเป็นผู้วินิจฉัยว่าพยานหลักฐานจากการสอบสวนเพียงพอที่จะพิสูจน์ให้ รับฟังได้โดยปราศจากข้อสงสัยหรือไม่ว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำความผิดตามข้อ กล่าวหา หากเห็นว่าเพียงพออัยการก็จะสั่งฟ้อง หากเห็นว่าการสอบสวนยังไม่พียงพอก็จะสั่งไม่ฟ้อง หรือหากเห็นว่าการสอบสวนทำการสอบสวนเพิ่มเติมในประเด็นที่กำหนดให้จนกว่าจะ เพียงพอที่วินิจฉัยได้ว่าจะสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง เมื่อสั่งฟ้องแล้วก็จะติดตามดำเนินคดีในศาล และเมื่อศาลมีคำพิพากษาแล้วหากเห็นว่าคำพิพากษาไม่ถูกต้องไม่เหมาะสมก็จะ อุทธรณ์ฎีกาต่อไปจนถึงที่สุด

          ดังนั้น อัยการจึงเป็นองค์กรตรวจสอบถ่วงดุลและคานอำนาจการใช้ดุลพินิจทั้งของพนักงานสอบสวนและศาลเพื่อให้เป็นไปอย่างถูกต้องชอบธรรม

          นอกเหนือจากหน้าที่ในการสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องผู้ต้องหาแล้ว อัยการยังมีหน้าที่ในการมีส่วนร่วมสอบสวนคดีที่ผู้ต้องหาหรือผู้เสียหายหรือ พยานเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปี ซึ่งอัยการจะเข้าไปมีส่วนในการอำนวยความยุติธรรมตั้งแต่ในชั้นสอบสวน โดยจะเข้าไปร่วมในการสอบปากคำผู้ต้องหา สอบปากคำพยาน ผู้เสียหายและการให้พยานเด็กทำการชี้ตัวผู้ต้องหาด้วย ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองให้เยาวชนผู้นั้นได้รับการปฏิบัติที่เหมาะสมแก่วัย

          หน้าที่อีกประการหนึ่งคือการเป็นหลักประกันความเป็นธรรมในสังคมเกี่ยวกับ คดีวิสามัญมาตรกรรม คือ ในกรณีความตายเกิดขึ้นโดยการกระทำของพนักงานซึ่งอ้างว่าปฏิบัติราชการตาม หน้าที่ เช่นกรณีที่คนร้ายถึงแก่ความตายเนื่องจากยิงต่อสู้กับพนักงาน ดังที่เรียกกันเป็นภาษาพูดว่า “ คดีวิสามัญฆาตกรรม ” หรือมีคนตายในระหว่างอยู่ในความควบคุมของเจ้าพนักงานซึ่งอัยการเข้าไปร่วม ชันสูตรพลิกศพด้วยเพื่อเป็นหลักประกันสิทธิเสรีภาพของประชาชนว่าการตายนั้น ต้องไม่เกิดจากการกระทำเกินขอบเขตแห่งกฎหมายของเจ้าหน้าที่นั้นๆ

2.งานด้านคดีอาญาระหว่างประเทศ

          (ก) คดีส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในกรณีมีผู้ก่ออาชญากรรมขึ้นในต่างประเทศแล้วหลบหนีเข้ามาในราชอาณาจักร รัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิดกลับคืนไปให้ประเทศนั้นๆดำเนินคดีได้ตามหลัก เกณฑ์แห่งสนธิสัญญาที่ได้ทำไว้ต่อกัน หรือแม้แต่ประเทศที่ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทยแต่มีสัมพันธ ไมตรีทางการทูตต่อกัน ก็สามารถขอให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดนได้โดยอาศัยหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกันผ่าน วิถีทางการทูต กล่าวคือประเทศทั้งสองจะถือเป็นหลักการว่าหากประเทศไทยให้ความร่วมมือในการ ดำเนินการเพื่อส่งผู้ร้ายข้ามแดนประเทศผู้ร้องขอนั้นก็ต้องให้ความร่วมมือ เช่นกันหากประเทศผู้ร้องขอ และผู้มีหน้าที่โดยตรงในการนี้ก็คืออัยการ
          ในทางกลับกัน กรณีที่บุคคลกระทำความผิดในไทยแล้วหลบหนีไปต่างประเทศ เมื่ออัยการมีคำสั่งฟ้องแล้วก็จะดำเนินการเพื่อขอให้รัฐบาลห้งประเทศนั้นๆ ส่งตัวข้ามแดนมา อัยการแห่งประเทศนั้น ๆ ก็จะนำคดีขึ้นสู่ศาลในทำนองเดียวกัน โดยอัยการไทยจะร่วมประสานงานนและปรึกษาหารือกับอัยการเจ้าของคดีในประเทศ นั้นอย่างใกล้ชิด เพื่ออัยการในประเทศนั้นต้องการและเห็นว่าเพียงพอสำหรับการดำเนินคดีในศาล

          (ข) การร่วมมือกับต่างประเทศในการสอบสวนและอื่นๆ นอกจากการส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้แก่กันแล้วนานาประเทศยังมีการช่วยเหลือซึ่ง กันและกันในเรื่องทางอาญากรณีอื่นๆ เพื่อปราบปรามอาชญากรรมระหว่างประเทศ เช่น ช่วยสอบปากคำพยานและช่วยรวมรวบพยานหลักฐานให้แก่กัน ช่วยดำเนินการค้น ยึดและสืบหาตัวบุคคลให้แก่กัน
          พ.ร.บ. ความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 กำหนดให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ประสานงานกลางทั้งการให้ความช่วยเหลือหรือขอรับ ความช่วยเหลือจากต่างประเทศ ซึ่งในทางปฏิบัติอัยการจะทำหน้าที่ประสานงานโดยตรงกับผู้ประสานงานกลางของ ต่างประเทศ

3.งานด้านรักษาผลประโยชน์ของรัฐ

          ในการบริหารราชการแผ่นดิน หน่วยงานของรัฐไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจอาจประสบปัญหากฎหมาย อันเป็นอุปสรรคแก่การปฏิบัติงาน หรืออาจนำไปสู่การเป็นคดีความได้ อัยการจึงทำหน้าที่ทนายแผ่นดินด้วยการรับปรึกษาหารือปัญหาข้อกฎหมายเหล่า นั้น เพื่อให้การบริหารราชการของหน่วยงานต่างๆ ลุล่วงไปด้วยดี และแม้จะเกิดเป็นคดีความขึ้นในทางแพ่งไม่ว่าฝ่ายราชการจะเป็นโจทก์หรือจำเลย อัยการก็จะรับดำเนินการว่าต่างแก้ต่างให้ จนกว่าคดีจะถึงที่สุด

          อนึ่ง ในแต่ละปีหน่วยงานภาครัฐต้องใช้เงินงบประมาณแผ่นดิน รวมทั้งใช้เงินกู้จากต่างประเทศเป็นจำนวนมากในการจัดซื้อจัดจ้าง ในกรณีนี้อัยการจะทำหน้าที่ตรวจร่างสัญญาทั้งฝ่ายราชการและเอกชน โดยข้อสำคัญจะต้องไม่ทำให้รัฐเสียเปรียบ

4.งานด้านคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน

          การ ทำหน้าที่ทนายแผ่นดินหาได้จำกัดเพียงการเป็นที่ปรึกษากฎหมายและการดำเนินคดี แทนรัฐเท่านั้นแต่อัยการยังรับดำเนินการทางศาลให้แก่ประชาชนที่ไม่สามารถ ดำเนินการเองได้อีกด้วย เช่นจะฟ้องบุพการีของตนเองเพื่อเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู กฎหมายห้ามมิให้ฟ้อง แต่อัยการอาจดำเนินการแทนให้ได้ซึ่งเรียกว่า “คดีอุทลุม” หรือในกรณีที่ประสงค์จะดำเนินคดีแพ่ง แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ อัยการรับดำเนินการให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น รวมทั้งรับให้คำปรึกษาหารือด้านกฎหมาย ตลอดจนช่วยทำนิติกรรมสัญยาและประนอมข้อพิพาทให้แก่ประชาชนทั่วไปโดยไม่คิด ค่าใช้จ่ายใดๆ เช่นกัน

          นอกจากนี้อัยการยังออกไปอบรมกฎหมายที่จำเป็นในชีวิตประจำวันแก่ประชาชน และจัดอบรมอนุญาโตตุลาการหมู่บ้าน เพื่อให้ผู้ที่ผ่านการอบรมทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยคดีความเล็ก ๆ น้อยๆ แก่ประชาชนในท้องถิ่นด้วย

5.งานตรวจสอบผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและข้าราชการระดับสูง

          ในกรณีที่ผู้ดำรงตำแหน่งการเมืองหรือข้าราชการระดับสูงผู้ใดมีทรัพย์เพิ่ม ขึ้นผิดปกติ หรือเมื่อถูกกล่าวหาว่ามีพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติ หรือกระทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อกฎหมายและคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต แห่งชาติไต่สวนแล้วเห็นว่ามีมูล จะส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดดำเนินการฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งเป็นงานตามที่กำหนดโดยรัฐธรรมนูญ

6.งานพิเศษ

          นอกเหนือจากหน้าที่ราชการดังกล่าวแล้ว สำนักงานอัยการสูงสุดยังตระหนักในภารกิจที่จะต้องเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย แก่ประชาชนในชนบททั่วประเทศและในวาระถมงคลพิเศษสมัยที่พระบาทสมเด็จพระเจ้า อยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 6 รอบ สำนักงานอัยการสูงสุดจึงได้เฉลิมพระเกียรติยศ โดยจัดตั้งห้องสมุดกฎหมายสำหรับประชาชนเฉลิมพระเกียรติฯขึ้นในสำนักงาน อัยการทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้เป็นสถานที่ค้นคว้าหาความรู้ในวิชากฎหมายของนัก เรียน นิสิต นักศึกษา ประชาชน รวมทั้งข้าราชการในท้องถิ่นชนบท

วิสัยทัศน์ (Vision)

“องค์กรนำในการใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม”


พันธกิจ (Missions)

1. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานงานตามภารกิจ ด้านการอํานวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทาง กฎหมายแก่ประชาชนให้มีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา
2. พัฒนาความร่วมมือ บูรณาการเครือข่ายองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ
3. เพิ่มศักยภาพมาตรฐานกลไกการบริหารจัดการระบบงานและกระบวนการทํางานที่สําคัญ รวมทั้งการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลและระบบจัดการองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน
4. พัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพคู่คุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรมีสมรรถนะสูง มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี


โครงสร้าง (Structure)


วัฒนธรรมองค์กร

ทำเนียบอัยการ

ลำดับที่รายชื่อระยะเวลา
1นายถม  สุดแสวง2505 – 2506
2นายประสงค์  เล็กสวัสดิ์2506 – 2511
3นายอุทิศ  วีรวัฒน์2512 – 2512
4นายสมศักดิ์  ทนินซ้อน2513 – 2513
5นายสมนึก  ภัทรศิรินทร์2514 – 2516
6นางสมหมาย  ศิริยานนท์2516 – 2518
7นายอุทัย  สุทธิรักษ์2519 – 2519
8นายสวัสดิ์  ไชยมงคล2519 – 2520
9นายวิวัฒน์  วรสิงห์2521 – 2522
10นายรณยุทธ  ศรียิ่งยง2522 – 2523
11นายวิบูลย์  กนกเวชยันต์2524 – 2525
12นายคณิต  มีรักษา2525 – 2526
13ร.ท.ปรีชา  แจ่มจิรารักษ์2526 – 2527
14นายเดชา  ดำรงชีพ2527 – 2528
15นายชูศักดิ์  จันทนวิลัย2528 – 2529
16นายทรงเชาว์  อุณหวัฒน์2529 – 2531
17นายอดิศร  วิจิตนภิศธรรม2531 – 2532
18นายมณเฑียร  รัตนปรีดากุล2532 – 2534
19นายสมชาย  คูวิจิตรสุวรรณ2534 – 2537
20นางสาวพรทิพย์  ปรียาคณิตพงศ์2537 – 2538
21นานสุรินทร์  พันธ์ทวี2838 – 2539
22นายเลิศชัย  เจริญสมบัติอมร2539 – 2541
23นายเกษม  สุวิลบริหาร2541 – 2542
24นายมนัส  ประทุมพิทักษ์2542 – 30 เม.ย.2544
25นายเกียรติพล  ภู่จำรูญ1 พ.ค.2544 – 6 พ.ค.2545
26นายพูนศักดิ์  อุทกภาชน์7 พ.ค.2545 – 27 เม.ย.2546
27นายพยุง  เณรพลาย28 เม.ย.2546 – 2 พ.ค.2547
28นายอัศวิน  วรธรรมพินิจ3 พ.ค.2547 – 3 เม.ย.2548
29นายสัญญา  ไพเราะ4 เม.ย.2548 – 30 เม.ย.2549
30นายคะนอง  ทองนพคุณ1 พ.ค.2549 – 31 มี.ค.2550
31นายโอฬาร  เกษตรสาระ1 เม.ย.2550 – 31 มี.ค.2551
32นายวิรุฬห์  ฉันท์ธนนันท์1 เม.ย.2552 – 31 มี.ค.2552
33นางจารุวัณณ์  จารุภูมิ1 เม.ย.2552 – 31 มี.ค.2553
34นายบุญชัย  ปรีชาพันธ์1 เม.ย.2553 – 1 เม.ย.2555
35นายสรรพสิทธิ์  เบญจาธิกุล2 เม.ย.2555 – 29 มี.ค.2556
36นายกิตติ  เรืองรัตนตรัย1 เม.ย.2556 – 31 มี.ค.2558 
 37 นายจักรวาล  แสงแข 1 เม.ย.2558 – 31 มี.ค.2559 
38นายเศกสรร  สกุลรัตน์ 1 เม.ย.2559 – 31 มี.ค.2560 
39นายสันติ สุขเสถียรวงศ์3 เม.ย. 2560  – 31 มี.ค.2561 
40นายศาโรจน์  มะลิเถา1 เม.ย.2561 – 31 มี.ค.2562
41นายสุรศักดิ์  ศรีสวัสดิ์1 เม.ย. 2562 – 31 มี.ค. 2564
42นางสาวสุธิดา  กะการดี1 เม.ย. 2564 – 31 มี.ค.2565
43นายทวี คงแสงภักดิ์1 เม.ย. 2565 – 31 มี.ค. 2566
44นายภูริธิษฐ์ เจริญทรัพย์1 เม.ย. 2566 -31 มี.ค. 2567
45นายพิศาล ปัสนานนท์1 เม.ย. 2567 – ปัจจุบัน

ข้อมูลสถิติคดีสำนักงานอัยการจังหวัดตราด

ติดต่อหน่วยงาน

สำนักงานอัยการจังหวัดตราด
ถนนราษฎรนิยม อำเภอเมือง จังหวัดตราด 23000
Tel : 039-511004,039-520200
E-mail : trat@ago.go.th