ภาพกิจกรรม

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสุรินทร์ โดยนายวรวุฒิ วุฒิภิรมย์ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิฯพร้อมด้วยบุคลากรในสังกัด เข้าร่วมพิธีนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2566 ณ องค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสุรินทร์ โดยนายวรวุฒิ วุฒิภิรมย์ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิฯพร้อมด้วยบุคลากรในสังกัด เข้าร่วมการจัดงานพิธีวันปิยมหาราช ประจำปี พ.ศ. 2566 วันจันทร์ที่ 23 ตุลาคม 2566 ณ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หน้าที่ว่าการอำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสุรินทร์ โดยนายพลสัณห์ อนุพันธ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมด้วยบุคลากรในสำนักงาน ร่วมกิจกรรมพิธีสวดพระพุทธมนต์และทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลเนื่องในวันนวมินทรมหาราช วันศุกร์ที่ 13 ตุลาคม 2566 ณ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตสุรินทร์

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสุรินทร์ ร่วมกิจกรรมเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติไทยเนืองในวันพระราชทานธงชาติไทย 28 กันยายน

เกี่ยวกับสำนักงาน

 สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน มีชื่อย่อว่า สคช. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕ ในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด(กรมอัยการ)  ตามคำสั่งของกรมอัยการที่ ๑๗๔/๒๕๒๕ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕

วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งเพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ผลประโยชน์และให้ความช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมาย

          ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ คณะรัฐมนตรีได้มีมติโอนโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในชนบทเขตยากจน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักนโยบายและแผน มหาดไทย มาให้สำนักงานอัยการสูงสุดรับผิดชอบดำเนินงานสิบมา

          วันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๗ คณะรัฐมนตรีได้มีมติโอนงานช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมาให้ สคช. สำนัก งานอัยการสูงสุด รับผิดชอบดำเนินการตามแนวนโยบายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การพิจารณาพื้นที่เป้าหมายดำเนินงาน โดยนำเอาปัญหาที่แท้จริงของคนในท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและแต่ละพื้นที่เป็นตัวกำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งจัดตั้งสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนประจำจังหวัดขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นการให้บริการฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายยกเว้นค่าธรรมเนียมในชั้นศาลที่ต้องเสียตามกฎหมาย

             ต่อมาวันที่  ๑ เมษายน  ๒๕๕๗  สำนักงานอัยการสูงสุด ได้มีการประกาศคณะกรรมการอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเรื่อง การแบ่งหน่วยงานและการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด (ฉบับที่ ๑๐) ให้จัดตั้ง  “สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสุรินทร์”

          มีที่ตั้งอยู่ ณ อาคารสำนักงานอัยการจังหวัดสุรินทร์     ชั้น ๖   ตำบลในเมือง  อำเภอเมือง  จังหวัดสุรินทร์

ภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสุรินทร์

๑. การคุ้มครองสิทธิทางศาลตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ เช่น การยื่นคำร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก การยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนสาบสูญ การตั้งผู้ปกครอง การร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นบุคคลไร้ความสามารถ/คนเสมือนไร้ความสามารถ การยื่นคำร้องขอให้ศาล  มีคำสั่งอนุญาตแทนการให้ความยินยอมของบิดา/มารดาผู้เยาว์ในการรับบุตรบุญธรรม

๒. การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ได้แก่

  • (๑) การให้คำปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย ช่วยเหลือจัดทำนิติกรรมสัญญา และประนอม ข้อพิพาท
  • (๒) การช่วยเหลือทางอรรถคดีแก่ผู้ยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยการจัดทนายความอาสาดำเนินการในชั้นศาล
  • (๓) สนับสนุนการประนอมข้อพิพาทระดับท้องถิ่น โดยฝึกอบรมผู้นำชุมชน/ผู้นำท้องถิ่นในการประนอมข้อพิพาท
  • (๔) เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายต่าง ๆ แก่ประชาชน เช่น ออกหน่วยเคลื่อนที่ไปตามหมู่บ้านต่างๆ ร่วมกับจังหวัดเคลื่อนที่ร่วมกับหน่วยงานอื่นในการออกเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย
  • (๕) ฝึกอบรมความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น เกษตรกร นักเรียน นักศึกษา
  • (๖) การคุ้มครองผู้บริโภคด้านอรรถคดี โดยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ประชาชน

๓. การบังคับคดี โดยรับผิดชอบการดำเนินคดีเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง คดีปกครอง และคดีอาญาเฉพาะในส่วนของการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ    หรือสำนักงานอัยการสูงสุดภายในเขตท้องที่สุรินทร์โดยรับผิดชอบ 11  อำเภอ  ดังนี้

  • 1.อำเภอเมืองสุรินทร์
  • 2. อำเภอปราสาท
  • 3. อำเภอสังขะ
  • 4. อำเภอศีขรภูมิ
  • 5. อำเภอจอมพระ
  • 6.อำเภอกาบเชิง
  • 7.อำเภอลำดวน
  • 8.อำเภอบัวเชด
  • 9.อำเภอพนมดงรัก
  • 10.อำเภอศรีณรงค์
  • 11.อำเภอเขวาสินรินทร์

                                  

                                

                           

 

วิสัยทัศน์ (Vision)

“องค์กรนำในการใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม”

พันธกิจ (Missions)

1. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานงานตามภารกิจ ด้านการอํานวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทาง กฎหมายแก่ประชาชนให้มีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา
2. พัฒนาความร่วมมือ บูรณาการเครือข่ายองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ
3. เพิ่มศักยภาพมาตรฐานกลไกการบริหารจัดการระบบงานและกระบวนการทํางานที่สําคัญ รวมทั้งการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลและระบบจัดการองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน
4. พัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพคู่คุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรมีสมรรถนะสูง มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โครงสร้าง (Structure)
วัฒนธรรมองค์กร

เอกสารเผยแพร่

เอกสารที่ต้องนำมายื่นในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก

  • 1. ทะเบียนของผู้ตายประทับคำว่า “ตาย” หรืแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร (ถ่ายเอกสารจำนวน   3 ชุด)
  • 2. มรณบัตรของผู้ตาย หรือแบบรับรองรายการทะเบียนคนตาย (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 3. มรณบัตรของบิดามารดาของผู้ตาย(เจ้ามรดก) กรณีถึงแก่ความตายแล้ว (ถ้าไม่มีต้องให้อำเภอออกหนังสือรับรองการตายให้โดยนำผู้ใหญ่บ้านไปรับรองด้วย) (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 4. ใบสำคัญการสมรส หรือใบสำคัญการหย่าของผู้ตาย (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 5. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ในกรณีเคยเปลี่ยนชื่อตัว หรือชื่อสกุลของผู้ตายและของทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 6. สูติบัตรของทายาท กรณีทายาทอายุไม่ถึง ๒๐ ปีบริบูรณ์ (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 7. บัตรประจำตัวประชาชน และทะเบียนบ้านของทายาททุกคน (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุดต่อทายาทหนึ่งคน)
  • 8. บัตรประจำตัวคนพิการ กรณีทายาทเป็นคนพิการ (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 9. ใบสำคัญการสมรสของทายาท (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 10. มรณบัตรของทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกที่เสียชีวิตแล้ว (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 11. พินัยกรรมของผู้ตาย (ถ้ามี) (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 12. เอกสารที่เกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย เช่น โฉนดที่ดิน ,ทะเบียนรถยนต์ ,รถจักรยานยนต์ ,อาวุธปืน , สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร เป็นต้น ถ้าที่ดินติดจำนองให้ขอคัดถ่ายโฉนดที่ดินจากสำนักงานที่ดินโดยให้เจ้าพนักงานที่ดินรับรองมาด้วย (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 13. ในกรณีที่ชื่อหรือนามสกุลผู้ตายในเอกสารต่างๆ ไม่ตรงกันที่ไม่ใช่เพราะการสมรสต้องไปขอหนังสือรับรองบุคคลเดียวกัน ณ ที่ว่าการอำเภอมาด้วย ให้นำผู้ใหญ่บ้านไปรับรองที่อำเภอด้วย (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 14. หากชื่อนามสกุลบิดามารดาของผู้ตายไม่ตรงกัน ต้องขอหนังสือรับรองบุคคลเดียวกันจากที่ว่าการอำเภอมาด้วย (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)

หมายเหตุ

  • 1. ค่าธรรมเนียมศาลในการจัดการมรดก จำนวน 2,000 บาท (สองพันบาทถ้วน)
  • 2. จัดเตรียมเอกสารพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ
  • 3. เอกสารตามข้อ 1 – 4 , 10 – 14 ให้ที่จะเป็นผู้จัดการมรดกเป็นผู้รับรองสำเนาถูกต้องทุกฉบับ
  • 4. ให้นำทายาทผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกทุกคนมาพร้อมกันด้วย

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอตั้งผู้ปกครอง

  • 1. สำเนาทะเบียนบ้านของเด็ก   (ถ่ายเอกสารจำนวน   3 ชุด)
  • 2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ปกครอง    (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 3. สำเนาสูติบัตรของเด็ก   (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 4. สำเนามรณบัตรของมารดาเด็ก (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 5. สำเนามรณบัตรของบิดาเด็ก   (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 6. สำเนาหลักฐานการสมรสทางศาสนาของบิดามารดาเด็ก (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 7. เงินค่าธรรมเนียม

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

  • 1. สำเนาทะเบียนบ้านผู้ร้อง (บิดา)     (ถ่ายเอกสารจำนวน   3 ชุด)
  • 2. สำเนาทะเบียนบ้านของคนเสมือนไร้ความสามารถ    (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 3. สำเนาสูติบัตรของคนไร้ความสามารถ    (ถ่ายเอกสารจำนวน   3 ชุด)
  • 4. สำเนาทะเบียนทะเบียนสมรสของผู้ร้อง (บิดา)   (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 5. ใบรับรองแพทย์ (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 6.บัตรประจำคนผู้พิการ (ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 7. สำเนาทะเบียนบ้านของมารดา (ถ่ายอกสารจำนวน 3 ชุด)
  • 8. หนังสือให้ความยินยอมจากทายาท
  • 9. เงินค่าธรรมเนียม

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอรับบุตรบุญธรรม

  • 1. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้จะรับบุตรบุญธรรม    
  • 2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม
  • 3. สำเนาทะเบียนบ้านของบิดามารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม    
  • 4. สำเนาทะเบียนบ้านของสามีหรือภริยาผู้จะรับบุตรบุญธรรม  
  • 5.สำเนาใบสำคัญการสมรสของผู้จะรับบุตรบุญธรรม    
  • 6. สำเนาใบสำคัญการสมรสของบิดามารดาบุตรบุญธรรม
  • 7. สำเนาสูติบัตรผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม  
  • 8. หนังสือให้ความยินยอมของบิดาผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม
  • 9. หนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรสของผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม
  • 8. เงินค่าธรรมเนียม

                         เอกสารข้อ 1 – 8 ถ่ายเอกสารจำนวน 3 ชุด

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องในการรับรองบุตร

  • 1. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ที่จะรับ     ถ่ายเอกสารมา   3 ชุด
  • 2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้เยาว์    ถ่ายเอกสารมา 3 ชุด
  • 3. หนังสือการสมรสของผู้ที่จะรับ   ถ่ายเอกสารมาคนละ   3 ชุด
  • 4. สูติบัตรของเด็ก   ถ่ายเอกสารมา 3 ชุด
  • 5. สำเนาทะเบียนบ้านของมารดาเด็ก   ถ่ายเอกสารมาคนละ 3 ชุด
  • 7. เงินค่าธรรมเนียม  

ติดต่อหน่วยงาน

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดสุรินทร์  
ตั้งอยู่ ณ อาคารสำนักงานอัยการจังหวัดสุรินทร์ ชั้น 6
ถนนจิตรบำรุง ตำบลในเมือง  อำเภอเมืองสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์ 32000  โทร.044 – 511 558 – 9 /โทรสาร. 044-511559 
Email : surin-lawaid@ago.go.th