เกี่ยวกับสำนักงาน
สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครสวรรค์
อำนาจและหน้าที่ตาม พ.ร.บ. องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓
กำหนดให้องค์กรอัยการประกอบด้วย ก.อ. อัยการสูงสุด, และพนักงานอัยการอื่น โดยมีสำนักงานอัยการสูงสุดเป็นหน่วยงานธุรการ
สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นส่วนราชการที่มีอิสระในการบริหารงานบุคคล การงบประมาณและการดำเนินการอื่น และนิติบุคคล โดยมีอัยการสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชาและเป็นผู้แทนนิติบุคคล และให้ข้าราชการฝ่ายอัยการสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด
อำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด มีดังนี้
๑. ให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินการทางกฎหมายรวมตลอดทั้งในการคุ้มครองป้องกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
๒. ให้คำปรึกษา และตรวจร่างสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายให้แก่รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ
๓. ให้คำปรึกษา และตรวจร่างสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายให้แก่นิติบุคคล ซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐแต่ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ ตามที่เห็นสมควร
๔. ดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง หรือคดีปกครองแทนรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐซึ่งพนักงานอัยการได้รับดำเนินคดีให้
๕. ดำเนินการตามที่รัฐมนตรีร้องขอ เว้นแต่การดำเนินการนั้นจะขัดต่องานในหน้าที่ หรืออาจทำให้ขัดต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ
๖. ดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ
๗. ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการอำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน
๘. ติดต่อและประสานงานกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ในอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุด
๙. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุด
ในการตรวจร่างสัญญาตาม (๒) และ (๓) ให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่รักษาประโยชน์ของรัฐ ในการนี้ สำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่รายงานรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐตาม (๒) หรือนิติบุคคลตาม (๓) ที่เป็นคู่สัญญาให้ทราบถึงข้อที่ควรปรับปรุงหรือแก้ไขให้สมบูรณ์ ข้อเสียเปรียบหรือข้อที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ
อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการตาม พ.ร.บ. องค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. ๒๕๕๓ มาตรา ๑๔ มีดังนี้
๑. อำนาจและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
๒.ในคดีอาญา มีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ
๓. ในคดีแพ่ง หรือคดีปกครอง มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาล หน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคในศาล หรือในกระบวนการทางอนุญาโคตุลาการทั้งปวงกับมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ
๔. ในคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือคดีอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ก็ดีหรือในคดีแพ่งหรือคดีอาญาที่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำตามคำสั่งของเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งได้สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเข้าร่วมหรือช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกระทำการในหน้าที่ราชการก็ดี เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการจะรับแก้ต่างให้ก็ได้
๕. ในคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือกรณีมีข้อพิพาทที่ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการที่หน่วยงานของรัฐซึ่งมิได้กล่าวใน (๓) หรือนิติบุคคลซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ แต่ได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้นเป็นคู่กรณีและมิใช่กรณีที่พิพาทกับรัฐบาลหรือระหว่างหน่วยงานของรัฐด้วยกันเอง เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการจะรับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ก็ได้
๖. ในคดีที่ราษฎรฟ้องเองไม่ได้โดยกฎหมายห้าม เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการมีอำนาจเป็นโจทก์ได้
๗. ดำเนินการตามที่เห็นสมควรเกี่ยวกับการบังคับคดีอาญาเฉพาะในส่วนของการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษา ในการนี้มิให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมจากพนักงานอัยการ
๘. ในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันจำเลย หรือประกันรับสิ่งของไปดูแลรักษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น ในการนี้มิให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมจากพนักงานอัยการ
๙. อำนาจและหน้าที่ตาม ก.อ. ประกาศกำหนดหรือเห็นชอบเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือมติคณะรัฐมนตรี
๑๐. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ
๑๑. ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่สำนักงานอัยการสูงสุด ตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด
ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการตามมาตาร ๑๔ (๓) (๔) และ (๕) พนักงานอัยการจะออกคำสั่งเรียกบุคคลใด ๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำก็ได้ แต่จะเรียกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาให้ถ้อยคำโดยคู่ความฝ่ายนั้นไม่ยินยอมไม่ได้
พนักงานอัยการตำแหน่งใดมีอำนาจดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้เพียงใดให้เป็นไปตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนดโดยความเห็นชอบของ ก.อ.
วิสัยทัศน์ (Vision)
“องค์กรนำในการใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม”
พันธกิจ (Missions)
1. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานงานตามภารกิจ ด้านการอํานวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทาง กฎหมายแก่ประชาชนให้มีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา
2. พัฒนาความร่วมมือ บูรณาการเครือข่ายองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ
3. เพิ่มศักยภาพมาตรฐานกลไกการบริหารจัดการระบบงานและกระบวนการทํางานที่สําคัญ รวมทั้งการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลและระบบจัดการองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน
4. พัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพคู่คุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรมีสมรรถนะสูง มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี
โครงสร้าง (Structure)

ข่าวประชาสัมพันธ์

วันที่ 15 พฤศจิกายน 2566 นายวีระ พนมวัน อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือ ทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครสวรรค์ พร้อมด้วยคณะ ร่วมลงนาม MOU โครงการให้ความรู้และช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ประชาชน ภายใต้โครงการ อบจ.เคียงข้างประชาชน (Move for you) กับ พลตำรวจเอกสมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ นครสวรรค์ ณ สำนักงานองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครสวรรค์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้คำปรึกษาและสนับสนุนภารกิจงานของแต่ละหน่วยงานอันเป็นการประสานการให้บริการประชาชน

วันที่ 25 เมษายน 2566 นางสาวปริชญา นามจรัสเรืองศรี อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและ ช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครสวรรค์ เข้าร่วมพิธีถวายราชสักการะในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์



วันที่ 6 เมษายน 2566 เวลา 7.30 น. ท่านวีระ พนมวัน อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครสวรรค์พร้อมบุคลากร เข้าร่วมพิธีวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ณ หอประชุมมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์




นางสาวภัทรสิริ จุฑากรณ์ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิฯ จังหวัดนครสวรรค์ พร้อมบุคลากร ร่วมกันปล่อยปลา จำนวน 500 ตัว เพื่อแสดงความจงรักภักดี และร่วมบำเพ็ญกุศลเพื่อถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดาให้หายจากพระอาการประชวรโดยเร็ว

สถิติผลการปฏิบัติงาน ประจำปีงบประมาณ 2563- 2566
ลำดับ | กิจกรรม | ปีงบประมาณ2563 | ปีงบประมาณ2564 | ปีงบประมาณ 2565 | ปีงบประมาณ2566 -ถึง 28 ก.พ.66 |
1 | งานคุ้มครองสิทธิทางศาลตามที่กฎหมายกำหนด | 188 เรื่อง | 213 เรื่อง | 291 เรื่อง | 135 เรื่อง |
2 | งานช่วยเหลืออรรถคดี จัดหาทนายอาสา | 1 เรื่อง | – | 3 เรื่อง | 1 เรื่อง |
3 | งานให้คำปรึกษา ทำนิติกรรมสัญญา ประนอมข้อพิพาท | 1,693 ราย | 1,432 ราย | 1,297 ราย | 552 ราย |
4 | งานสนับสนุนการประนอมข้อพิพาทในระดับท้องถิ่น | 38 หมู่บ้าน/266 คน | – | 64 หมู่บ้าน/275 คน | 44 หมู่บ้าน/132 คน |
5 | เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายต่างๆ | 151 หมู่บ้าน/1,002 คน | 141 หมู่บ้าน/1,164 คน | 423 หมู่บ้าน/1,262 คน | 259 หมู่บ้าน/1,117 คน |
6 | งานฝึกอบรมความรู้ทางกฎหมายต่างๆ | 698 คน | 402 คน | 700 คน | 360 คน |
7 | งานเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์ | 10 หมุู่บ้าน/245 คน | 43 หมู่บ้าน/302 คน | 63 หมู่บ้าน/244 คน | – |
ติดต่อหน่วยงาน
สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครสวรรค์
1102/120 หมู่ที่ 10 ถนนไกรลาศ ตำบลนครสวรรค์ตก
อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ 60000
โทรศัพท์ 056-370525 โทรเลข 056-370525
email : nsawan-lawaid@ago.go.th
