ข่าวประชาสัมพันธ์

วันที่ 29 เมษายน 2567 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ
เข้าร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์เพื่อถวายพระพร แด่สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร
สิริวิบูลยราชกุมาร เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 29 เมษายน 2567
ณ ศาลาการเปรียญวัดไผ่ล้อม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก

วันที่ 25 เมษายน 2567 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
มอบหมายให้ นายศิโรจน์ กิตติคุณ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด พร้อมคณะ
ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสดุดี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช
เพื่อเป็นการน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ แห่งองค์สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของชาติไทย
ณ หอประชุมจังหวัดตาก ศาลากลางจังหวัดตาก อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก

วันที่ 2 เมษายน 2567 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ
ร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพ 2 เมษายน 2567 และวันอนุรักษ์มรดกไทย
ณ ศาลาการเปรียญวัดเกาะตาเถียร ตำบลไม้งาม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก

วันที่ 31 มีนาคม 2567 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
มอบหมายให้ นายวิธิวัฒน์ เลิศชัยมงคล อัยการจังหวัดผู้ช่วย พร้อมคณะ
ร่วมพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด ถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว พระมหาเจษฎาราชเจ้า
ณ หอประชุมจังหวัดตาก ศาลากลางจังหวัดตาก อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก

วันที่ 2 มีนาคม 2567 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ
ร่วมพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด ถวายราชสักการะแด่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศ มหาภูมิพลอดุลยเดชมหราราช บรมนาถบพิตร
“พระบิดาแห่งมาตรฐานการช่างไทย” เนื่องในวันมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ
ณ สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 43 ตาก อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก

วันที่ 18 มกราคม 2567 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ
ร่วมพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด ถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องในวันยุทธหัตถี
ณ หอประชุมจังหวัดตาก ศาลากลางจังหวัดตาก อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก

วันที่ 17 มกราคม 2567 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
มอบหมายให้ นายวิธิวัฒน์ เลิศชัยมงคล อัยการจังหวัดผู้ช่วย พร้อมคณะ
ร่วมพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด ถวายราชสักการะและพิธีบวงสรวง เนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช
ณ เจดีย์ยุทธหัตถีพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก

วันที่ 8 มกราคม 2567 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ร่วมพิธีทำบุญตักบาตร และเจริญพระพุทธมนต์กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิริวัณณวรี นารีรัตนราชกัญญา เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติ 8 มกราคม 2567ศาลาการเปรียญวัดมณีบรรพตวรวิหาร อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก

วันที่ 7 ธันวาคม 2566 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ
ร่วมพิธีทำบุญตักบาตร และเจริญพระพุทธมนต์ถวายพระราชกุศล เนื่องในกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ
เจ้าฟ้าพัชรกิติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เนื่องในวันคล้ายวันประสูติ 7 ธันวาคม 2566
ณ ศาลาการเปรียญวัดอัมพวัน อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก

วันที่ 5 ธันวาคม 2566 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ
ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล และพิธีวางพานพุ่มดอกไม้ถวายราชสักการะ เนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2566
ณ หอประชุมจังหวัดตาก ศาลากลางจังหวัดตาก

วันที่ 23 ตุลาคม 2566 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ
ร่วมพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายราชสักการะ น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
เนื่องในวันพระบิดาแห่งฝนหลวง ประจำปี 2566

วันที่ 23 ตุลาคม 2566 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ
ร่วมพิธีวางพวงมาลาน้อมรำลึกเนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่ “วันปิยมหาราช”
และร่วมกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา ณ สถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดตาก

วันที่ 13 ตุลาคม 2566 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ได้มอบหมายให้ นายวิธิวัฒน์ เลิศชัยมงคล อัยการจังหวัดผู้ช่วย พร้อมคณะ เข้าร่วมพิธีจุดเทียนเพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ หอกิตติคุณ ริมน้ำปิง

วันที่ 13 กันยายน 2566 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ
ร่วมพิธีเนื่องในวัน “นวมินทรมหาราช” 13 ตุลาคม 2566 เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ณ หอกิตติคุณ ริมน้ำปิง ในพิธีประกอบด้วยกิจกรรมโรงทานเลี้ยงอาหารถวายเป็น
พระราชกุศลและมอบข้าวสารให้กับผู้ยากไร้ในพื้นที่จังหวัดตาก พิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล พิธีวางพวงมาลา
และกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา ณ บริเวณถนนเฉลิมพระเกียรติ (หนองหลวง)

วันที่ 29 สิงหาคม 2566 นางสาวนารี ตัณฑเสถียร อัยการสูงสุด พร้อมคณะ
ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการปฏิบัติราชการและให้กำลังใจข้าราชการฝ่ายอัยการ และบุคลากร
สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก

วันที่ 12 สิงหาคม 2566 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ
ร่วมพิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์
พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนรีพันปีหลวง เนื่องในดอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566
ณ หอกิตติคุณ ริมน้ำปิง

วันที่ 12 สิงหาคม 2566 นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ
ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนรีพันปีหลวง เนื่องในดอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 12 สิงหาคม 2566
ณ หอกิตติคุณ ริมน้ำปิง

วันที่ 28 กรกฏาคม 2566 เวลา 19.00 น. นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ
ร่วมพิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 ณ หอกิตติคุณ ริมน้ำปิง

วันที่ 28 กรกฏาคม 2566 เวลา 07.00 น. นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศลเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 และพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณการเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน ณ หอกิตติคุณ ริมน้ำปิง

วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ร่วมพิธีวางพวงมาลาถวายราชสดุดี เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เพื่อเป็นการน้อมรำลึก
ถึงพระมหากรุณาธิคุณ แห่งองค์สมเด็๗พระนเรศวรมหาราช ผู้ทรงกอบกู้อิสรภาพของชาติไทย

วันที่ ๖ เมษายน ๒๕๖๖ เวลา ๐๙.๐๐ น. นายอภิรักษ์ เตชะวงค์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ร่วมพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สดถวายราชสักการะพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช
เนื่องในวันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ ประจำปี ๒๕๖๖

วันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๖๖ นายรณรงค์ พิกุลทอง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ร่วมพิธีถวายราชสักการะสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เนื่องในวันยุทธหัตถี เพื่อน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณฯ
รวมถึงแสดงความจงรักภักดี เทิดทูนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่
ของสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวไทยตลอดมา

วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๖๖ เวลา ๐๘.๐๐ น. สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก โดยนายรณรงค์ พิกุลทอง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก พร้อมคณะ ได้เข้าร่วมพิธีถวายราชสักการะวางพานพุ่มดอกไม้สด พร้อมประกอบพิธีบวงสรวง เนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระองค์ท่าน ที่บริเวณเจดีย์ยุทธหัตถีพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ตำบลเกาะตะเภา อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก โดยมีนายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก เป็นประธานในพิธีวางพานพุ่มดอกไม้สด ถวายสักการะ เบื้องหน้าพระบรมสาทิสลักษณ์พ่อขุนรามคำแหงมหาราช เนื่องในวันพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ประจำปี ๒๕๖๖

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ นายรณรงค์ พิกุลทอง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ร่วมพิธีทำบุญตักบาตรถวายพระราชกุศล เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕ และพิธีลงนามถวายพระพรชัยมงคล พิธีถวายสัตย์ปฏิญาณการเป็นข้าราชการ
ที่ดีและพลังของแผ่นดินของจังหวัดตาก เบื้องหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เวลา ๐๙.๓๐ น. ร่วมพิธีเจริญพระพุทธมนต์สมโภชน์พระพุทธรูปประจำจังหวัด (พระพุทธรูปแสงทอง) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
และเวลา ๑๘.๓๐ น. ได้ร่วมกับจังหวัดตากประกอบพิธีถวายเครื่องราชสักการะและ
วางพานพุ่ม และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๗๐ พรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๕

สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก

ประวัติความเป็นมา

          ตามที่ได้มีพระราชกฤษฏีกาจัดตั้งศาลจังหวัดตาก (แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว) เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๙ สำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดตั้ง สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก ซึ่งตั้งอยู่ชั้น ๓ อาคารสำนักงานอัยการจังหวัดตาก เลขที่ ๕๘๘ หมู่ ๙ ถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลน้ำรึม อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ๖๓๐๐๐ มีเนื้อที่ใช้สอย ๘๖๐ ตารางเมตร เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด เดิมชื่อสำนักงานอัยการจังหวัดตาก (แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว) ต่อมาจึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก จนถึงปัจจุบัน

ตั้งอยู่บริเวณชั้น 3 อาคารสำนักงานอัยการจังหวัดตาก

อำนาจหน้าที่

อำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด มีดังนี้

          (มาตรา ๒๓) สำนักงานอัยการสูงสุด นอกจากมีอำนาจและหน้าที่เกี่ยวกับงานธุรการและงานวิชากร เพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้แก่พนักงานอัยการแล้ว ให้มีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          (๑) ให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินการทางกฎหมายรวมตลอดทั้งในการคุ้มครอง ป้องกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน
          (๒) ให้คำปรึกษา และตรวจร่างสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายให้แก่รัฐบาล และหน่วยงานของรัฐ
          (๓) ให้คำปรึกษา และตรวจร่างสัญญาหรือเอกสารทางกฎหมายให้แก่นิติบุคคล ซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐแต่ได้มีพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งขึ้น ทั้งนี้ ตามที่เห็นสมควร
          (๔) ดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง หรือคดีปกครองแทนรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐ ซึ่งพนักงานอัยการได้รับดำเนินคดีให้
          (๕) ดำเนินการตามที่คณะรัฐมนตรีร้องขอ เว้นแต่การดำเนินการนั้นจะขัดต่องานในหน้าที่ หรืออาจทำให้ขัดต่อความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการ
          (๖) ดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกอบรมเพื่อประโยชน์ในการพัฒนาข้าราชการฝ่ายอัยการ
          (๗) ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานของรัฐในการอำนวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน
          (๘) ติดต่อและประสานงานกับองค์กรหรือหน่วยงานต่างประเทศเกี่ยวกับเรื่องที่อยู่ ในอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุด
          (๙) ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ หรือสำนักงานอัยการสูงสุด
          ในการตรวจร่างสัญญาตาม (๒) และ (๓) ให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่รักษาประโยชน์ของรัฐ ในการนี้สำนักงานอัยการสูงสุดมีหน้าที่รายงานรัฐบาล หรือหน่วยงานของรัฐตาม (๒) หรือนิติบุคคลตาม (๓) ที่เป็นคู่สัญญาให้ทราบถึงข้อที่ควรปรับปรุงหรือแก้ไขให้สมบูรณ์ ข้อเสียเปรียบหรือข้อที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ

อำนาจหน้าที่ของอัยการสูงสุด มีดังนี้

          (มาตรา ๒๗)  ให้อัยการสูงสุดมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          (๑) กำหนดนโยบายและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด ให้เกิดผลสัมฤทธิ์และเป็นไปตามเป้าหมาย แนวทาง และแผนการปฏิบัติราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด
          (๒) ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการ ปฏิบัติราชการ และบริหารงานบุคคลของสำนักงานอัยการสูงสุด ให้เป็นไปตามกฎหมาย ระเบียบ แบบแผน และประเพณีปฏิบัติของราชการ
          (๓) บริหารจัดการงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน และการพัสดุของสำนักงานอัยการสูงสุด
          ในการปฏิบัติราชการตามวรรคหนึ่ง อัยการสูงสุดอาจมอบอำนาจให้รองอัยการสูงสุด หรือข้าราชการฝ่ายอัยการผู้หนึ่งผู้ใดปฏิบัติหน้าที่แทนได้
          ให้อัยการสูงสุดโอยความเห็นชอบของ ก.อ. มีอำนาจออกระเบียบเกี่ยวกับการบริหารจัดการงบประมาณ การเงิน ทรัพย์สิน และการพัสดุของสำนักงานอัยการสูงสุด

อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ มีดังนี้

          มาตรา ๑๔ พนักงานอัยการมีอำจานและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          (๑) อำนาจและหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ
          (๒) ในคดีอาญา มีอำนาจและหน้าที่ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและ ตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด หรือพนักงานอัยการ
          (๓) ในคดีแพ่ง หรือคดีปกครอง มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีแทนรัฐบาล หน่วยงานของรัฐที่เป็นองค์กรตามรัฐธรรมนูญ ราชการส่วนกลาง หรือราชการส่วนภูมิภาคในศาล หรือในกระบวนการทางอนุญาโตตุลากรทั้งปวง กับมีอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายอื่นซึ่งบัญญัติว่าเป็นอำนาจและหน้าที่ของ สำนักงานอัยการสูงสุดหรือพนักงานอัยการ
          (๔) ในคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือคดีอาญา ซึ่งเจ้าหน้าที่ของรัฐถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้กระทำไปตามหน้าที่ก็ดี หรือในคดีแพ่งหรือคดีอาญาที่ราษฎรผู้หนึ่งผู้ใดถูกฟ้องในเรื่องการที่ได้ กระทำตามคำสั่งของเจ้าที่ของรัฐซึ่งได้สั่งการโดยชอบด้วยกฎหมาย หรือเข้าร่วมหรือช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งกระทำการในหน้าที่ราชการก็ดี เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการจะรับแก้ต่างให้ก็ได้
          (๕) ในคดีแพ่ง คดีปกครอง หรือกรณีมีข้อพิพาทที่ต้องดำเนินการทางอนุญาโตตุลาการ ที่หน่วยงานของรัฐซึ่งมิได้กล่าวใน (๓) หรือนิติบุคคลซึ่งมิใช่หน่วยงานของรัฐ แต่ได้มีพระราชบัญญัติด้วยกันเอง เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการจะรับว่าต่างหรือแก้ต่างให้ก็ได้
          (๖) ในคดีที่ราษฎรฟ้องเองไม่ได้โดยกฎหมายห้าม เมื่อเห็นสมควรพนักงานอัยการมีอำนาจเป็นโจทก์ได้
          (๗) ดำเนินการตามที่เห็นสมควรเกี่ยวกับการบังคับคดีอาญาเฉพาะในส่วนของการยึด ทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษา ในการนี้มิให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมจากพนักงานอัยการ
          (๘) ในกรณีที่มีการผิดสัญญาประกันจำเลย หรือประกันรับสิ่งของไปดูแลรักษา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มีอำนาจและหน้าที่ดำเนินคดีในการบังคับให้เป็นไปตามสัญญานั้น ในการนี้มิให้เรียกค่าฤชาธรรมเนียมจากพนักงานอัยการ
          (๙) อำนาจและหน้าที่ตาม ก.อ. ประกาศกำหนดหรือเห็นชอบเพื่อปฏิบัติให้เป็นไปตามกฎหมาย หรือมติคณะรัฐมนตรี
          (๑๐) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ
          (๑๑) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่กำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด ตามที่ได้รับมอบหมายจากอัยการสูงสุด
          ในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานอัยการตามมาตรา ๑๔ (๓) (๔) และ (๕) พนักงานอัยการจะออกคำสั่งเรียกบุคคลใดๆ ที่เกี่ยวข้องมาให้ถ้อยคำก็ได้ แต่จะเรียกคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งมาให้ถ้อยคำ โดยคู่ความฝ่ายนั้นไม่ยินยอมไม่ได้
          พนักงานอัยการตำแหน่งใดมีอำนาจดำเนินการตามวรรคหนึ่งได้เพียงใดให้เป็นไป ตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุด กำหนดโดยความเห็นชอบของ ก.อ.


:: กฎหมายองค์กรอัยการตามรัฐธรรมนูญปี พ.ศ. ๒๕๕๐

วิสัยทัศน์ (Vision)

“เป็นองค์กรแห่งความยุติธรรมของสังคมเพื่อความมั่นคงของชาติและความผาสุกของประชาชน”

พันธกิจ (Missions)

1. อำนวยความยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส พึ่งพิงได้บนพื้นฐานของความเสมอภาค
2. รักษาผลประโยชน์ของรัฐ เพื่อประโยชน์สาธารณะและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
3. รับรู้ ดูแล แก้ปัญหาในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และเป็นที่พึ่งของประชาชนในด้านกฎหมาย
4. พัฒนาศักยภาพองค์กรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกบนฐานความเชี่ยวชาญ

ค่านิยมร่วม “PUBLIC”
  • P : People First       ประชาชนมาที่หนึ่ง
  • U : Uprightness     เป็นที่พึ่งความยุติธรรม
  • B : Betterment       คิดและทำเพื่อพัฒนา
  • L : Lawfulness     รักษากฎหมายด้วยเหตุผล
  • I : Integrity       ประพฤติตนซื่อสัตย์และโปร่งใส
  • C : Collaboration      ร่วมมือร่วมใจสู่เป้าหมาย

ตราสัญลักษณ์

          สำนักงานอัยการสูงสุด  แต่เดิมเป็นกรมอัยการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย เครื่องหมายราชการและเครื่องหมายแสดงสังกัดจึงเป็นรูปตราราชสีห์ ต่อมาพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม  พ.ศ.2534   ได้บัญญัติให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวง หรือทบวง อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรีจึงได้มีการกำหนดเครื่องหมายราชการและเครื่องหมายแสดงสังกัดขึ้นใหม่  สำหรับใช้เป็นเครื่องหมายราชการของสำนักงานอัยการสูงสุดและเป็นเครื่องหมายแสดงสังกัดใช้กับเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายอัยการ ประกอบกับกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการฝ่ายอัยการ ได้บัญญัติให้นำกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือนมาใช้บังคับกับข้าราชการธุรการของสำนักงานอัยการสูงสุด  และกฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน ได้บัญญัติให้เครื่องหมายแบบข้าราชการพลเรือน เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วย เครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน และโดยที่กฎหมายว่าด้วยเครื่องแบบข้าราชการฝ่ายพลเรือน ได้บัญญัติให้ การกำหนดเครื่องหมายแสดงสังกัด สำหรับใช้กับเครื่องแบบข้าราชการพลเรือน ต้องออกเป็นกฎสำนักนายกรัฐมนตรี 
          สำนักนายกรัฐมนตรี จึงออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องการกำหนดภาพเครื่องหมายราชการ ตามบัญญัติเครื่องหมายราชการ พุทธศักราช 2482 (ฉบับที่ 129) ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2535 เล่ม 109 ตอนที่ 40 หน้า 104-105 และออกกฎสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับที่ 79 (พ.ศ. 2535) ออกตามความในพระราชบัญญัติข้าราชการฝ่ายพลเรือน พุทธศักราช 2478 ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ฉบับลงวันที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2535 เล่ม 109 ตอนที่ 51 หน้า 4-5 กำหนดเครื่องหมายแสดงสังกัดของสำนักอัยการสูงสุด เป็นรูปตราพระมหาพิชัยมงกุฎ ประดิษฐานเหนือพระแว่น สุริยกานต์ และตราชูรูปพระขรรค์ รองรับด้วยช่อชัยพฤกษ์ 
         เครื่องหมายราชการ  และเครื่องหมายแสดงสังกัดของสำนักงานอัยการสูงสุด  จึงเปลี่ยนจากรูปตราราชสีห์เป็น รูปพระมหาพิชัยมงกุฎประดิษฐานเหนือพระแว่น พระสุริยกานต์ และตราชูรูปพระขรรค์ รองรับด้วยช่อชัยพฤกษ์ มีความหมายถึงอำนาจหน้าที่ในการเป็นทนายแผ่นดิน การใช้กฎหมายด้วยความรอบคอบ เป็นธรรม และเด็ดขาด มีชัยชนะเหนืออธรรม

อำนาจและหน้าที่ของสำนักงาน

           พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรมการรักษาผลประโยชน์ของรัฐและการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และเป็นเจ้าพนักงานผู้มีหน้าที่ดำเนินคดีอาญาเป็นทนายแผ่นดิน และเป็นตัวแทนของแผ่นดินในการตรวจสอบและค้นหาความจริงในคดีความตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พุทธศักราช ๒๔๗๗ มาตรา ๓ เป็นส่วนหนึ่งของระบบงานกระบวนการยุติธรรม ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา ๘๑ และมาตรา ๒๕๕ มีหน้าที่ปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ระเบียบ และคำสั่งของสำนักงานอัยการสูงสุด ทั้งนี้เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน

         สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัด มีอัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวเป็นผู้บังคับบัญชา และรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการ มีอำนาจและหน้าที่

              ๑. รับผิดชอบการดำเนินคดีทั้งปวงในอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุดภายในเขตท้องที่ของสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก แล้วแต่กรณี ทั้งนี้ตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ ข้อบังคับ และคำสั่งว่าด้วยการนั้น
              ๒. ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

สำนักอำนวยการ มีอำนาจและหน้าที่

               ๑. รับผิดชอบงานธุรการ งานสารบบคดี งานบริหารบุคคล   งานเลขานุการ นักบริหาร งานงบประมาณ งานการเงินและบัญชี และงานเกี่ยวกับอาคารสถานที่ พัสดุ และยานพาหนะของสำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัด
               ๒. ปฏิบัติงานร่วมกับ หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย

          เขตอำนาจการดำเนินคดี และเขตอำนาจการสอบสวน

๑.     สถานีตำรวจภูธรเมืองตาก
๒.     สถานีตำรวจภูธรหนองบัวเหนือ
๓.     สถานีตำรวจภูธรบ้านตาก
๔.     สถานีตำรวจภูธรสามเงา
๕.     สถานีตำรวจภูธรแม่สลิด
๖.      สถานีตำรวจภูธรวังเจ้า
๗.    สถานีตำรวจภูธรวังประจบ
๘.     สถานีตำรวจภูธรแม่ท้อ
๙.     สถานีตำรวจภูธรยกกระบัตร

เขตอำนาจศาล

ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก

บุคลากร

ทำเนียบข้าราชการอัยการที่ดำรงตำแหน่ง

1

นายวัชรากร เปรมประเสริฐ
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่ ๗ สิงหาคม ๒๕๔๙ ถึง ๑ เมษายน ๒๕๕๐

2

นายสมพงศ์ เย็นแก้ว
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่ ๒ เมษายน ๒๕๕๐ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๑

3

นายสำเริง เรือนอินทร์
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๑ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๒

4

นางสาวสุพัฒนา คงเจริญ
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๓

5

นายสุรพงศ์ ศันติวิชยะ
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๓ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๔

6

นายพงษ์ศักดิ์ อิสริยะวิญญู
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๔ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๕

7

นางวรรณา สระวาสี
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๕ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๖

8

นายยงยุทธ สงเคราะห์ธรรม
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่ ๑ เมษายน ๒๕๕๖ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๗

9

นายธวัชชัย หัตถะปนิตร์
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๗ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๘

10

นายคมกฤช  สุวัตถี
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๘ ถึง ๓๑ มีนาคม ๒๕๕๙

11

นางสิตางศุ์  ตั้งศิริ
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๙ ถึง ๒ เมษายน ๒๕๖๐

12

นายสุกิจ  นาพุก
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่วันที่ ๓ เมษายน ๒๕๖๐ – ถึง ๑ เมษายน ๒๕๖๑

13

นายวิโรจน์  พรหมอยู่
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่วันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๑ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๒

14

นางสาวสุภาพร จุลดุลย์
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๒ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๔

15

นางสาวนิติกาญจน์ วงค์ครองศักดิ์
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๔ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๕

16


นายรณรงค์ พิกุลทอง
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๕ – ๓๑ มีนาคม ๒๕๖๖

17


นายอภิรักษ์ เตชะวงค์
ดำรงตำแหน่ง อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๖๖ – ปัจจุบัน

นายอภิรักษ์ เตชะวงค์
อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก

นายศิโรจน์ กิตติคุณ
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

นายวิธิวัฒน์ เลิศชัยมงคล
อัยการจังหวัดผู้ช่วย

นางสาวญาณิศา สวัสดีนาม
เจ้าพนักงานธุรการอาวุโส
รกน.ผอ.สอก.สอย.ตาก

นางสุวพิชญ์ เรืองสว่าง
นิติกรชำนาญการ

นางสาวฐริญชญาภัชก์ เจริญ
นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ

นายปราโมทย์ เพ็งสุวรรณ
นิติกร

นายบุญญฤทธิ์ กันอิน
พนักงานขับรถยนต์

นางจีรวรรณ  จันทร
พนักงานทำความสะอาด 

หลักการและระเบียบ

หลักการและระเบียบเกี่ยวกับการดำเนินคดีเด็กและเยาวชน

หลักการดำเนินคดีอาญา

การดำเนินคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนมีส่วนเกี่ยวข้องนั้น พนักงานอัยการต้องคำนึงถึงการคุ้มครอง สวัสดิภาพของเด็กหรือเยาวชน โดยการแก้ไข บำบัด และฟื้นฟู ยิ่งกว่าการลงโทษ ตามนัยระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 175

ระเบียบและคำสั่งที่ใช้ในการดำเนินคดีอาญา

ระเบียบและคำสั่งที่ใช้ในการดำเนินคดีอาญาเด็กหรือเยาวชน เป็นไปตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 175-187 และตามคำสั่งหรือหนังสือเวียนสำนักงานอัยการสูงสุดที่ออกเป็นคราว ๆ

ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชน

“เด็ก” หมายความว่า บุคคลอายุยังไม่เกินสิบห้าปีบริบูรณ์

“เยาวชน” หมายความว่า บุคคลอายุเกินสิบห้าปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ (พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553)

ข้อสังเกต

1. กรณีเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี กระทำความผิดอาญา ไม่ต้องรับโทษ

2. กรณีอายุครบ 18 ปีบริบูรณ์ ไม่ถือว่าเป็นเยาวชน

การนับอายุของเด็กหรือเยาวชน

การนับอายุของบุคคลให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดเดือนใด แต่ไม่รู้วันเกิดให้นับวันที่ 1 แห่งเดือนนั้น เป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใดให้นับอายุบุคคลนั้น ตั้งแต่วันต้นปีปฏิทิน (วันที่ 1 มกราคม) ซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด (ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 16)

การสอบสวนเด็กหรือเยาวชน

การสอบสวนในคดีที่ผู้ต้องหาเป็นเด็กหรือเยาวชนให้ถืออายุไม่เกิน 18 ปี ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหา (ไม่ใช่เจ้าพนักงานจับกุมแจ้งข้อหา) โดยการสอบสวนจะต้องดำเนินการตามมาตรา 133 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งจะต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำนั้นด้วย ส่วนการที่เด็กหรือเยาวชนกระทำผิดขณะอายุไม่เกิน 18 ปี แต่วันที่แจ้งข้อหาเด็กมีอายุเกิน 18 ปี การสอบสวนก็ไม่ต้องดำเนินการตามมาตรา 133 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

พนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ

ต้องเป็นพนักงานสอบสวนต้องมีเขตอำนาจการสอบสวน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 18-21

การสอบสวนที่ชอบด้วยกฎหมาย

การสอบสวนในกรณีที่ต้องมีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ

ในวันที่พนักงานสอบสวนแจ้งข้อหาผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปี พนักงานสอบสวนต้องถามผู้ต้องหาว่ามีทนาย (ที่ปรึกษากฎหมาย) หรือไม่ ถ้าไม่มีให้รัฐจัดหาทนายให้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/1 ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.2553 มาตรา 120

การถามปากคำ (คำให้การ) ผู้ต้องหาที่มีอายุไม่เกินสิบแปดปี พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการโดยแยกกระทำเป็นสัดส่วนในสภาพที่เหมาะสม และมีพนักงานอัยการ ทนายความ(ที่ปรึกษากฎหมาย) หากเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือความผิดอื่น คดีที่มีอัตราโทษจำคุก และถ้าผู้ต้องหาร้องขอ ต้องมีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่ผู้ต้องหาร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำด้วยเสมอ (ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 134/2 และนำมาตรา 133 ทวิ มาใช้บังคับโดยอนุโลม)

ในคดีที่มีคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือความผิดอื่น อัตราโทษจำคุกและผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กร้องขอพนักงานสอบสวนต้องดำเนินการ โดยแยกกระทำเป็นสัดส่วนในสถานที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และมีพนักงานอัยการ นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอร่วมถามปากคำด้วย (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ)

ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่ง ซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำพร้อมกันได้ พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 133 ทวิ วรรคท้าย

ในคดีที่พนักงานสอบสวนมีความจำเป็นต้องจัด ให้เด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน ชี้ตัวผู้ต้องหาพนักงานสอบสวนต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ อาญา มาตรา 133 ตรี ทั้งนี้ การดำเนินการของพนักงานสอบสวนดังกล่าว พนักงานอัยการจะต้องปฏิบัติตามระเบียบอัยการสูงสุดว่าด้วยการคุ้มครองเด็กใน คดีอาญา พ.ศ.2543 ข้อ 11-15

การดำเนินคดีของพนักงานอัยการ การพิจารณาและสั่งคดี

  • การพิจารณาสั่งคดีในคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนเป็นผู้ต้องหานั้น จะต้องตรวจพิจารณาสั่งสำนวนโดยละเอียดรอบคอบ
  • จะต้องพิจารณาสั่งคดีให้ทันภายในกำหนดอายุความตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 หากเป็นคดีความผิดอันยอมความได้ผู้เสียหายต้องร้องทุกข์ภายในสามเดือนตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 96
  • จะต้องนำรายงานการสืบเสาะของสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน มาประกอบการพิจารณาด้วย
  • จะต้องคำนึงถึงการคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กและเยาวชนยิ่งกว่าการลงโทษ
  • ต้องพิจารณาของกลาง และขอให้ผู้ต้องหาคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แทนผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธี พิจารณาความอาญา มาตรา 43
  • พิจารณาประวัติการเคยกระทำความผิดและเคยต้องโทษของผู้ต้องหาว่ามีหรือไม่ ถ้ามีก็ให้มีคำสั่งและขอให้ศาลสั่ง

กรณีสั่งฟ้อง

เมื่อตรวจพิจารณาสั่งสำนวนโดยละเอียดรอบคอบแล้ว พนักงานอัยการต้องทำความเห็นสั่งฟ้อง กรณีต้องเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ต้องใช้ความเห็น “เห็นควรสั่งฟ้อง” ในสำนวนการสอบสวนโดยละเอียด ตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 56 ประกอบข้อ 52 และก่อนมีคำสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้อง หากพิจารณาพยานหลักฐานและพยานหลักฐานยังไม่แน่ชัด ก็ต้องสั่งสอบสวนเพิ่มเติมตามรูปคดีตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 69

กรณีสั่งไม่ฟ้อง

เมื่อในกรณีพิจารณาพยานหลักฐานในสำนวน การสอบสวนโดยละเอียดรอบคอบดังกล่าวแล้ว คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง หรือการฟ้องคดีใดจะไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณชน หรือจะมีผลกระทบต่อความปลอดภัยหรือความมั่นคงแห่งชาติ หรือต่อผลประโยชน์อันสำคัญของประเทศ (ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2528 ข้อ 51) พนักงานอัยการต้องทำความเห็นสั่งไม่ฟ้อง (กรณีต้องเสนอผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น ต้องเสนอความเห็นควรสั่งไม่ฟ้อง) แล้วจึงเสนอผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาคหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณีตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2528 ข้อ 81 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 145/1

การขออนุญาตฟ้อง และการผัดฟ้อง

คดีขออัยการสูงสุดหรืออธิบดีอัยการหรืออธิบดีอัยการภาคซึ่งอัยการสูงสุดมอบหมายอนุญาตฟ้อง ได้แก่ คดีที่ยื่นฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลไม่ทันภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ตามมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2553 หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งคดีว่าขาดผัดฟ้อง ซึ่งอาจเป็นกรณีที่ขาดผัดฟ้องมาตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน หรือในชั้นพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี

การดำเนินคดีในชั้นศาล

การพิจารณาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชน เป็นจำเลย ไม่ต้องดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาโดยเคร่งครัด และให้ใช้ถ้อยคำที่จำเลยสามารถเข้าใจได้ง่าย กับต้องให้โอกาสจำเลยรวมทั้งบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่จำเลยอาศัยอยู่ หรือบุคคลที่ให้การศึกษา หรือให้ทำการงาน หรือมีความเกี่ยวข้องด้วย แถลงข้อเท็จจริง ความรู้สึก และความคิดเห็น ตลอดจนระบุและซักถามพยานได้ไม่ว่าในเวลาใดๆ ในระหว่างที่มีการพิจารณาคดีนั้น (ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 114)

ศาลที่มีอำนาจรับพิจารณาคดีเด็กหรือเยาวชน

การที่จะฟ้องเด็กหรือเยาวชนต่อศาลให้ถืออายุเด็กหรือเยาวชนในวันที่การกระทำความผิดได้เกิดขึ้น แม้เด็กหรือเยาวชนขณะกระทำความผิดมีอายุไม่เกิน 18 ปี แต่ได้หลบหนีไปจนมีอายุเกิน 18 ปี เช่น หลบหนีไป 10 ปี จนอายุถึง 28 ปี ก็นำมาฟ้องศาลเยาวชนและครอบครัว (ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 5) จะ ต้องเป็นศาลเยาวชนและครอบครัวมีเขตอำนาจ พิจารณาคดีในท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติ (ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553 มาตรา 95)แต่ถ้าเพื่อประโยชน์แก่เด็กหรือเยาวชน ศาลแห่งท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดมีอำนาจรับพิจารณาคดีนั้นได้ด้วย

ถิ่นที่อยู่ปกติของเด็กหรือเยาวชน ไม่ใช่ถือตามท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีภูมิลำเนาตามทะเบียนบ้าน แต่ถือตามท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีที่พักอาศัยเป็นปกติ (ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1382/2523)

ข้อสังเกต

ในกรณีที่ผู้กระทำผิดอายุไม่เกิน 20 ปีบริบูรณ์ กระทำผิดและอยู่ในอำนาจของศาลธรรมดา ถ้าศาลนั้นพิจารณาโดยคำนึงถึงร่างกาย สติปัญญา สุขภาพ ภาวะแห่งจิตวิสัย เห็นว่าบุคคลดังกล่าวนั้นมีสภาพเช่นเดียวกับเด็กหรือเยาวชน ให้ศาลมีอำนาจโอนคดีไปพิจารณาที่ศาลเยาวชนและครอบครัวที่มีอำนาจและให้ถือว่าบุคคลนั้นเป็นเด็กหรือเยาวชน (ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว ฯ พ.ศ.2553 มาตรา 97)

บุคคลที่เกี่ยวข้องในคดี

  • ผู้พิพากษา มี 2 ประเภท คือ ผู้พิพากษา และผู้พิพากษาสมทบ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553 มาตรา 15
  • พนักงานอัยการ ซึ่งอัยการสูงสุดแต่งตั้งให้มีหน้าที่ดำเนินคดีที่มีข้อหาว่าเด็กหรือ เยาวชนกระทำความผิด และต้องฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553 มาตรา 101
  • จำเลย กรณีถ้าไม่รับการประกันตัวจะถูกควบคุมอยู่ที่สถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน
  • ที่ปรึกษากฎหมาย จำเลยที่เป็นเด็กหรือเยาวชนจะมีทนายความแก้คดีแทนไม่ได้ แต่ให้มีที่ปรึกษากฎหมายเพื่อปฏิบัติหน้าที่ทำนองเดียวกันกับทนายความได้ ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553 มาตรา 120

การสืบพยานในคดีที่เด็กหรือเยาวชนกระทำผิด

ในคดีที่พยานเป็นผู้ใหญ่ การสืบพยานจะเป็นแบบคดีปกติธรรมดา พนักงานอัยการจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 15 และมาตรา 172-181 ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 112 และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 100-108,110-121

การสืบพยานในคดีที่พยานเป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบแปดปี ตามปกติห้องที่พิจารณาจะต้องไม่ใช่ห้องพิจารณาคดีธรรมดา แต่ถ้าไม่อยู่ในวิสัยที่จะกระทำได้ ก็ให้ใช้ห้องพิจารณาคดีธรรมดา แต่ต้องไม่ปะปนกับการพิจารณาคดีธรรมดา ทั้งนี้ ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553 มาตรา 107 และพนักงานอัยการจะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 172 ตรี และก่อนเบิกความพยานต้องสาบานตามลัทธิศาสนาหรือจารีตประเพณีแห่งชาติของตน หรือกล่าวคำปฏิญาณว่าจะให้การตามสัตย์จริงเสียก่อน ยกเว้นบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี (ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 112 (2) และระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการคุ้มครองเด็กในคดีอาญา พ.ศ.2543 ข้อ 26-29)

การพิจารณาลับ

การพิจารณาคดีที่ศาลให้กระทำเป็นการลับ พนักงาน อัยการจะต้องปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ.2547 ข้อ 101 และเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องกับคดีตามที่พระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ.2553 มาตรา 108 (1)-(7) กำหนดเท่านั้น จึงจะมีสิทธิเข้าฟังการพิจารณาคดีได้ และการพิจารณาจะต้องกระทำต่อหน้าที่ปรึกษากฎหมายของจำเลยเท่านั้น ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 127

ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด
ว่าด้วยการคุ้มครองเด็กในคดีอาญา พ.ศ. 2543

โดยเหตุที่ พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ฉบับที่ 20) พ.ศ. 2542 ได้บทบัญญัติเพิ่มบทบาทของพนักงานอัยการในการคุ้มครองเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ทั้งในชั้นสอบสวน และชั้นศาลหลายประการ กล่าวคือในชั้นสอบสวนได้กำหนดให้พนักงานอัยการเข้าร่วมในการจดบันทึกคำร้อง ทุกข์ในกรณีที่เด็กเป็นผู้เสียหาย การถามปากคำเด็กในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน การที่ผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กชี้ตัวผู้ต้องหาและการสอบสวนผู้ต้องหา ซึ่งเป็นเด็ก ส่วนในชั้นศาลได้มีการกำหนดกระบวนการถามปากคำและสืบพยานในการไต่สวนการตาย การไต่สวนมูลฟ้องและการพิจารณาคดีสำหรับเด็กเป็นพิเศษ นอกจากนั้นยังได้มีการปรับปรุงขยายเหตุและวิธีการเกี่ยวกับการสืบพยานไว้ ก่อนการฟ้องคดีต่อศาลอย่างกว้างขวาง รวมทั้งให้นำวิธีสืบพยานสำหรับเด็กในชั้นศาลไปใช้กับการสืบพยานไว้ก่อนการ ฟ้องคดีต่อศาลอีกด้วย ทั้งนี้เพื่อให้การคุ้มครองเด็กในคดีอาญาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและรวด เร็วสอดคล้องกับมาตรฐาน ข้อ 12 แห่งอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก พ.ศ. 2532 (ค.ศ.1989) และบทบัญญัติในมาตรา 4 และมาตรา 53 วรรคหนึ่งของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2540 กรณีจึงมีความจำเป็นที่จะต้องจัดองค์กร เพื่อรองรับภารกิจและบทบาทดังกล่าว และสมควรกำหนดหลักปฏิบัติราชการในการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น อาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 15 แห่งพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ. 2498 อัยการสูงสุด จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้

หมวด 1
บททั่วไป

ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบสำนักงานอัยการสูงสุด ว่าด้วยการคุ้มครองเด็กในคดีอาญา พ.ศ. 2543”
ข้อ 2. ให้ยกเลิกระเบียบ ข้อบังคับและคำสั่งอื่นใดที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้และให้ใช้ระเบียบนี้แทน
การปฏิบัติตามระเบียบนี้ ให้คำนึงถึงข้อบังคับและระเบียบของส่วนราชการอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็กในคดีอาญาเป็น ไปอย่างมีประสิทธิภาพ และมีความยุติธรรมตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กกติการะหว่างประเทศว่าด้วย สิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง พ.ศ. 2509 (ค.ศ.1966) และตามบทบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
ข้อ 3. ให้ใช้ระเบียบนี้ตั้งแต่วันที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2543 เป็นต้นไป
ข้อ 4. ในระเบียบนี้
“ศูนย์อำนวยการ” หมายความถึง ศูนย์อำนวยการคุ้มครองเด็กในคดีอาญา
“ผู้อำนวยการศูนย์” หมายความถึง อธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา หรืออัยการจังหวัดผู้ปฏิบัติหน้าที่ประจำ ณ สำนักงานอัยการจังหวัดนั้น หรืออัยการจังหวัดประจำศาลจังหวัดแล้วแต่กรณี
“รองผู้อำนวยการศูนย์” หมายความถึง รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีอาญา หรือพนักงานอัยการที่อัยการจังหวัดมอบหมาย
“เลขานุการศูนย์” หมายความถึง
(1) ในกรุงเทพมหานคร อัยการพิเศษฝ่ายที่ได้รับมอบหมาย
(2) ในต่างจังหวัด พนักงานอัยการที่อัยการจังหวัดมอบหมาย
“หัวหน้าพนักงานอัยการ” หมายความถึง อัยการพิเศษฝ่ายหรืออัยการจังหวัดที่รับผิดชอบในการดำเนินคดี
“พนักงานอัยการ” หมายความถึง
(1) ในกรุงเทพมหานคร อัยการพิเศษฝ่ายที่ได้รับมอบหมาย
(2) ในต่างจังหวัดพนักงานอัยการประจำสำนักงานอัยการต่าง ๆ
“เด็ก” หมายความถึง เด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี
“การคุ้มครองเด็ก” หมายความถึง การเข้าร่วมในการจดบันทึกคำร้องทุกข์ในกรณีที่เด็กเป็นผู้เสียหายการถามปากคำเด็กในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน การชี้ตัวผู้ต้องหา การสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กในชั้นสอบสวน และการถามปากคำหรือสืบพยานในการไต่สวนการตาย การไต่สวนมูลฟ้องและการพิจารณาคดีสำหรับเด็กเป็นพิเศษในชั้นศาล
ข้อ 5. พนักงานอัยการมีหน้าที่ในการอำนวยความยุติธรรม และพึงให้ความคุ้มครองสิทธิเด็กจากการใช้ความรุนแรง การแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรมต่อเด็ก โดยคำนึงถึงศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์    สิทธิและเสรีภาพตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ

หมวด 2
ศูนย์อำนวยการ

ข้อ 6. ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการคุ้มครองเด็กในคดีอาญาขึ้นในกรุงเทพมหานครและต่าง จังหวัด มีหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการติดต่อประสานงานรวมทั้งปฏิบัติการตามที่ได้ รับมอบหมาย กรณีพนักงานอัยการต้องเข้าคุ้มครองเด็ก โดยให้ศูนย์อำนวยการคุ้มครองเด็กในคดีอาญากรุงเทพมหานครเป็นศูนย์กลางพัฒนา ระบบการคุ้มครองเด็ก และจัดระบบการสำรวจ การเก็บ การใช้ประโยชน์ข้อมูลการคุ้มครองเด็กทั่วราชอาณาจักร การศึกษาวิจัยเชิงประเมินผล โดยพัฒนารูปแบบ วิธีการและแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการคุ้มครองเด็กของสำนักงานอัยการสูงสุด
ให้ผู้อำนวยการศูนย์ เป็นผู้รับผิดชอบอำนวยการให้การคุ้มครองเด็กในการเข้าร่วมจดบันทึกคำร้อง ทุกข์ การถามปากคำเด็กในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน การชี้ตัวผู้ต้องหา การสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กการไต่สวนการตาย การไต่สวนมูลฟ้อง หรือการสืบพยานในคดีที่พยานเป็นเด็ก และการสืบพยานไว้ก่อนในคดีที่พยานนั้นเป็นเด็ก หรือคดีนั้นเด็กเป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหาให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย โดยให้รองผู้อำนวยการศูนย์มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการศูนย์ และให้เลขานุการศูนย์ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ
ข้อ 7. ศูนย์อำนวยการ มีหน้าที่ดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) จัดทำบัญชีรายชื่อพนักงานอัยการผู้มีหน้าที่เข้าร่วมในการคุ้มครองเด็กใน ชั้นสอบสวน โดยในกรุงเทพมหานครให้เสนออัยการสูงสุด หรือผู้ที่อัยการสูงสุดมอบหมายเพื่อออกคำสั่ง ในต่างจังหวัดให้ผู้อำนวยการศูนย์เป็นผู้ออกคำสั่ง แล้วแจ้งให้พนักงานอัยการทราบล่วงหน้า
(2) จัดให้มีพนักงานอัยการปฏิบัติหน้าที่แทน กรณีพนักงานอัยการผู้มีรายชื่อตาม (1) ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
(3) จัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยการไว้คอยรับแจ้งจากพนักงานสอบสวน กรณีขอให้พนักงานอัยการเข้าร่วมในการจดบันทึกคำร้องทุกข์ การถามปากคำเด็กในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน การชี้ตัวผู้ต้องหา การสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กในชั้นสอบสวน
(4) รับและพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการสืบพยานไว้ก่อน
(5) จัดทำสารบบการเข้าร่วมในการคุ้มครองเด็กในชั้นสอบสวนตามแบบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด
(6) จัดสถานที่สำหรับการซักถามปากคำเด็กเพื่อสั่ง โดยให้มีการบันทึกภาพและเสียงซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้ เป็นพยาน
(7) จัดระบบการสำรวจ การเก็บ การใช้ประโยชน์ข้อมูล การคุ้มครองเด็ก
(8) ประสานงานกับคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
(9) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง หรือที่ได้รับมอบหมาย
ข้อ 8. การมอบหมายพนักงานอัยการที่เข้าร่วมในการจดบันทึกคำร้องทุกข์ การถามปากคำเด็กในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน การชี้ตัวผู้ต้องหา การสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กในชั้นสอบสวนตามระเบียบนี้ ให้พิจารณาคุณสมบัติ ความสามารถ ความประพฤติของพนักงานอัยการ โดยคำนึงถึงความเหมาะสมในด้านอายุและเพศของผู้เสียหาย พยาน หรือผู้ต้องหา และข้อกล่าวหาเป็นองค์ประกอบสำคัญด้วย
ข้อ 9. เมื่อได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวนขอให้พนักงานอัยการเข้าร่วมในการจดบันทึกคำ ร้องทุกข์ การถามปากคำเด็กในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน การชี้ตัวผู้ต้องหา การสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กในชั้นสอบสวน ให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยการบันทึกถ้อยคำของพนักงานสอบสวนไว้ในแบบรับ แจ้งการเข้าคุ้มครองเด็กในชั้นสอบสวนท้ายระเบียบนี้ และให้พนักงานสอบสวนลงลายมือชื่อไว้เป็นหลักฐาน ในกรณีจำเป็นให้แจ้งทางโทรสารได้
ให้เจ้าหน้าที่ประจำศูนย์อำนวยการเสนอบันทึกการรับแจ้งดังกล่าวต่อผู้อำนวย การศูนย์ และแจ้งพนักงานอัยการผู้มีหน้าที่พิจารณาดำเนินการต่อไป
ข้อ 10. พนักงานอัยการและเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการเข้าคุ้มครองเด็ก ในชั้นสอบสวนมีสิทธิได้รับค่าตอบแทน ค่าป่วยการ ค่าพาหนะเดินทาง และค่าเช่าที่พักตามระเบียบที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด

หมวด 3
การคุ้มครองเด็กในชั้นสอบสวน

ข้อ 11. การเข้าร่วมในการจดบันทึกคำร้องทุกข์ การถามปากคำเด็กในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน การชี้ตัวผู้ต้องหา การสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กในชั้นสอบสวน ให้พนักงานอัยการใช้กริยาและภาษาที่เหมาะสม โดยให้คำนึงถึงสภาพร่างกายและจิตใจของเด็ก โดยไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อจิตใจของเด็กและส่งผลให้ข้อเท็จจริงคลาดเคลื่อนไป จากความเป็นจริง อีกทั้งต้องไม่ตอกย้ำจิตใจเด็กซึ่งบอบช้ำให้เลวร้ายยิ่งขึ้น
กรณีจำเป็นโดยมีเหตุอันควร พนักงานอัยการอาจถามปากคำเด็กผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ก็ได้
ข้อ 12. ให้พนักงานอัยการผู้ได้รับมอบหมายเข้าร่วมในการจดบันทึกคำร้องทุกข์ การถามปากคำเด็กในฐานะผู้เสียหายหรือพยาน การชี้ตัวผู้ต้องหาหรือการสอบสวนผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็กในชั้นสอบสวน ยังสถานที่และวันเวลาตามที่ได้รับแจ้งจากพนักงานสอบสวน
ก่อนดำเนินการคุ้มครองเด็กในชั้นสอบสวนตามวรรคแรก ให้พิจารณาดังนี้
(1) สถานที่ที่ทำการสอบสวนได้แยกกระทำเป็นส่วนสัด และมีความเหมาะสมสำหรับเด็ก รวมทั้งจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการสอบปากคำ ซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยานแล้วหรือไม่
(2) สถานที่ที่จัดให้มีการชี้ตัวผู้ต้องหานั้น มีความเหมาะสมและ สามารถจะป้องกันมิให้ผู้ต้องหาเห็นตัวผู้เสียหายหรือพยานได้หรือไม่
(3) มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอแล้วหรือไม่
ถ้าพนักงานสอบสวนยังไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม (1) หรือ (2) ให้แจ้งพนักงานสอบสวนดำเนินการให้ถูกต้อง หากพนักงานสอบสวนเพิกเฉย ให้ทำบันทึกคัดค้านแจ้งพนักงานสอบสวนทราบและงดการเข้าร่วมคุ้มครองเด็กใน ชั้นสอบสวน แล้วรายงานพร้อมสำเนาบันทึกคัดค้านเสนอผู้อำนวยการศูนย์รวม
ในกรณีไม่มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอตาม (3) ให้พิจารณาว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอ บุคคลดังกล่าวหรือไม่ ถ้ามีหลักฐานว่าเป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งโดยมีเหตุอันควรก็ให้ดำเนิน การเข้าคุ้มครองเด็กต่อไป หากไม่เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งโดยไม่มีเหตุอันควรให้ดำเนินการตาม วรรคก่อน
ข้อ 13. กรณีที่พนักงานสอบสวนดำเนินการสอบสวนไปก่อนโดยไม่รอพนักงานอัยการ ให้พนักงานอัยการพิจารณาว่ามีเหตุจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควร หรือไม่ หากเห็นว่าไม่เป็นกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งโดยไม่มีเหตุอันควร ให้ทำบันทึกคัดค้านแจ้งให้พนักงานสอบสวนทราบ แล้วรายงานพร้อมสำเนาบันทึกคัดค้านเสนอผู้อำนวยการศูนย์ทราบ
ข้อ 14. ให้พนักงานอัยการทำบันทึกรายงานการเข้าร่วมคุ้มครองเด็กในชั้นสอบสวนตามแบบ รายงานที่กำหนด ให้ได้ความเพียงพอที่จะทราบว่า ได้ดำเนินการดังกล่าวในวันใด ครั้งใด ร่วมกับผู้ใด และดำเนินการไปอย่างไร ถ้าเหตุที่ได้จัดการไปนั้นสมควรจะให้ปรากฏถึงเจตนาเพื่อผลใด ๆ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นให้ปรากฏไว้ด้วย แล้วเสนอผู้อำนวยการศูนย์ทราบ
ในคดีสำคัญตามนัยแห่งระเบียบกรมอัยการว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงาน อัยการ พ.ศ. 2528 ให้ศูนย์อำนวยการรายงานผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นจนถึงอัยการสูงสุด
ให้ศูนย์อำนวยการเก็บรักษาแบบรายงานการเข้าร่วมคุ้มครองเด็กในชั้นสอบสวน เพื่อส่งให้พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบรวมเข้าไว้ในสำนวนคดีอาญาต่อไป
ข้อ 15. การเข้าร่วมในการคุ้มครองเด็กในชั้นสอบสวน หากพนักงานอัยการไม่ได้รับความร่วมมือจากพนักงานสอบสวนหรือพบข้อบกพร่องของ พนักงานสอบสวนอันอาจทำให้คดีเสียหายได้ ให้พนักงานอัยการแจ้งพนักงานสอบสวนให้ดำเนินการ ถ้าพนักงานสอบสวนเพิกเฉยให้บันทึกไว้ในแบบรายงานตามข้อ 14 แล้วรายงานต่อผู้อำนวยการศูนย์ เพื่อแจ้งผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติหรือผู้ว่าราชการจังหวัดแล้วแต่กรณี

หมวด 4
การคุ้มครองเด็กในชั้นพนักงานอัยการ

ข้อ 16. เมื่อพนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวนแล้ว ให้พิจารณาในเบื้องต้นว่าเป็นคดีที่ต้องคุ้มครองเด็กตามกฎหมายหรือไม่ หากเป็นคดีที่ต้องคุ้มครองเด็กแต่พนักงานสอบสวนไม่ได้ดำเนินการให้เป็นไปตาม กฎหมาย ให้สั่งไม่รับสำนวนการสอบสวนและส่งคืนพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการให้ถูก ต้อง
กรณีเป็นสำนวนการสอบสวนที่พนักงานอัยการเข้าคุ้มครองเด็กตามหมวด 3 ให้พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนขอรับแบบรายงานตามข้อ 14 วรรคสามมารวมเข้าไว้ในสำนวนการสอบสวนดังกล่าว เพื่อใช้ประกอบการพิจารณา
ข้อ 17. ในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ที่จะต้องนำผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็น เด็กมาซักถามเพื่อสั่ง จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากอธิบดีอัยการแล้ว
ในการซักถามเพื่อสั่งดังกล่าว ให้หัวหน้าพนักงานอัยการแจ้งพนักงานสอบสวนส่งผู้เสียหายหรือพยาน ซึ่งเป็นเด็กพร้อมนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์บุคคลที่เด็กร้องขอมา และให้นำความในหมวด 3 ของระเบียบนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

หมวด 5
การสืบพยานไว้ก่อนเพื่อการคุ้มครองเด็ก

ข้อ 18. เมื่อมีเหตุจะดำเนินการสืบพยานไว้ก่อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาก็ ดี พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธี พิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 ก็ดี พระราชบัญญัติมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก พ.ศ. 2540 ก็ดี หรือตามกฎหมายอื่น ให้พนักงานอัยการดำเนินการไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายนั้นและระเบียบสำนักงาน อัยการสูงสุดที่ว่าด้วยการสืบพยานไว้ก่อนในเรื่องนั้น ๆ เว้นแต่กรณีที่ระเบียบนี้กำหนดไว้เป็นพิเศษ ให้นำความในระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีมีเหตุจะต้องดำเนินการสืบพยานไว้ก่อนตามวรรคแรกและมีพยานซึ่งเป็นเด็ก จะสืบไว้ก่อนหรือเด็กเป็นผู้เสียหายหรือผู้ต้องหา ให้พนักงานอัยการดำเนินการเข้าคุ้มครองเด็กตามระเบียบในสามข้อต่อไปนี้
ข้อ 19. เมื่อศูนย์อำนวยการได้รับการร้องขอจากผู้เสียหายให้สืบพยานไว้ก่อน ให้ตรวจสอบในเบื้องต้นว่าเป็นเรื่องอยู่ระหว่างการสอบสวนหรือไม่ หากปรากฏว่าพนักงานสอบสวนยังไม่ได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษ ให้สอบปากคำบุคคลที่เกี่ยวข้องเพื่อทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพฤติการณ์และ เหตุอันควรที่จะดำเนินการสืบพยานไว้ก่อนตามข้อ 18 และรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) เมื่อเห็นว่ามีมูลเหตุอันควรเข้าคุ้มครองเด็ก ให้ส่งเรื่องไปยังสำนักงานคดีหรือสำนักงานอัยการที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ การดำเนินคดีนั้นแล้วแต่กรณีโดยเร็ว เพื่อพิจารณาดำเนินการให้มีการสืบพยานไว้ก่อนหรือศูนย์อำนวยการอาจดำเนินการ เองก็ได้
เมื่อสำนักงานคดีหรือสำนักงานอัยการได้รับเรื่องตามวรรคแรก ให้พนักงานอัยการผู้รับผิดชอบตรวจสอบข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานว่ามีเหตุที่ จะสืบพยานไว้ก่อนตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ หากเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอและมีเหตุอันสมควรก็ให้ดำเนินการสืบพยานไว้ ก่อน แต่หากเห็นว่าไม่มีเหตุอันควรดำเนินการให้หัวหน้าพนักงานอัยการเสนอเรื่อง ต่ออธิบดีอัยการเพื่อพิจารณาสั่ง
ในกรณีที่ศูนย์อำนวยการเห็นว่าไม่มีมูลเหตุอันควรดำเนินการ ให้สั่งยุติการดำเนินการ เว้นแต่ในต่างจังหวัดให้ศูนย์อำนวยการเสนอเรื่องต่ออธิบดีอัยการเขตเพื่อ พิจารณาสั่ง
คำสั่งของอธิบดีอัยการให้ถือเป็นที่สุด แล้วให้ศูนย์อำนวยการแจ้งคำสั่งให้ผู้ร้องขอทราบตามแบบที่กำหนด
ข้อ 20. ในกรณีที่ศูนย์อำนวยการตรวจสอบในเบื้องต้นตามข้อ 19 วรรคแรกและปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษไว้แล้ว แต่ยังไม่ได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ ให้ศูนย์อำนวยการส่งเรื่องไปยังสำนักงานคดีหรือสำนักงานอัยการที่มีอำนาจ หน้าที่รับผิดชอบการดำเนินคดีเรื่องนั้นแล้วแต่กรณีเพื่อพิจารณาดำเนินการ
เมื่อได้รับเรื่องจากศูนย์อำนวยการตามวรรคแรก ให้นำความในข้อ 19 วรรคสองและวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ก่อนที่พนักงานสอบสวนจะส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการผู้เข้าร่วมคุ้มครองเด็กในชั้นสอบสวนในคดีนั้นอาจร้องขอ ให้ศูนย์อำนวยการดำเนินการสืบพยานไว้ก่อน และให้นำความในสองวรรคก่อนมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 21. ในกรณีที่ศูนย์อำนวยการตรวจสอบในเบื้องต้นตามข้อ 19 วรรคแรกและปรากฏว่าพนักงานสอบสวนได้รับคำร้องทุกข์หรือคำกล่าวโทษและได้ส่ง สำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการไว้แล้ว ให้ศูนย์อำนวยการส่งเรื่องไปยังสำนักงานคดีหรือสำนักงานอัยการที่ได้รับ สำนวนการสอบสวนเพื่อพิจารณาดำเนินการ
เมื่อได้รับเรื่องจากศูนย์อำนวยการตามวรรคแรก ให้พนักงานอัยการตรวจพิจารณาสำนวนโดยละเอียดรอบคอบและให้นำความในข้อ 19 วรรคสองและวรรคสี่มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ในกรณีที่พนักงานสอบสวนได้ส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการไว้แล้ว หากพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนโดยตนเองหรือพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบหรือผู้ เสียหาย ร้องขอให้ดำเนินการสืบพยานไว้ก่อนต่อสำนักงานคดีหรือสำนักงานอัยการที่ได้ รับสำนวนการสอบสวนโดยตรง ให้นำความในวรรคก่อนมาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 22. การพิจารณาทำความเห็นและสั่งดำเนินการสืบพยานไว้ก่อนเพื่อการคุ้มครองเด็ก ตามข้อ 19 ข้อ 20 และข้อ 21 หรือกรณีเป็นคดีสำคัญ ให้นำความในข้อ 13 และข้อ 32 แห่งระเบียบกรมอัยการว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2528 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 23. เมื่อได้รับแจ้งจากศาลในกรณีที่อนุญาตให้ผู้ต้องหาสืบพยานไว้ก่อน หากพนักงานอัยการยังไม่ได้รับสำนวนการสอบสวน ให้ประสานงานไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงอันเป็นมูลคดีและ พฤติการณ์แห่งคดีเท่าที่จำเป็น หรือในกรณีที่พนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวนแล้ว อาจแจ้งพนักงานสอบสวนเพื่อขอทราบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมก็ได้
ข้อ 24. ก่อนเริ่มสืบพยานไว้ก่อน ถ้าเป็นกรณีที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดอาญา ซึ่งหากการฟ้องคดีจะเป็นคดีซึ่งศาลจะต้องตั้งทนายความให้หรือจำเลยมีสิทธิ ร้องขอให้ศาลตั้งทนายความ ให้พนักงานอัยการตรวจสอบว่าได้มีการตั้งทนายความแล้วหรือไม่ หากยังไม่มีให้แถลงศาลทราบ
ให้พนักงานอัยการเข้าดำเนินการซักค้านพยานและต้องทำบันทึกการดำเนินการทุก เรื่องในรายงานการคดี (แบบ อ.ก.13) ให้ละเอียดเพียงพอที่จะทราบว่าได้ดำเนินการดังกล่าวในวันใด ครั้งใด พนักงานอัยการคนใด ได้จัดการไปอย่างไร ถ้าเหตุที่ได้จัดการไปนั้นสมควรจะให้ปรากฏถึงเจตนาเพื่อผลใดๆ ก็ให้บันทึกเหตุนั้นให้ปรากฏไว้ด้วย ทั้งนี้เพื่อใช้ประโยชน์ในการดำเนินคดีต่อไป และให้รายงานหัวหน้าพนักงานอัยการเพื่อทราบด้วย
ข้อ 25. กรณีสืบพยานไว้ก่อนตามข้อ 19 และข้อ 20 เมื่อดำเนินการเสร็จแล้วให้ส่งสำเนาบันทึกการดำเนินการดังกล่าวไปยังศูนย์ อำนวยการเพื่อเก็บรักษา
กรณีสืบพยานไว้ก่อนตามข้อ 21 ให้หัวหน้าพนักงานอัยการรายงานผลการดำเนินการให้ศูนย์ทราบเพื่อเป็นข้อมูลทางวิชาการต่อไป

หมวด 6
การคุ้มครองเด็กในชั้นศาล

ข้อ 26. ในการฟ้องคดีของพนักงานอัยการ หากปรากฏว่ากระบวนการในการดำเนินคดีเรื่องนั้น จะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจเด็กและเป็นการซ้ำซากที่จะตอกย้ำจิตใจเด็กซึ่งบอบ ช้ำให้เลวร้ายยิ่งขึ้น อันจำเป็นต้องมีการคุ้มครองเด็ก ให้พนักงานอัยการระบุไว้ในคำฟ้องเพื่อขอให้ศาลใช้กระบวนการถามปากคำและการ สืบพยานสำหรับเด็กเป็นการเฉพาะด้วย
การนำเด็กเข้าสืบในชั้นพิจารณาคดีของศาลนั้น ให้พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนระบุไว้ในบัญชีพยานว่าพยานนั้นเป็นเด็ก และในการขอหมายเรียกพยานเด็กดังกล่าว ให้ระบุไว้ในคำร้องด้วยว่าพยานที่จะนำเข้าสืบเป็นเด็ก
ข้อ 27. ก่อนการสืบพยานเด็กหากปรากฏเหตุตามความในข้อ 26 วรรคแรกหรือมีเหตุอันควร ให้พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนแถลงต่อศาลขอให้จัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียง คำให้การพยานที่ได้บันทึกไว้ในชั้นสอบสวน หรือชั้นไต่สวนมูลฟ้องต่อหน้าคู่ความก่อน และหากจำเป็นต้องถามพยานเด็กเพิ่มเติม หรือมีการซักค้านหรือถามติง ให้นำความในข้อ 11. แห่งระเบียบนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 28. กรณีที่ไม่ได้ตัวเด็กซึ่งเป็นพยานมาเบิกความในชั้นพิจารณาของศาลเพราะมีเหตุ จำเป็นอย่างยิ่ง ให้พนักงานอัยการดำเนินการให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การพยานนั้นใน ชั้นสอบสวน ทั้งนี้เพื่อให้ศาลรับฟังประกอบพยานอื่นในการพิจารณาพิพากษาคดีต่อไป
ข้อ 29. ในการไต่สวนการตาย เมื่อปรากฏว่าพยานที่นำเข้าไต่สวนเป็นเด็ก ให้นำความในหมวดนี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม

ประกาศ ณ วันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ. 2543

(นายสุชาติ ไตรประสิทธิ์)
อัยการสูงสุด

ติดต่อหน่วยงาน

สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดตาก
ตั้งอยู่ชั้น ๓ อาคารสำนักงานอัยการจังหวัดตาก 
เลขที่ ๕๘๘  หมู่ที่ ๙ ถนนจรดวิถีถ่อง ตำบลน้ำรึม
อำเภอเมืองตาก จังหวัดตาก ๖๓๐๐๐
โทรศัพท์. ๐ ๕๕๕๑ ๖๐๗๐ (อัยการจังหวัด), ๐ ๕๕๕๑ ๗๙๖๘
โทรสาร. ๐ ๕๕๕๑ ๗๕๕๓ IP: ๕๕๒๖๒๒ 
E-mail: tak-ju@ago.go.th