ข่าวประชาสัมพันธ์

ประกาศเจตนารมณ์ เรื่อง ไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy)
ของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (สาขาหัวหิน)

เกี่ยวกับสำนักงาน

ประวัติสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน

สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีเป็นหน่วยงานหนึ่งภายในสำนักงานอัยการสูงสุดโดยเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2525 ประกอบกับได้มีพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 23 (1) บัญญัติให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีอำนาจและหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินการทางกฎหมาย ตลอดจนการให้ความคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนและการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน จึงมีภารกิจหลักในการปฏิบัติงานในด้านการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนภายใต้กรอบของกฎหมายผ่านทางแผนงาน/โครงการ/กิจกรรม อันประกอบด้วย

1. การคุ้มครองสิทธิทางศาลตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ
2. การให้คำปรึกษาทางกฎหมายและการช่วยเหลือในการทำนิติกรรมสัญญา
3. การช่วยเหลือทางอรรถคดีโดยการจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างในชั้นศาล
4. สนับสนุนการประนอมและระงับข้อพิพาทในระดับท้องถิ่น
5. การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ
6. การฝึกอบรมความรู้ทางกฎหมายให้แก่ประชาชนกลุ่มต่างๆ

        และโครงการอื่นที่มีความสำคัญและจำเป็นต่อประชาชนโดยทั่วไป โดยเฉพาะโครงการสนับสนุนและช่วยเหลือตามแนวพระราชดำริ โดยจะดำเนินการออกหน่วยเคลื่อนที่เพื่อให้การคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนตามที่ได้รับการประสานหรือมีหมายกำหนดการจากสำนักราชเลขาธิการหรือหน่วยงานกองงานในพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและพระบรมวงศานุวงศ์และดำเนินการพิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือแก่ประชาชนผู้เดือดร้อนซึ่งได้ถวายฎีกาผ่านสำนักราชเลขาธิการเพื่อขอพระราชทานความช่วยเหลือส่งผลให้ประชาชนผู้ได้รับความเดือดร้อนได้รับความเป็นธรรมจำนวนมาก โดยตลอดระยะเวลา 31 ปี ที่ผ่านมาในการปฏิบัติงานด้านการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนของพนักงานอัยการทั่วประเทศเป็นที่ยอมรับและได้รับความเชื่อถือจากประชาชนเป็นจำนวนมาก

        นอกจากนี้ พระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 มาตรา 23 (4) กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีอำนาจและหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่งหรือคดีปกครองแทนรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐซึ่งพนักงานอัยการได้รับดำเนินคดีให้ และจะเห็นว่าการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการบังคับค่าปรับตามคำพิพากษาในคดีอาญาและการบังคับคดีปกครองของพนักงานอัยการในต่างจังหวัดมีเป็นจำนวนมากและมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งสำนักงานอัยการสูงสุดได้จัดตั้งสำนักงานการบังคับคดีในส่วนกลางเพื่อรับผิดชอบงานบังคับคดีตามกฎหมายดังกล่าว ในกรณีการบังคับค่าปรับตามคำพิพากษาและการบังคับคดีในต่างจังหวัดซึ่งจะเป็นที่ตั้งของทรัพย์ของจำเลยหรือลูกหนี้ตามคำพิพากษาแต่ยังขาดหน่วยงานและพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบโดยตรง จึงต้องส่งเรื่องให้สำนักงานการบังคับคดีในส่วนกลาง ซึ่งเป็นการเพิ่มขั้นตอนและระยะเวลารวมถึงค่าใช้จ่ายในการดำเนินการมากกว่าการบังคับคดีในต่างจังหวัด โดยจะเห็นว่าการบังคับค่าปรับและการบังคับคดีนั้นเป็นการรักษาผลประโยชน์ของรัฐและเป็นการบังคับโทษตามกฎหมาย ให้มีผลต่อผู้กระทำความผิดเพื่อเป็นการรักษาความยุติธรรมตามกฎหมายให้แก่ผู้เสียหายและรัฐได้อย่างแท้จริง ทั้งเป็นการดำเนินการเพื่อให้รัฐมีรายได้จากการบังคับค่าปรับและการบังคับคดีซึ่งมีจำนวนค่าปรับและทุนทรัพย์ตามคำพิพากษาจำนวนมาก แต่รัฐไม่สามารถบังคับค่าปรับและบังคับคดีได้อย่างเต็มที่ทำให้รัฐมีเพียงรายได้หรือหนี้ตามคำพิพากษาที่เป็นตัวเลขเท่านั้นมิได้มีการบังคับเป็นจำนวนเงินที่จะส่งแก่รัฐได้อย่างแท้จริง

        สำนักงานอัยการสูงสุดและพนักงานอัยการ จึงมีหน้าที่ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่รับผิดชอบดังกล่าวให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ซึ่งเดิม สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.จังหวัด/สาขา) ยังอยู่ในสังกัดของสำนักงานอัยการจังหวัดต่อมาอัยการสูงสุดจึงมีนโยบายให้จัดตั้งสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดจำนวน 76 จังหวัดและสำนักงานสาขา จำนวน 29 สำนักงานทั่วประเทศตามประกาศคณะกรรมการอัยการ เรื่อง การแบ่งหน่วยงานและการกำหนดอำนาจหน้าที่ ของหน่วยงานภายในสำนักงานอัยการสูงสุด (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2556 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2556 โดยประกาศดังกล่าวให้มีการจัดตั้งสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (สาขาหัวหิน) เพื่อให้มีหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนโดยจะมุ่งเน้นการให้บริการแก่ประชาชนอย่างรวดเร็ว ลดขั้นตอนการดำเนินงาน ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถสนองตอบต่อความต้องการของประชาชนได้อย่างเต็มที่ตลอดจนการรักษาผลประโยชน์ของรัฐในด้านการบังคับคดีได้อย่างเต็มศักยภาพ โดยมีอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี เป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติงานราชการ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2557 พร้อมกันทั้ง 76 จังหวัดทั่วประเทศ

        สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (สาขาหัวหิน) โดยใช้ชื่อย่อว่า สคชจ.ประจวบคีรีขันธ์ (สาขาหัวหิน) จึงได้เริ่มเปิดทำการมานับแต่ 1 เมษายน 2557 เป็นต้นมา โดยใช้อาคารด้านข้างของที่ว่าการอำเภอหัวหินเป็นที่ทำการชั่วคราวเรื่อยมา จนกระทั่งเมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2561 การก่อสร้างอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดหัวหินได้ทำการก่อสร้างแล้วเสร็จ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (สาขาหัวหิน) จึงย้ายที่ตั้งมาตั้งอยู่ภายในอาคารของสำนักงานอัยการจังหวัดหัวหินเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

อำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สาขาหัวหิน

การคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
     ได้แก่ การคุ้มครองสิทธิและรักษาผลประโยชน์ของประชาชนที่กฎหมายกำหนดไว้ให้เป็นอำนาจของพนักงานอัยการ เช่น ในคดีแพ่งให้พนักงานอัยการเข้าไปคุ้มครองสิทธิของบุคคลไร้ความสามารถ คนสาบสูญ การร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดกนอกจากนั้นยังดำเนินการให้ความช่วยเหลือทางอรรถคดีแก่ประชาชนผู้ยากไร้โดยจัดทนายอาสาให้ ตลอดทั้งการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนทั่วไป

แนวทางการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย
     บุคคลที่มีสิทธิขอรับความช่วยเหลือ ได้แก่ บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของตนตามกฎหมายแพ่ง หรือผู้ที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล เพื่อขอความรับรอง คุ้มครองบังคับตามสิทธิของ ตนที่มีอยู่ หรือจะกระทำการ หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ต่อเมื่อผู้นั้นได้ขออนุญาต หรือให้ศาลแสดงหรือรับรองสิทธิของตนเสียก่อน เช่น ขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ เป็นต้น

คดีที่พนักงานอัยการให้ความช่วยเหลือได้
1.ร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก
2.ร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้มีการรับบุตรบุญธรรม การเลิกรับบุตรบุญธรรม
3.ร้องขอให้ศาลตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ และร้องขอให้ศาลถอนผู้ปกครอง
4.ร้องขอให้ศาลสั่งถอนอำนาจปกครอง
5.ร้องขอให้ศาลสั่งให้คนวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถและการร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ
6.ร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลซึ่งมีจิตฟั่นเฟือน หรือกายพิการและไม่สามารถประกอบการงานของตนเองเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและการร้องขอให้ศาล เพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
7.ร้องขอให้ศาลสั่งให้ทำพลางตามที่จำเป็น เพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลที่ไปจากภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่
8.ร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ที่ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ เป็นคนสาบสูญ
9.ร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ
10.เป็นโจทก์ฟ้องคดีที่กฎหมายห้ามมิให้ราษฎรฟ้อง เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๖๒ ห้ามมิให้ฟ้องผู้บุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาแต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทร้องขอพนักงานอัยการ

วิสัยทัศน์ (Vision)

“องค์กรนำในการใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม”

พันธกิจ (Missions)

1. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานงานตามภารกิจ ด้านการอํานวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทาง กฎหมายแก่ประชาชนให้มีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา
2. พัฒนาความร่วมมือ บูรณาการเครือข่ายองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ
3. เพิ่มศักยภาพมาตรฐานกลไกการบริหารจัดการระบบงานและกระบวนการทํางานที่สําคัญ รวมทั้งการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลและระบบจัดการองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน
4. พัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพคู่คุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรมีสมรรถนะสูง มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โครงสร้าง (Structure)
วัฒนธรรมองค์กร

บุคลากร

นางสาวกชวรรณ จันทร์เณร
อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

นางสาวธันยนันท์ ชูประเสริฐโชค
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
นางสาวสินีนาถ กอไพศาล
รองอัยการจังหวัด

เอกสารเผยแพร่

ติดต่อหน่วยงาน

ตั้งอยู่ อาคารสำนักงานอัยการจังหวัดหัวหิน
166/7 ซอยหัวหิน 2 ตำบลหัวหิน อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โทรศัพท์ 032-520447, 032-520448
โทรสาร 032-520447
e-mail : huahin-lawaid@ago.go.th