ตรวจเยี่ยมศูนย์อัยการ ณ  เทศบาลตำบลห้วยพลู วันที่ 6 มิถุนายน 2566

      สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐม  เข้าร่วมกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ  สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา    3  มิถุนายน  2566 ณ องค์พระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

ตรวจเยี่ยมศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนเทศบาลตำบลสามง่าม อำเภอดอนตูม วันที่ 23 พฤษภาคม 2566

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2566 เวลา 13.30 น.
ท่านอลงกรณ์ นาคประเสริฐ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิฯจังหวัดนครปฐม มอบหมายให้ท่านธนเสฏฐ์ อ่อนละเอียด รองอัยการจังหวัด นายธีธัช แสงประทุม นิติกรปฏิบัติการและนายสมใจ วงษ์ชมพู ลงพื้นที่ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน บริเวณ หมู่ที่4 ตำบลบางเลน อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม กรณีที่ตา-ยายร้องต่อสื่อมวลชน
เนื่องจากบุตรชายประสบอุบัติเหตุทางจราจรได้รับบาดเจ็บสาหัสเป็นผู้ป่วยติดเตียงและคู่กรณีไม่เคยมาติดต่อดูแล ครอบครัวยากจนไม่มีรายได้ อีกทั้งไม่ทราบความคืบหน้าทางคดี
โดยทางอัยการคุ้มครองสิทธิฯจังหวัดนครปฐมได้เข้าให้คำปรึกษาทางกฎหมาย โดยจะประสานหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง เช่น สนง.ยุติธรรมจังหวัด , พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัด เพื่อให้การช่วยเหลือเยียวยาเบื้องต้นตามกฎหมาย
และในส่วนความคืบหน้าทางคดีได้ประสานไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อติดตามสำนวน และสำหรับกรณีเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนทางอัยการคุ้มครองสิทธิฯจะดำเนินการไกล่เกลี่ยหรือจะจัดทนายความอาสาเพื่อให้การช่วยเหลือทางกฎหมายในชั้นศาลต่อไป

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐม จัดโครงการฝึกอบรมทางกฎหมายแก่บุคคลกลุ่มต่าง ๆ ประจำปีงบประมาณ 2566 (ครั้งที่ 1) ร่วมกับโรงเรียนภัทรญาณวิทยา อบรมความรู้ทางกฎหมายให้กับน้อง ๆ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 และ 5

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐม ร่วมกับสำนักงานอัยการภายในอาคารสำนักงานอัยการจังหวัดนครปฐมในพิธีบำเพ็ญกุศลเพื่อถวายพระพรแด่สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าพัชรกิตติยาภา นเรนทิราเทพยวดี กรมหลวงราชสาริณีสิริพัชร มหาวัชรราชธิดา เมื่อวันที่ 10 มกราคม 2566

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐม ออกตรวจเยี่ยมศูนย์คุ้มครองสิทธิที่ตั้งไว้ทั้ง 7 ศูนย์ ประจำไตรมาส 1 เพื่อเช็คความพร้อมในการให้บริการปรึกษาปัญหากฎหมายแก่ประชาชน

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐมเข้าร่วมกิจกรรมเนื่องในวันคล้ายวันพระบรมราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม 2565  ณ บริเวณลานองค์พระปฐมเจดีย์ จังหวัดนครปฐม

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐมเข้าร่วมกิจกรรมน้อมรำลึก  เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว 23 ตุลาคม 2565  ณ บริเวณพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ศาลากลางจังหวัดนครปฐม อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐมเข้าร่วมกิจกรรมน้อยรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ เนื่องในวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช     บรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม 2565  ณ บริเวณลานองค์พระปฐมเจดีย์ อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม

เกี่ยวกับสำนักงาน

ประวัติสำนักงาน

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด มีชื่อย่อว่า สคช. เป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด  มีอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี เป็นหัวหน้าหน่วยงาน ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑ เมษายน พ.ศ.๒๕๕๗ ตามประกาศคณะกรรมการอัยการ  เรื่อง  การแบ่งหน่วยงานและการกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด(ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ.๒๕๕๖ ลงวันที่ ๑๗ ธันวาคม ๒๕๕๖ เดิมชื่อว่า สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน  ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕ ปัจจุบันในส่วนภูมิภาคมีสำนักงาน สคช.ประจำจังหวัด ๗๕ แห่ง และมี สคช.จังหวัดสาขา จำนวน ๓๐ แห่ง

การให้บริการ
                    ๑.งานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
                    ๒.งานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายด้านอรรถคดีแก่ประชาชน
                    ๓.งานไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท
                    ๔.งานการบังคับคดีของหน่วยงานของรัฐ
                    สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิประชาชน (สคช.) จังหวัดนครปฐมจัดตั้งขึ้นตามคำสั่งกรมอัยการที่๑๗๔/๒๕๒๕ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความ    คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนเพื่อลดปัญหาข้อขัดแย้ง ลดช่องว่างระหว่างประชาชน  ผู้ยากไร้และกำหนดให้ตั้งสำนักงานคุ้มครองสิทธิฯดังกล่าวขึ้น ณ สำนักงานอัยการสูงสุด กรุงเทพมหานคร และที่สำนักงานอัยการทั่วราชอาณาจักรสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายการเผยแพร่ความรู้ทางด้านสิทธิมนุษยชนและความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนศึกษาวิจัยและพัฒนารูปแบบวิธีการและแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการดังกล่าวสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) มีฐานะเป็นกองในสังกัดราชการบริหารส่วนกลางของสำนักงานอัยการสูงสุด
          ต่อมาวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๕๖ คณะกรรมการอัยการได้ออกประกาศคณะกรรมการอัยการ เรื่อง การแบ่งหน่วยงานและการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๕๕๖ กำหนดให้จัดตั้งสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดขึ้นทุกจังหวัด โดยสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดมีอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีเป็นผู้บังคับบัญชาและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการมีอำนาจและหน้าที่ ดังต่อไปนี้
          (ก)  รับผิดชอบการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน  การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนภายในเขตท้องที่จังหวัดนั้น  ๆ ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด
          (ข)  รับผิดชอบการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายด้านอรรถคดีแก่ประชาชนภายในเขตท้องที่จังหวัดนั้น ๆ รวมถึงการดำเนินคดีทั้งปวงในอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุดเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลจังหวัด ศาลจังหวัดสาขา หรือหน่วยงานที่เรียกชื่ออย่างอื่นในศาลจังหวัดแล้วแต่กรณี ทั้งนี้ตามกฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ และคำสั่งว่าด้วยการนั้น
          (ค)  รับผิดชอบการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอรรถคดี การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ประชาชนภายในเขตท้องที่จังหวัดนั้น ๆ ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด
          (ง)  รับผิดชอบงานศูนย์กลางระบบฐานข้อมูลลูกหนี้ตามคำพิพากษาของหน่วยงานของรัฐและจำเลยที่ถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษา  งานสำรวจตรวจสอบข้อมูลทรัพย์สินและสถานะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของหน่วยงานของรัฐและจำเลยที่ถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาและงานการบังคับคดีแพ่ง คดีปกครอง และคดีอาญาเฉพาะในส่วนของการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุดภายในเขตท้องที่จังหวัดนั้น ๆ ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด
          (จ)  รับผิดชอบการดำเนินคดีทั้งปวงอันเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง คดีปกครอง และคดีอาญาเฉพาะในส่วนของการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุดภายในเขตท้องที่จังหวัดนั้น ๆ ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด
          (ฉ)  ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
          สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดได้เริ่มให้บริการประชาชนและหน่วยราชการ   อื่น ๆ ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน  ๒๕๕๗  พร้อมกันทั่วประเทศ โดยสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐม  มีนางสาวปรางรัตน์ แขกเพ็ง ดำรงตำแหน่งอัยการจังหวัดสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐม

อำนาจหน้าที่

อำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
๑.การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งตั้งให้เป็นผู้จัดการมรดก
๒.การร้องขอให้ศาลสั่งให้คนวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ
๓.การร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ที่ไปจากภูมิลำเนา  หรือถิ่นที่อยู่เป็นคนสาบสูญ
๔.การร้องขอให้ศาลตั้งผู้อื่นนอกจากสามีหรือภริยาเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์
๕.การร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมฆะ
๖.ยกคดีขึ้นว่ากล่าวปฏิเสธความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย
๗.การร้องให้ศาลสั่งถอนอำนาจปกครอง
๘.การร้องขอให้ศาลตั้งผู้ปกครองม
๙.การร้องขอให้ศาลถอนผู้ปกครอง
๑๐.การร้องขอให้ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้รับบุตรบุญธรรม
๑๑.เป็นโจทก์ฟ้องคดีที่กฎหมายห้ามมิให้ราษฎรฟ้อง(คดีอุทลุม) เช่น ห้ามมิให้ฟ้องบุพการี
๑๒.การร้องขอให้ศาลตั้งผู้ชำระบัญชี กรณีที่มีการเลิกสมาคมและไม่มีผู้ชำระบัญชี

งานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย
                สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐมได้ประสานความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  เพื่อให้บริการด้านคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน โดยจัดตั้งศูนย์ปรึกษากฎหมาย  ๗ ศูนย์ ดังนี้
๑.ศูนย์เทศบาลเมืองนครปฐม ต.นครปฐม อ.เมือง จ.นครปฐม (เปิด ๑๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓)
๒.ศูนย์องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งกระพังโหม  อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม (เปิด ๑๖ มิถุนายน ๒๕๕๓)
๓.ศูนย์เทศบาลตำบลสามง่าม อ.ดอนตูม จ.นครปฐม (เปิด ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๔)
๔.ศูนย์เทศบาลเมืองไร่ขิง ต.ไร่ขิง อ.สามพราน จ.นครปฐม (เปิด ๑๘ มีนาคม ๒๕๕๔)
๕.ศูนย์องค์การบริหารส่วนตำบลบางระกำ อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม (เปิด ๘ เมษายน ๒๕๕๔)
๖.ศูนย์เทศบาลตำบลห้วยพลู  อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม (เปิด ๑๖ สิงหาคม ๒๕๕๔)
๗.ศูนย์เทศบาลตำบลบางเลน อ.บางเลน จ.นครปฐม (เปิด ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕)
รวมทั้งให้การออกเผยแพร่และให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่ประชาชนทั่วไป และในสถานศึกษา ภายในเขตท้องที่จังหวัดนครปฐม

งานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายด้านอรรถคดีแก่ประชาชน
                  สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐม           จัดทนายความอาสาให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายด้านอรรถคดีเฉพาะคดีแพ่งแก่ประชาชนที่ยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม(กรณีประชาชนมีรายได้ไม่เกิน 15,000 บาทต่อเดือน)
งานไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท

                   วิถีทางที่สามารถแก้ไขความขัดแย้งหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้นกับคู่กรณีผู้พิพาท แทนการนำคดีขึ้นสู่ศาลคือการใช้กระบวนการยุติข้อพิพาททางเลือก  ด้วยวิธีการประนอมข้อพิพาทนอกศาล  โดยใช้
๑.คณะกรรมการไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทหมู่บ้าน
๒.คณะกรรมการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทตามกฎกระทรวงว่าด้วยการดำเนินการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททางแพ่ง พ.ศ.๒๕๕๓ (ระดับอำเภอหรือจังหวัด)
สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐมช่วยไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาทแก่คู่กรณีผู้พิพาททั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา และจัดอบรมให้ความรู้ด้านกฎหมายแก่คณะกรรมการไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาททั้งในระดับหมู่บ้าน ระดับอำเภอ และจังหวัด

งานบังคับคดีของหน่วยงานของรัฐสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐม รับผิดชอบ ดังนี้
๑.งานศูนย์กลางระบบฐานข้อมูลลูกหนี้ตามคำพิพากษาของหน่วยงานของรัฐและจำเลยที่ถูกยึดทรัพย์ใช้ค่าปรับตามคำพิพากษา
๒.งานสำรวจตรวจข้อมูลทรัพย์สินและสถานะของลูกหนี้ตามคำพิพากษาของหน่วยงานของรัฐและจำเลยที่ถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษา
๓.งานการบังคับคดีแพ่ง คดีปกครอง และคดีอาญาเฉพาะในส่วนของการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษา ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุด
๔.การดำเนินคดีทั้งปวง อันเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง คดีปกครองและคดีอาญา เฉพาะในส่วนของการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษา  ตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุด

วิสัยทัศน์ (Vision)

“องค์กรนำในการใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม”

พันธกิจ (Missions)

1. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานงานตามภารกิจ ด้านการอํานวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทาง กฎหมายแก่ประชาชนให้มีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา
2. พัฒนาความร่วมมือ บูรณาการเครือข่ายองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ
3. เพิ่มศักยภาพมาตรฐานกลไกการบริหารจัดการระบบงานและกระบวนการทํางานที่สําคัญ รวมทั้งการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลและระบบจัดการองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน
4. พัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพคู่คุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรมีสมรรถนะสูง มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โครงสร้าง (Structure)
วัฒนธรรมองค์กร

                           


กระบวนงาน

ขั้นตอนกระบวนการ
1.กระบวนการช่วยเหลือให้คำปรึกษา
-ประชาชน  ยื่นคำร้องขอรับคำปรึกษา
-ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดยพนักงานอัยการ หรือนิติกร หรือทนายอาสา

2.กระบวนการรวบรวมตรวจสอบข้อเท็จจริงและดำเนินการยื่นคำร้องแต่งตั้งผู้จัดการมรดก
-ผู้ร้อง  ยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือตั้งผู้จัดการมรดก
-สอบสวนผู้ร้อง ๑ ชั่วโมง รวมทั้งทายาทอื่นของผู้ตาย (เอกสารครบถ้วน)
-พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ภายใน ๗ วัน
-ส่งหนังสือแจ้งวันนัดไต่สวนให้ผู้ร้องทราบภายใน ๒ สัปดาห์
-ศาลนัดไต่สวนภายในเวลาประมาณ ๒ เดือน นับแต่วันยื่นคำร้อง (ศาลประกาศหนังสือพิมพ์และนัดวันตามเวลาของศาล)
-ตามคำร้องขอและผู้ร้องได้รับคำสั่งศาล (ภายในวันนั้นหรือวันที่ศาลนัดหากเป็นคำสั่งถึงที่สุดให้รออีก ๓๐ วันนับตั้งแต่วันได้รับคำสั่งของศาล)

3.กระบวนการดำเนินการยื่นคำร้องคนสาบสูญ
-ผู้ร้อง  ยื่นคำร้องขอรับความช่วยเหลือและมีเอกสารหลักฐานครบถ้วน ใช้เวลา ๒ ชั่วโมง
-พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาล ภายใน ๗ วัน
-ส่งหนังสือแจ้งวันนัดไต่สวนให้ผู้ร้องทราบภายใน ๒ สัปดาห์
-ศาลนัดไต่สวนภายในเวลาประมาณ ๒ เดือน นับแต่วันยื่นคำร้อง (ศาลประกาศหนังสือพิมพ์และนัดวันตามเวลาของศาล)
-ตามคำร้องขอและผู้ร้องได้รับคำสั่งศาล (ภายในวันนั้นหรือวันที่ศาลนัด)

เอกสารเผยแพร่

เอกสารที่ต้องนำมายื่นในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
1.ทะเบียนบ้านของผู้ตาย (เจ้ามรดก)
2.ทะเบียนบ้านและบัตรประจำตัวประชาชนหรือบัตรประจำตัวข้าราชการ   ของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
3.ใบมรณบัตรของผู้ตาย
4.ใบมรณบัตรของบิดามารดา กรณีบิดามารดาของผู้ตาย(เจ้ามรดก) ถึงแก่ความตายแล้ว
5.ทะเบียนสมรสและ/หรือทะเบียนหย่าของสามี หรือภริยาของผู้ตาย
6.ทะเบียนสมรส และ/หรือ ทะเบียนการหย่าของบิดามารดาของผู้ตาย
7.ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล ของทายาท และผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย
8.สูติบัตรของบุตรของผู้ตาย กรณีบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ
9.พินัยกรรมของผู้ตาย (ถ้ามี)
10.เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย เช่น โฉนดที่ดิน และสัญญาจำนอง รายการจดทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ฯลฯ เป็นต้น
11.บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรประจำตัวข้าราชการ และทะเบียนบ้านของ ผู้ให้ความยินยอมทุกคน (ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดก)

หมายเหตุ   จัดเตรียมสำเนาเอกสารทุกรายการพร้อมรับรองสำเนาถูกต้องจำนวน 3 ชุด และนำทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกไปยังสำนักงานอัยการ เพื่อลงนามในหนังสือให้ความยินยอม ในการตั้งผู้จัดการมรดก พร้อมเงินค่าธรรมเนียมในชั้นศาล

***   ในการดำเนินการพนักงานอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี บริการให้โดย ไม่เสียค่าใช้จ่าย และค่าบริการใดๆเพราะเป็นหน้าที่ของ พนักงานอัยการ ตามกฎหมาย ประชาชนที่มาขอรับบริการ คงเสียค่าธรรมเนียม ในชั้นศาล ตามที่ศาล กำหนดไว้เท่านั้น

******************************************************************************

หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่
สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย
และการบังคับคดีจังหวัดนครปฐม
 โทร.  034-258-536

 เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอรับบุตรบุญธรรม
 1. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้จะรับบุตรบุญธรรม      ถ่ายเอกสาร   4  ชุด
2. สำเนาทะเบียนบ้านของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม  ถ่ายเอกสาร   4  ชุด
3. สำเนาทะเบียนบ้านของบิดามารดาของผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม    ถ่ายเอกสาร   4  ชุด
4. สำเนาทะเบียนบ้านของสามีหรือภริยาผู้จะรับบุตรบุญธรรม   ถ่ายเอกสาร   4  ชุด
5. สำเนาใบสำคัญการสมรสของผู้จะรับบุตรบุญธรรม     ถ่ายเอกสาร   4  ชุด
6. สำเนาใบสำคัญการสมรสของบิดามารดาบุตรบุญธรรม ถ่ายเอกสาร   4  ชุด
7. สำเนาสูติบัตรผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม   ถ่ายเอกสาร   4  ชุด
8. หนังสือให้ความยินยอมของบิดาผู้จะเป็นบุตรบุญธรรม  ถ่ายเอกสาร   4  ชุด
9. หนังสือให้ความยินยอมของคู่สมรสของผู้ที่จะรับบุตรบุญธรรม ถ่ายเอกสาร   4  ชุด
8. เงินค่าธรรมเนียม

หมายเหตุ  กรณียื่นขอตั้งผู้ปกครองกับทางสำนักงานอัยการ  ต้องเป็นกรณีที่บิดา-มารดาของเด็กเสียชีวิตแล้วเท่านั้น
หากบิดา-มารดาของเด็กยังมีชีวิตอยู่ ให้ไปติดต่อสอบถามที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ที่ใกล้บ้านท่านเพื่อให้ความยินยอมในการร้องขอรับบุตรบุญธรรม
***  ในการดำเนินการพนักงานอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี บริการให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และค่าบริการใดๆเพราะเป็นหน้าที่ของ พนักงานอัยการ ตามกฎหมาย ประชาชนที่มาขอรับบริการ คงเสียค่าธรรมเนียม ในชั้นศาล ตามที่ศาล กำหนดไว้เท่านั้น

 ******************************************************************************

หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่
สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย
และการบังคับคดีจังหวัดนครปฐม
โทร. 034-258-536

เอกสารที่ต้องใช้ในการยื่นคำร้องขอเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
1. สำเนาทะเบียนบ้านพร้อมสำเนาบัตรประชาชนผู้ร้อง  ถ่ายเอกสาร  4  ชุด
2. สำเนาทะเบียนบ้านพร้อมสำเนาบัตรประชาชนหรือสำเนาบัตรผู้พิการของคนเสมือนไร้ความสามารถ   ถ่ายเอกสาร  4  ชุด
3. สำเนาสูติบัตรของคนไร้ความสามารถ  ถ่ายเอกสาร  4  ชุด
4. สำเนาใบสำคัญการสมรสพร้อมสำเนาบัตรประชาชนของ (บิดา-มารดา)  ถ่ายเอกสาร  4  ชุด
5. ใบรับรองแพทย์  ถ่ายเอกสาร  4  ชุด
6.บัตรประจำคนผู้พิการ  ถ่ายเอกสาร  4  ชุด (ถ้ามี)
7. ภาพถ่ายของผู้ไร้ความสามารถ จำนวน 4 ชุด
8. สำเนาทะเบียนบ้าน (บิดา-มารดา)  ถ่ายอกสาร  4  ชุด
9. หนังสือให้ความยินยอมของผู้มีส่วนได้เสีย (ทำที่สำนักงานอัยการ)
10. เงินค่าธรรมเนียม 

***ในการดำเนินการพนักงานอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี บริการให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และค่าบริการใดๆเพราะเป็นหน้าที่ของ พนักงานอัยการ ตามกฎหมาย ประชาชนที่มาขอรับบริการ คงเสียค่าธรรมเนียม ในชั้นศาล ตามที่ศาล กำหนดไว้เท่านั้น

 ******************************************************************************

หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่
สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย
และการบังคับคดีจังหวัดนครปฐม
โทร. 034-258-536

เอกสารที่เกี่ยวข้องในการร้องขอให้ศาลสั่งเป็นคนสาบสูญ
1. สำเนาทะเบียนบ้านพร้อมบัตรประชาชน ของผู้ขอรับบริการ
2.สำเนาทะเบียนบ้านของผู้ที่จะขอสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ซึ่งมีภูมิลำเนาหรือหายไป ในเขตอำนาจศาลแพ่ง
3. สำเนาบันทึกประจำวัน ของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับแจ้งว่าบุคคลนั้นได้หายไปจากภูมิลำเนา เกินเวลา   ที่กำหนดไว้ในกฎหมาย โดยไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
4. ข้อมูลทะเบียนราษฎรจากที่ว่าการอำเภอของคนสาบสูญ
5.ค่าธรรมเนียมศาล

***ในการดำเนินการพนักงานอัยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดี บริการให้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และค่าบริการใดๆเพราะเป็นหน้าที่ของ พนักงานอัยการ ตามกฎหมาย ประชาชนที่มาขอรับบริการ คงเสียค่าธรรมเนียม ในชั้นศาล ตามที่ศาล กำหนดไว้เท่านั้น

 ******************************************************************************

หากมีข้อสงสัยติดต่อสอบถามได้ที่
สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย
และการบังคับคดีจังหวัดนครปฐม
โทร. 034-258-536

ติดต่อหน่วยงาน

    สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดนครปฐม
            อาคารเลขที่ 1 ชั้นที่ 1 ถนนหน้าพระ  ตำบลพระปฐมเจดีย์  
อำเภอเมืองนครปฐม  จังหวัดนครปฐม รหัสไปรษณีย์  73000
 ปรึกษากฎหมาย ปรึกษาจัดการมรดก และเรื่องอื่นๆ
เบอร์โทรศัพท์    034-258-536 เบอร์โทรสาร 034-258-536
แผนที่ตั้ง (คลิ๊ก)

  LINE ID : nkpt.ago