บริการคุ้มครองสิทธิของประชาชนกรณีที่ต้องดำเนินการทางศาลและกฎหมายให้อำนาจพนักงานอัยการ เช่น

๑. การยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก ๒. การยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ๓. การตั้งผู้ปกครอง การถอนผู้ใช้อำนาจปกครอง ๔. คนไร้ความสามารถ และคนเสมือนไร้ความสามารถ ๕. บุตรบุญธรรม ๖. การดำเนินคดีอุทลุม ๗. การดำเนินคดีเกี่ยวกับมูลนิธิและสมาคม ๘. ให้คำปรึกษาปัญหากฎหมาย

การให้บริการของ สคช.จ.กระบี่ ผู้รับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหรือทรัพย์สินใดๆทั้งสิ้น เว้นแต่กรณีที่ต้องดำเนินการทางศาลผู้ร้องขอความช่วยเหลือต้องจ่ายค่าธรรมเนียมศาลเอง

ช่องทางการติดต่อขอรับความช่วยเหลือบริการด้านกฎหมายเพื่อลดความเสียงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 จากสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกระบี่

  1. ทางโทรศัพท์ 075-620862 โทรสาร 075 620861
  2. สายด่วน 1157 (เฉพาะ สฝชก.1)
  3. ทางเว็บไซต์ ้http://www.krabi.ago.go.th/krabi-lawaid
  4. ทางอีเมล์ Krabi-lawaid@ago.go.th
  5. ไลน์ ID : @670pymkx หรือ QR Code
  6. facebook : สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ จ.กระบี่
  7. เฟชไทม์ (FaceTime) : 0613862683
  8. ระบบ Cisco Webex Meeting : 165 366 9273

ในวันพฤหัสบดีที่ 21 ธันวาคม 2566 สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกระบี่ โดยนายสถาพร เมฆาสวัสดิ์ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกระบี่ และคณะทำงานได้จัด “โครงการฝึกอบรมเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับการประนอมข้อพิพาทให้แก่กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน คณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น” ณ ศาลาประชาคม อำเภอเมืองกระบี่ จังหวัดกระบี่ โดยได้รับเกียรติจากท่านอนุสิทฐ์ ชุมช่วย อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกระบี่ ท่านวนิดา ทิพย์นวจินดา อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด ท่านชัยยุทธ ทองอินทร์ รองอัยการจังหวัด ท่านคุณิตา อัญชนานันท์ รองอัยการจังหวัด ท่านปุณณดา บุญจันทร์ รองอัยการจังหวัด และท่านณัฐนนท์ ลิ่มสกุล อัยการจังหวัดผู้ช่วย สำนักงานอัยการจังหวัดกระบี่ เป็นวิทยากรบรรยายกฎหมาย ซึ่งในการจัดโครงการมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้และความเข้าใจในบทบาทหน้าที่ของผู้ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย และมีศิลปะในการไกล่เกลี่ยประนอมและระงับข้อพิพาท โดยมีผู้เข้ารับการอบรม จำนวน 180 คน

วันอังคาร ที่ 23 พฤษภาคม 2566 เวลา 14.50 น.

อัยการจังหวัดกระบี่ พร้อมด้วยอัยการจังหวัดคดีศาลแขวงกระบี่ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดกระบี่ อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิ์และช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกระบี่ ร่วมบันทึกเทปถวายพระพรเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสุทิดา พัชรสุธาพิมลลักษณ พระบรมราชินี ณ ห้องส่ง สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย จังหวัดภูเก็ต

ข่าวประชาสัมพันธ์

เกี่ยวกับสำนักงาน

ประวัติความเป็นมา

สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน มีชื่อย่อว่า สคช. ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕ ในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด ตามคำสั่งของกรมอัยการที่ ๑๗๔/๒๕๒๕ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕

            วัตถุประสงค์ของการจัดตั้ง เพื่อคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ผลประโยชน์และให้ความช่วยเหลือประชาชนทางด้านกฎหมาย ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ คณะรัฐมนตรีได้มีมติโอนโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในชนบทเขตยากจน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักนโยบายและแผนมหาดไทย มาให้สำนักงานอัยการสูงสุดรับผิดชอบดำเนินงานสืบมา ในวันที่ ๒๗ สิงหาคม ๒๕๒๗ คณะรัฐมนตรีได้มีมติโอนงานช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมาให้ สคช. สำนักงานอัยการสูงสุด รับผิดชอบดำเนินการ วิธีดำเนินการได้ดำเนินการตามแนวนโยบายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ การพิจารณาพื้นที่เป้าหมายดำเนินงานโดยนำเอาปัญหาที่แท้จริงของคนในท้องถิ่นที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและแต่ละพื้นที่เป็นตัวกำหนดพื้นที่ปฏิบัติการ โดยสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำสั่งจัดตั้งสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนประจำจังหวัดขึ้นทุกจังหวัดทั่วประเทศ เป็นการให้บริการฟรี ไม่เสียค่าใช้จ่ายยกเว้นค่าธรรมเนียมในชั้นศาลที่ต้องเสียตามกฎหมาย

ผลการปฏิบัติงาน

            สคช. ได้รับการคัดเลือกและยกย่องให้เป็นหน่วยงานดีเด่นระดับชาติ สาขาพัฒนาสังคม พ.ศ. ๒๕๒๙ จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชนทั้งในกรุงเทพฯและในต่างจังหวัด ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๓๕ อนุมัติให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (พ.ศ.๒๕๐๙) และจากเหตุผลดังกล่าวได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระดับชาติขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการฯได้กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นแกนกลางในการจัดตั้งองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชน

โครงสร้างองค์กร

            สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนมีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและให้ความช่วยเหลือ ทางกฎหมายแก่ประชาชนสังกัดอยู่ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ดังนี้

ส่วนกลาง ประกอบด้วย

สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (ส่วนกลาง)

– สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย

– สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ

– สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ

– สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค

– สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ๑ (รัชดาภิเษก)

– สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ๒ (หลักเมือง)

– สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ๓ (ธนบุรี)

– สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (มีนบุรี)

ส่วนภูมิภาค

            เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆได้รับการบริการทางกฎหมายจากพนักงานอัยการโดยเสมอภาคและทั่วถึงกัน สำนักงานอัยการสูงสุดจึงมีคำสั่งให้จัดตั้งสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนประจำจังหวัด (สคช.จังหวัด) ขึ้น โดยมีหน้าที่สำคัญคือ เผยแพร่ความรู้และให้คำปรึกษาปัญหากฎหมายแก่ประชาชน จัดหาทนายความช่วยเหลือในทางอรรถคดี แก่ประชาชนผู้ยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนงานการประนอมข้อพิพาท

สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในส่วนภูมิภาคประกอบด้วย

– สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย ภาค ๑-๙ จำนวน

๙ แห่ง

– สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนประจำจังหวัด (สคช.จังหวัด) ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานอัยการจังหวัด จำนวน ๗๕ แห่ง

            – สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ประจำจังหวัดสาขา (สคช.จังหวัดสาขา) ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานอัยการจังหวัดประจำอำเภอ จำนวน ๓๐ แห่ง

สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีกระทรวงหรือทบวงใดอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี มีอัยการสูงสุดเป็นผู้บังคับบัญชาราชการฝ่ายอัยการและรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. ๒๕๔๓ และพระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ. ๒๕๔๐ ได้กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาทั้งปวง ดำเนินคดีแพ่งและให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ หรือสำนักงานอัยการสูงสุด รวมทั้งดำเนินการเกี่ยวกับคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน เผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน เป็นต้น
สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน(สคช.) เป็นส่วนราชการในสังกัดสำนักงานอัยการสูงสุด มีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน มีอธิบดีอัยการฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย เป็นผู้รับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในกรุงเทพมหานคร (ส่วนกลาง) มีหน่วยงานที่อยู่ในความดูแลรับผิดชอบที่เป็นสำนักงานอัยการพิเศษฝ่าย ๕ ฝ่าย ได้แก่ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย, สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ, สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ๑ (รัชดาภิเษก), สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ๒ (หลักเมือง) และสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ๓ (ธนบุรี) นอกจากนั้นยังมีสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนประจำศาลจังหวัดมีนบุรีอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ๑ (รัชดาภิเษก) อีกด้วย
สำหรับในต่างจังหวัด (ส่วนภูมิภาค) มีสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนจังหวัดทุกจังหวัดทั่วราชอาณาจักรเรียกชื่อย่อ ๆ ว่า “สคช.จังหวัด” โดย สคช. จังหวัดเป็นส่วนราชการหนึ่งของสำนักงานอัยการจังหวัด

หลักเกณฑ์และวิธีการที่ประชาชนจะขอรับความช่วยเหลือ
การขอรับความช่วยเหลือ

๑.บุคคลที่มีสิทธิขอรับความช่วยเหลือ ได้แก่บุคคลที่ถูกโต้แย้งสิทธิหรือหน้าที่ของตนตามกฎหมายแพ่งหรือผู้ที่จะต้องใช้สิทธิทางศาล เพื่อขอความรับรอง คุ้มครอง บังคับตามสิทธิของตนที่มีอยู่ หรือจะกระทำการ หรือดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่งได้ต่อเมื่อผู้นั้นได้ขออนุญาต หรือให้ศาลแสดงหรือรับรองสิทธิของตนเสียก่อน เช่น ขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก ขอให้ศาลตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ เป็นต้น

๒.คดีที่อัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ ได้แก่ คดีซึ่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ เช่น

๒.๑ร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก

๒.๒ร้องขอต่อศาลให้มีคำสั่งอนุญาตให้มีการรับบุตรบุญธรรม การเลิกรับบุตรบุญธรรม

๒.๓ร้องขอให้ศาลตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ และร้องขอให้ศาลถอนผู้ปกครอง

๒.๔ร้องขอให้ศาลสั่งถอนอำนาจปกครอง

๒.๕ร้องขอให้ศาลสั่งให้คนวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ และการร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ

๒.๖ร้องขอให้ศาลสั่งให้บุคคลซึ่งมีจิตฟั่นเฟือน หรือการพิการและไม่สามารถประกอบการงานของตนเองเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และการร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งที่สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ

๒.๗ร้องขอให้ศาลสั่งให้ทำพลางตามที่จำเป็น เพื่อจัดการทรัพย์สินของบุคคลที่ไปจากภูมิลำเนาถิ่นที่อยู่

๒.๘ร้องขอให้ศาลสั่งให้ผู้ที่ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ เป็นคนสาบสูญ

๒.๙ร้องขอให้ศาลพิพากษาว่าการสมรสเห็นโมฆะ

๒.๑๐เป็นโจทก์ฟ้องคดีที่กฎหมายห้ามมิให้ราษฎรฟ้อง เช่น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๕๖๒ ห้ามมิให้ฟ้องผู้บุพการีของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญา แต่เมื่อผู้นั้นหรือญาติสนิทร้องขอ อัยการจะยกขึ้นว่ากล่าวก็ได้

๓.สถานที่ขอรับความช่วยเหลือ ผู้ร้องขอความช่วยเหลือจะขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) มีหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือตั้งอยู่หลายแห่งดังนี้

ส่วนกลาง

สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) มีฐานะเป็นกองในสังกัดราชการบริหารส่วนกลางของสำนักงานอัยการสูงสุด มีที่ทำการในเขตกรุงเทพมหานครรวม ๔ แห่ง

๑.(สคช.)สำนักงานอัยการสูงสุด (อาคารถนนรัชดาภิเษก) ตั้งอยู่ที่ถนนรัชดาภิเษก แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ มีส่วนราชการ ๑ ฝ่าย และ ๔ สำนักงาน คือ

๑.๑ฝ่ายกิจการทั่วไป มีหน้าที่รับผิดชอบงานธุรการ งานบริหารงานบุคคล งานงบ ประมาณ งานการเงินและบัญชี งานเกี่ยวกับอาคาร สถานที่ พัสดุและยานพาหนะของสำนักงาน ตลอดจนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับมอบหมาย

๑.๒สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย มีหน้าที่รับผิดชอบงานแผน งานของสำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนดตลอดจนงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง หรือได้รับมอบหมาย

๑.๓สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ มีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือดำเนินการทาง ศาลแก่ประชาชน หรือนิติบุคคลตามกฎหมาย ซึ่งกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ เช่น ร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก เป็นต้น

ทั้งนี้ โดยมีเขตอำนาจเฉพาะในกรณีที่ผู้ร้องหรือมีข้อมีพิพาทเกิดขึ้นในพื้นที่เขตพระนคร ดุสิต บางซื่อ ดอนเมือง หลักสี่ บางกะปิ บึงกุ่ม จตุจักร พญาไท ราชเทวี ห้วยขวาง ดินแดง บางเขน (เฉพาะแขวงอนุสาวรีย์) วังทองหลาง ลาดพร้าว (เฉพาะแขวงลาดพร้าว) และสายไหม (เฉพาะแขวงคลองถนน)

๑.๔สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ๑ มีหน้าทีให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน โดยการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การช่วยเหลือในการทำนิติกรรมและสัญญาการประนอมข้อพิพาท การช่วยเหลือทางอรรถคดี เป็นต้น ทั้งนี้โดยมีเขตอำนาจทั่วประเทศ ยกเว้นเขตพื้นที่ในข้อ ๒,๓ และ ๔

๒.(สคช.)สำนักงานอัยการสูงสุด (อาคารหลักเมือง) ตั้งอยู่ที่ถนนหน้าหับเผย แขวงพระบรมมหาราชวัง เขตพระนคร กรุงเทพฯ มีส่วนราชการ ๑ แห่ง คือ

๒.๑สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ๒ มีหน้าที่เช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ ในข้อ๑.๓ และ ๑.๔ ทั้งนี้ โดยมีเขตอำนาจเฉพาะในกรณีที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาหรือมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ เขตบางรัก ปทุมวัน ป้อมปราบศัตรูพ่าย พระโขนง บางนา ยานนาวา สัมพันธวงศ์ คลองเตย วัฒนา ประเวศ สวนหลวง สาธร และบางคอแหลม และดำเนินคดีคุ้มครองสิทธิของประชาชนตามอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการที่อยู่ในอำนาจ พิจารณาของศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เช่น ร้องขอให้ศาลถอนหรือตั้งผู้ปกครองหรือร้องขอให้ศาลสั่งให้คนวิกลจริต เป็นคนไร้ความสามารถ เป็นต้น

๓.(สคช.)สำนักงานอัยการสูงสุด (อาคารธนบุรี) ตั้งอยู่ที่ถนนเอกชัย แขวงบางขุนเทียน เขตจอมทอง กรุงเทพฯ มีส่วนราชการ ๑ แห่ง คือ

๓.๑สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ๓ มีหน้าที่เช่นเดียวกันที่กำหนดไว้ในข้อ ๑.๓ และ ๑.๔ทั้งนี้ โดยมีเขตอำนาจเฉพาะในกรณีที่ผู้ร้องขอมีภูมิลำเนาหรือมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในเขตพื้นที่ เขตคลองสาน ตลิ่งชัน ทวีวัฒนา ธนบุรี บางกอกน้อย บางพลัด บางกอกใหญ่ บางขุนเทียน บางบอน จอมทอง ภาษีเจริญ บางแค ราษฎร์บูรณะ ทุ่งครุ และหนองแขม

๔.(สคช.)สำนักงานอัยการประจำศาลจังหวัดมีนบุรี ตั้งอยู่ที่ถนนสีหบุรานุกิจ แขวงมีนบุรี เขตมีนบุรี กรุงเทพฯ มีหน้าที่เช่นเดียวกับที่กำหนดไว้ในข้อ ๑.๓ และ ๑.๔

ทั้งนี้ โดยมีเขตอำนาจเฉพาะในกรณีที่ผู้ร้องมีภูมิลำเนาหรือมีข้อพิพาทเกิดขึ้นในเขตพื้นที่เขตมีนบุรี คลองสามวา หนองจอก ลาดกระบัง บางเขน (เฉพาะแขวงท่าแร้ง) สายไหม (เฉพาะแขวงสายไหม, แขวงออเงิน) สะพานสูง คันนายาว ลาดพร้าว (เฉพาะเขตวงจรเข้บัว) สำหรับต่างจังหวัดนั้น ท่านสามารถติดต่อได้ที่สำนักงานอัยการจังหวัดทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร

ส่วนภูมิภาค

สามารถติดต่อได้ที่สำนักงานอัยการจังหวัดทุกแห่งทั่วราชอาณาจักร

วิสัยทัศน์ (Vision)

“องค์กรนำในการใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม”

พันธกิจ (Missions)

1. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานงานตามภารกิจ ด้านการอํานวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทาง กฎหมายแก่ประชาชนให้มีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา
2. พัฒนาความร่วมมือ บูรณาการเครือข่ายองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ
3. เพิ่มศักยภาพมาตรฐานกลไกการบริหารจัดการระบบงานและกระบวนการทํางานที่สําคัญ รวมทั้งการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลและระบบจัดการองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน
4. พัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพคู่คุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรมีสมรรถนะสูง มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โครงสร้าง (Structure)
วัฒนธรรมองค์กร

บุคลากร

นายสถาพร เมฆาสวัสดิ์
อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกระบี่

นางสาววนิดา ทิพย์นวจินดา
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด

นายชัยยุทธ ทองอินทร์
รองอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกระบี่

นางสาวอลิส ปาทาน
นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ รักษาการในตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกระบี่

นายธรรมรัตน์ นันทมาศ
นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ

นางสาวขวัญรตา เหมหา
นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ

นายปฐมพงศ์ กิ้มเท่ง
นิติกรปฎิบัติการ

นายธนกรณ์ เอกเพชร
นิติกรปฏิบัติการ

นายชิษณุพงศ์ ลีวานิชย์
นิติกรปฏิบัติการ

นายธวัชชัย คงด้วง

นายวิเชษฐ์ จางแสง

เอกสารเผยแพร่

ติดต่อหน่วยงาน

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดกระบี่ (สคชจ.กระบี่)
26/9 ถนนวัชระ ตำบลกระบี่ใหญ่ อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ 81000
E-Mail : krabi-lawaid@ago.go.th
โทรศัพท์ 075-620862
โทรสาร 075-620861