ข่าวประชาสัมพันธ์/กิจกรรม

วันศุกร์ที่ 1 ธันวาคม 2566 นายวัฒนา ชั้นบุญ อธิบดีอัยการ พร้อมด้วยคณะ ได้จัดประชุมในรูปแบบสภากาแฟกับสำนักงาน ป.ป.ช. เพื่อหารือ ปัญหา อุปสรรคต่าง ๆ
ในการดำเนินงานคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ระหว่างหน่วยงาน และสร้างสัมพันธภาพที่ดีในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

วันพฤหัสบดี ที่ 30 พฤศจิกายน 2566 นายศิริศักดิ์ พจนสิทธิ์ อธิบดีอัยการภาค 9 ให้เกียรติมอบรางวัล ผู้ชนะการประกวดตั้งชื่อห้องประชุมสำนักงานอัยการภาค 9 ตามโครงการประกวดตั้งชื่อห้องประชุมสำนักงานอัยการภาค 9 จำนวน 3 ห้อง (ชั้น 7 จำนวน 2 ห้อง ชั้น 3 จำนวน 1 ห้อง) เพื่อประโยชน์ในการสื่อสารในการใช้ห้องประชุมทั้ง 3 ห้อง และเพื่อให้ได้ชื่อที่มีความเหมาะสม มีความหมาย เป็นสัญลักษณ์ เอกลักษณืสอดคล้องกับวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของจังหวัดสงขลา ซึ่งคณะกรรมการได้พิจารณาแล้ว ผลการตัดสิน ดังนี้

  • รางวัลชนะเลิศ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 7 คือ ห้อง “สองทะเล” ผู้เสนอชื่อ คือ นางขวัญตา พระธาตุ
    ตำแหน่ง นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการพิเศษ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9
  • รางวัลชนะเลิศ ห้องประชุมเล็ก ชั้น 7 คือ ห้อง “ซิงกอรา” ผู้เสนอชื่อ คือ นางสาวกนกวรรณ หลำเส้ง
    ตำแหน่ง นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ สำนักงานอัยการภาค 9
  • รางวัลชนะเลิศ ห้องประชุมเล็ก ชั้น 3 คือ ห้อง “แหลมสน” ผู้เสนอชื่อ คือ นายธีระเดช กาลสงค์
    ตำแหน่ง เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติงาน สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9

วันอาทิตย์ที่ 12 พฤศจิกายน 2566 นายวัฒนา ชั้นบุญ อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9 ได้ร่วมพิธีสมโภชองค์พระกฐินพระราชทาน
สำนักงานอัยการสูงสุด ประจำปี 2566 โดยมีข้าราชการฝ่ายอัยการ บุคลากรสำนักงานอัยการสูงสุด และพุทธศาสนิกชนร่วมพิธี พร้อมรับฟังปาฐกถาธรรม
โดยพระราชวัชรธรรมภาณี เจ้าอาวาสวัดชลประทานรังสฤษดิ์ ณ อาคารปัญญานันทานุสรณ์ วัดชลประทานรังสฤษดิ์ ตำบลบางตลาด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี

วันที่ 2 พฤศจิกายน 2566 นายวัฒนา ชั้นบุญ สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9 พร้อมด้วยคณะอัยการ เข้าแสดงความยินดีเนื่องในโอกาสอธิบดีผู้พิพากษา
ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ย้ายมาดำรงตำแหน่งใหม่และหารือข้อข้าราชการ เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีในการประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกระบวนการยุติธรรม ณ ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9

เกี่ยวกับสำนักงาน

ประวัติความเป็นมา

             เนื่องจากการทุจริตและประพฤติมิชอบมีผลกระทบต่อเสถียรภาพความมั่นคงทางสังคม และเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน และมีแนวโน้มที่จะทวีความรุนแรงและก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินของแผ่นดินเป็นจำนวนมากส่งผลให้มีคดีทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้นสู่ศาลมากขึ้น จึงได้มีการจัดตั้งศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบขึ้น เพื่ออำนวยความยุติธรรมในคดีทุจริต และประพฤติมิชอบให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ต่อมามี  พระราชกฤษฎีกากำหนดจำนวนที่ตั้ง เขตศาล และวันเปิดทำการของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบ พ.ศ. 2560 มาตรา 3 (9) ประกอบมาตรรา 5 ให้เปิดทำการศาลอาญาคดีทุจริตและพฤติมิชอบภาค 9 ตั้งแต่วันที่  1 เมษายน 2560 เป็นต้นไป
ต่อมาสำนักงานอัยการสูงสุดได้ปรับปรุงหน่วยงานภายใน กำหนดให้มีสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค เพื่อให้เป็นไปตามการเปิดทำการศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาคนั้น  และเพื่อให้การดำเนินงานของสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาคเป็นไปด้วยความเรียบร้อยมีประสิทธิภาพและเหมาะสมแก่ราชการของสำนักงานอัยการสูงสุด อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 7 และมาตรา 27 วรรคหนึ่ง (1) (2) และวรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ. 2553 และประกาศคณะกรรมการอัยการ เรื่องการแบ่งหน่วยงานและการกำหนดอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ. 2554 ข้อ 5 จึงออกคำสั่งให้เปิดทำการสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9 และสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปราบปรามการทุจริต 1 ภาค 9   เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2560 โดยมีสถานที่ตั้งอยู่ที่ อาคารสำนักงานอัยการภาค 9 ชั้น 4 และให้บรรดาคดีอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบที่อยู่ในเขตอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลอาญาทุจริตและประพฤติมิชอบภาค 9 ซึ่งสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต หรือสำนักงานอัยการยื่นรับไว้ดำเนินการแต่ยังไม่ได้ยื่นฟ้องต่อศาล ให้โอนไปยังสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9

วิสัยทัศน์ (Vision)

“องค์กรนำในการใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม”

พันธกิจ (Missions)

1. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานงานตามภารกิจ ด้านการอํานวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทาง กฎหมายแก่ประชาชนให้มีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา
2. พัฒนาความร่วมมือ บูรณาการเครือข่ายองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ
3. เพิ่มศักยภาพมาตรฐานกลไกการบริหารจัดการระบบงานและกระบวนการทํางานที่สําคัญ รวมทั้งการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลและระบบจัดการองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน
4. พัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพคู่คุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรมีสมรรถนะสูง มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โครงสร้าง (Structure)
วัฒนธรรมองค์กร

คดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่อยู่ในอำนาจของสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริต

๑. คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญาความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่นหรือความผิดอื่น อันเนื่องมาจาก การประพฤติมิชอบ
๒. คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือ บุคคลที่กระทำความผิดฐานฟอกเงินที่เกี่ยวเนื่องกับความผิดตามข้อ ๑ หรือ กระทำความผิดตามกฎหมายว่าด้วย ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ กฎหมายว่าด้วยการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ หรือกฎหมายอื่นที่มีวัตถุประสงค์ในการป้องกันและปราบปราม การทุจริตหรือประพฤติมิชอบ
๓. คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษบุคคลในความผิดเกี่ยวกับการเรียก รับ ยอมจะรับ หรือ ให้ รับว่าจะให้ ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใด หรือการใช้กำลังประทุษร้ายหรือขู่เข็ญ ว่าจะใช้กำลังประทุษร้าย หรือ ใช้อิทธิพล เพื่อจูงใจหรือข่มขืนใจให้เจ้าหน้าที่ของรัฐ กระทำการ ไม่กระทำการหรือประวิงการกระทำใด ตามประมวลกฎหมายอาญาหรือ กฎหมายอื่น
๔. คดีอาญาที่ฟ้องขอให้ลงโทษเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลตามกฎหมายที่กำหนดให้เป็นคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ
๕. คดีฟ้องขอให้ลงโทษบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคล ตามข้อ ๑ ถึง ข้อ ๔ ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุนหรือผู้สมคบ
๖. คดีเกี่ยวกับการจูงใจ ไม่ยื่นบัญชีแสดงรายการทรัพย์สิน และหนี้สินและเอกสาร ประกอบ หรือจงใจยื่นบัญชีและเอกสารดังกล่าว ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อเท็จจริงทีควรแจ้งให้ทราบ
๗. คดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะเหตุว่ารวยผิดปกติหรือ มีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ

เขตพื้นที่ที่อยู่ในอำนาจของสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค ๙

๑. จังหวัดสงขลา

๒. จังหวัดพัทลุง

๓. จังหวัดตรัง

๔. จังหวัดสตูล

๕. จังหวัดปัตตานี

๖. จังหวัดยะลา

๗. จังหวัดนราธิวาส

เขตพื้นที่ที่อยู่ในอำนาจของสำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค ๙

๑. สำนวนจากคณะกรรมการ ป.ป.ช.
๒. สำนวนจากคณะกรรมการ ป.ป.ท.
๓. สำนวนที่รับจากพนักงานสอบสวนซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ส่งเรื่องให้ ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (พระราชบัญญัติ ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ
ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๙/๒)
๔. สำนวนทีรับจากพนักงานสอบสวนซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ท. ส่งเรื่องให้ ดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (พระราชบัญญัติ มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและ
ปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๓๐ วรรคท้าย)
๕. สำนวนคดีอาญาจากพนักงานสอบสวนเกี่ยวกับคดีฟอกเงิน
๖. สำนวนคดีอาญาจากพนักงานสอบสวนคดีพิเศษเกี่ยวกับการฟอกเงิน
๗. พนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาหรือ กฎหมายอื่น
๗.๑ คดีที่พ้นกำหนด ๕ ปี (พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่าย บริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๒๖(๔)), (พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการ ทุจริต พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๔๔) ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ท. หรือคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไม่รับไต่สวนข้อเท็จจริง แต่คดียังไม่ขาดอายุความ
๗.๒ คดีอาญาที่เอกชนกระทำความผิดต่อเจ้าพนักงาน เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๔๓, ๑๔๔ เป็นต้น



สถิติงาน

ติดต่อหน่วยงาน

สำนักงานคดีปราบปรามการทุจริตภาค 9
อาคารสำนักงานอัยการภาค 9 ชั้นที่ 4 (ตึกเก่า)
ถนนแหลมสนอ่อน ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา 90000
โทรศัพท์ 074-312-501 โทรสาร 074-312-501
E-mail: region9-pacc@ago.go.th

เผยแพร่คำสั่งอัยการสูงสุด