ข่าวประชาสัมพันธ์

เกี่ยวกับสำนักงาน

                ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชาชน โดยเฉพาะที่มีฐานะยากจนหรือที่อยู่ในชนบทห่างไกล ถูกเอารัดเอาเปรียบในด้านเศรษฐกิจ ถูกแย่งที่ดินทำกิน การใช้อำนาจรัฐอย่างไม่เป็นธรรมจนทำให้เกิดการกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับราษฎร ฯลฯ มีมูลเหตุสำคัญมาจากความไม่รู้กฎหมายที่ควรรู้สำหรับประชาชน ทำให้คนส่วนหนึ่งมีการกระทำที่ละเมิดต่อกรอบกฎเกณฑ์ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ในขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งไม่มีความรู้ที่จะใช้กฎหมายในการปกป้องหรือพิทักษ์สิทธิและประโยชน์ของตน เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้น จึงกลายเป็นหน้าที่ของรัฐที่ต้องทุ่มเทงบประมาณจำนวนไม่น้อยลงไปในแต่ละปีเพื่อจะบรรเทา ตลอดจนขจัดปัญหาดังกล่าวให้หมดสิ้นไป

               กระทรวงมหาดไทยได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดแนวทางการดำเนินงานสร้างความเป็นธรรมด้านปัญหากฎหมายแก่ประชาชน โดยจัดให้มีการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนที่ยากไร้และไม่สามารถจัดหาทนายความด้วยตนเอง ด้วยการจัดหาทนายความอาสาสมัครทำหน้าที่แก้คดีและให้คำแนะนำทางกฎหมายโดยไม่คิดมูลค่าตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อให้สอดคล้องกับปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยที่ให้รัฐจัดหาทนายความให้แก่ผู้ยากไร้ โดยให้กรมอัยการ (ซึ่งในขณะนั้นสังกัดกระทรวงมหาดไทย) เป็นผู้รับผิดชอบ กอรปกับอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการมิใช่เพียงฟ้องความแทนแผ่นดินเท่านั้น หากแต่ยังมีหน้าที่ในการคุ้มครองสิทธิและผลประโยชน์ของรัฐและประชาชนในด้านต่าง ๆ ตามที่กฎหมายกำหนดอีกด้วย เช่น ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ กำหนดบทบาทอัยการให้มีหน้าที่คุ้มครองดูแลคนไร้ความสามารถ คนเสมือนไร้ความความสามารถ คนสาบสูญ ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองและผู้ถูกปกครอง ตรวจสอบดูแลกิจการบางอย่างที่มีผลกระทบต่อสาธารณชน เช่น นิติบุคคล มูลนิธิ สมาคม ฯลฯ  ทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ฟ้องคดีและแก้ต่างคดีให้กับหน่วยงานของรัฐ และเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ถูกฟ้องเป็นคดีแพ่งและคดีอาญา เนื่องจากการปฏิบัติการตามหน้าที่ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของแผ่นดิน ตามพระราชบัญญัติพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๔๙๘

               นอกจากนี้ ยังมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอื่น ๆ ซึ่งได้บัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของอัยการ และเป็นการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน เช่น อำนาจหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา พระราชบัญญัติล้มละลาย พระราชบัญญัติคนเข้าเมือง พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น

               จึงเป็นที่มาในการจัดตั้งสำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนขึ้น เมื่อวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕

               ต่อมาเมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ คณะรัฐมนตรีได้มีมติโอนโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในชนบทเขตยากจน ซึ่งขณะนั้นอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักนโยบายและแผน มหาดไทย และแผนการจัดตั้งสำนักงานให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ในปี พ.ศ.๒๕๒๕ ที่ยังมีปัญหาในการปฏิบัติงาน มาให้กรมอัยการรับผิดชอบดำเนินงานสืบมา

               การปฏิบัติงานของสำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนได้ดำเนินการตามแนวนโยบายที่กำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติมาด้วยดีโดยลำดับได้รับการคัดเลือกและยกย่องให้เป็นหน่วยงานดีเด่นระดับชาติ สาขาพัฒนาสังคม พ.ศ.๒๕๒๙ จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประชาชนทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด

               ในปี พ.ศ.๒๕๓๑ ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมอัยการ กระทรวงมหาดไทยกำหนดให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน เป็นส่วนราชการระดับกองตามกฎหมายของกรมอัยการ และเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน

               ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๓๔ คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ได้มีประกาศฉบับที่ ๔๗ และ ฉบับที่ ๔๙ ลงวันที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๔ แยกกรมอัยการออกจากกระทรวงมหาดไทยไปเป็นหน่วยงานไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวงใด โดยอยู่ภายใต้กำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง และเปลี่ยนชื่อจาก “กรมอัยการ” เป็น “สำนักงานอัยการสูงสุด”  และเปลี่ยนชื่อตำแหน่ง “อธิบดีกรมอัยการ” เป็น “อัยการสูงสุด” และมีปรับเปลี่ยนโครงสร้างภายใน โดยการจัดรูปองค์กรเป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการ สำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ.๒๕๓๕  มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ นอกจากการดำเนินคดีอาญา คดีแพ่ง ให้คำปรึกษาด้านกฎหมายแก่รัฐบาลและหน่วยงานของรัฐตามกฎหมายแล้ว ยังให้มีหน้าที่ ดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน คุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เผยแพร่ความรู้ทางด้านสิทธิมนุษยชน และความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนโดยให้ “สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน”(สคช.)เป็นผู้รับผิดชอบ สำหรับในส่วนต่างจังหวัดได้กำหนดให้มี สคช.จังหวัด และ สคช.จังหวัดสาขา เป็นหน่วยดำเนินการในพื้นที่

               ในช่วง ปี พ.ศ.๒๕๔๓ มีการปฏิรูประบบราชการ ได้มีการจัดรูปโครงสร้างกระทรวงยุติธรรมใหม่ด้วย โดยให้สำนักงานอัยการสูงสุด อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ต่อมารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ บัญญัติให้องค์กรอัยการเป็นองค์กรอื่นตามรัฐธรรมนูญ โดยมาตรา ๒๕๕0 กำหนดให้พนักงานอัยการมีอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติในรัฐธรรมนูญและตามกฎหมายว่าด้วยอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการและกฎหมายอื่น ดังนั้น จึงมีการตราพระราชบัญญัติองค์กรอัยการและพนักงานอัยการ พ.ศ.๒๕๕๓ กำหนดอำนาจและหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด โดยในมาตรา ๒๓(๑) กำหนดให้มีอำนาจและหน้าที่ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนในการดำเนินการทางกฎหมาย รวมตลอดทั้งในการคุ้มครองป้องกันสิทธิและเสรีภาพของประชาชน และการให้ความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชน ทั้งนี้ ในการแบ่งส่วนราชการ การกำหนดอำนาจและหน้าที่ให้ทำเป็นประกาศคณะกรรมการอัยการ

               คณะกรรมการอัยการ มีประกาศคณะกรรมการอัยการ เรื่อง การแบ่งหน่วยงาน และการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ.๒๕๕๔ ให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (สคช.) รับผิดชอบการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การเผยแพร่ความรู้ด้านสิทธิมนุษยชนและความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนระหว่างประเทศ รับผิดชอบการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอรรถคดี การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายและการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ประชาชน ทั้งยังให้มีสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนภายในเขตพื้นที่สำนักงานอัยการภาค ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด 

               ในต่างจังหวัด สำนักงานอัยการสูงสุดได้กำหนดให้มีสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนในทุกสำนักงานอัยการจังหวัดที่ตั้งอยู่ ณ ตัวจังหวัด ๗๖ แห่ง  (สคช.จังหวัด) และสำนักงานอัยการจังหวัดที่ตั้งอยู่ ณ ตัวอำเภอ ๒๙ แห่ง (สคช.สาขา) ทั่วประเทศ รวม ๑๐๕ แห่ง เพื่อให้การบริการกิจกรรมงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนเป็นไปอย่างทั่วถึงทุกภูมิภาคของประเทศ 

ต่อมาได้มีประกาศคณะกรรมการอัยการ เรื่อง การแบ่งหน่วยงาน และการกำหนดอำนาจและหน้าที่ของหน่วยงานภายในของสำนักงานอัยการสูงสุด (ฉบับที่ ๑๐) กำหนดให้มี “สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด”(สคชจ.) เป็นหน่วยงานแยกต่างหากจากสำนักงานอัยการจังหวัด ตั้งแต่วันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๗   

(เรียบเรียงจากหนังสือ “๓๐ ปี กับภารกิจอัยการ เพื่อความเป็นธรรมในสังคม”)

ภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบของ สคชจ.บึงกาฬ

สคชจ.บึงกาฬ ได้ดำเนินงานการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน โดยกำหนดกิจกรรมที่เป็นงานหลัก ได้แก่

  • ๑. การคุ้มครองสิทธิทางศาลตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ
  • ๒. การให้คำปรึกษาปัญหาทางกฎหมาย ช่วยเหลือจัดทำนิติกรรมสัญญา และประนอมข้อพิพาท
  • ๓. การช่วยเหลือทางอรรถคดีแก่ผู้ยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม โดยการจัดทนายความอาสาดำเนินการในชั้นศาล
  • ๔. สนับสนุนการประนอมข้อพิพาทระดับท้องถิ่น โดยฝึกอบรมคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ผู้นำท้องถิ่น ในการประนอมข้อพิพาท
  • ๕. เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายต่าง ๆ แก่ประชาชน เช่น ออกหน่วยเคลื่อนที่ไปตามหมู่บ้านต่างๆ ร่วมกับจังหวัดเคลื่อนที่ ร่วมกับหน่วยงานอื่นในการออกเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย ฯลฯ
  • ๖. ฝึกอบรมความรู้ทางกฎหมายแก่ประชาชนกลุ่มต่าง ๆ เช่น นักเรียน นักศึกษา ทหาร
  • ๗. การคุ้มครองผู้บริโภคด้านอรรถคดี โดยให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย เผยแพร่ความรู้ทางกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ประชาชน

  นอกจากนี้ สคชจ.บึงกาฬ ยังมีภารกิจด้านการบังคับคดี โดยรับผิดชอบการดำเนินคดีเกี่ยวกับการบังคับคดีแพ่ง คดีปกครอง และคดีอาญาเฉพาะในส่วนของการยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับตามคำพิพากษาตามที่กฎหมายบัญญัติให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุดภายในเขตท้องที่จังหวัดบึงกาฬ

วิสัยทัศน์ (Vision)

“องค์กรนำในการใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม”

พันธกิจ (Missions)

1. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานงานตามภารกิจ ด้านการอํานวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทาง กฎหมายแก่ประชาชนให้มีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา
2. พัฒนาความร่วมมือ บูรณาการเครือข่ายองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ
3. เพิ่มศักยภาพมาตรฐานกลไกการบริหารจัดการระบบงานและกระบวนการทํางานที่สําคัญ รวมทั้งการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลและระบบจัดการองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน
4. พัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพคู่คุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรมีสมรรถนะสูง มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โครงสร้าง (Structure)
วัฒนธรรมองค์กร

บุคลากร

จ้างเหมาบริการ

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดบึงกาฬ (สคชจ.บึงกาฬ)

สถิติงาน

ข้อมูลและสถิติคดี
ตารางแสดงจำนวนงานคุ้มครองสิทธิทางศาล

ปีงบประมาณต.ค.พ.ย.ธ.ค.ม.ค.ก.พ.มี.ค.เม.ย.พ.ค.มิ.ย.ก.ค.ส.ค.ก.ย.รวม
2557 4 2 10 4 5 12 7 8 6 8 8 478
2558 12 10 4 13 13 10 16 5 10 8 9 7117
2559 13 14 7 17 5 5 24 9  9  3  18  7131
2560 9  6  12  11   11  8  15  10  10 14 11  6123
2561 7 13 7 14 14 16 16 18 15 10 12 18160
2562 13 17 23 48 35 20 32 37 32 33 25 21336
2563 24 24 25 27 15 17 17 12 19 17 18 12227
2564 13 18 20 22 17 2621181210910196
25657713151617201517111218168
256610101513915871214159140
256714211512101284

ติดต่อหน่วยงาน

ที่อยู่ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดบึงกาฬ
อาคารสำนักงานอัยการจังหวัดบึงกาฬ ชั้น 1  เลขที่ 369 หมู่ที่ 1 ถนนบึงกาฬ-นครพนม
ตำบลบึงกาฬ   อำเภอเมืองบึงกาฬ   จังหวัดบึงกาฬ  38000
โทรศัพท์/โทรสาร 042-491736
E-Mail : bk-kawaid@ago.go.th