ข่าวประชาสัมพันธ์

วันที่ 1 ตุลาคม 2566 เวลา 08.00 น. นายสมเกียรติ เบ็ญจขันธ์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดร้อยเอ็ด

พร้อมข้าราชการฝ่ายอัยการ ร่วมพิธีถวายราชสักการะวันคล้ายวันสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

ณ หอประชุมจังหวัดร้อยเอ็ด

วันที่ 28 กันยายน 2566 เวลา 08.00 น. นายสมเกียรติ เบ็ญจขันธ์ อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดร้อยเอ็ด
ร่วมกับสำนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด และสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดร้อยเอ็ด พร้อมข้าราชการฝ่ายอัยการ ร่วมจัดกิจกรรมเคารพธงชาติและร้องเพลงชาติไทย เพื่อเป็นการน้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวและเป็นการสร้างความภาคภูมิใจในวันพระราชทานธงชาติไทย
ณ บริเวณหน้าเสาธง สำนักงานอัยการจังหวัดร้อยเอ็ด

เกี่ยวกับสำนักงาน

ประวัติสำนักงาน

<< ศัพท์และความหมายของคำว่า “อัยการ” >> คำว่า “อัยการ” ตามรูปศัพท์

คำว่า “อัยการ” ได้ปรากฎพบตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาในกฎมนเฑียรบาล รัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถตราไว้เมื่อวันเสาร์ เดือนห้า ขึ้นหกค่ำ ” จุลศักราช 720(พ.ศ.1901)ว่า “..จึงต้องพระราชอาญาอัยการ ทหาร พ่อเรือน ชายหญิง สมณพรหมณ์จารย์..”

ศัพท์ครั้งแรกที่พบเขียนว่า “อัยการ” แต่ต่อมามีการเขียนแตกต่างกันออกไป จนกระทั่งมาคงอยู่ ในรูปศัพท์ “อัยการ”ในปัจจุบัน เช่น ในคำพระราชปรารภในกฎหมายตราสามดวงและข้อความในลักษณะพระธรรมสาตรใช้คำว่า “พระไอยการ” ในหนังสืออัยการนิเทศเล่ม 1-2 พ.ศ.2478 – 2479 ใช้คำว่า “อัยยการนิเทศ” ในหนังสือบรรยายประวัติศาสตร์กฎหมายของหลวงสุทธิวาทนฤพุฒิ โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พ.ศ.2512 มีหลายแห่งใช้คำว่า “พระอายการ” เช่น พระอายการลักษณะเบ็ดเสร็จ

พิจารณาตามรูปศัพท์ของคำว่า “อัยการ”จะเห็นได้จากปทานุกรมกระทรวง ธรรมการ พ.ศ.2470 ว่า การเขียนในสมัยนั้นได้ใช้ตัวอักษรว่า “อัยยการ” คือมีตัว อักษร “ย” เพิ่มขึ้นอีกหนึ่งตัว ซึ่งพลตรีพระเจ้าวรวงศ์เธอกรมหมื่นนราธิปพงศ์ ประพันธ์ ทรงอธิบายว่าการที่เขียน “อัยยการ” ก็เพิ่งเขียนขึ้นเมื่อออกปทานุกรม ฉบับนี้เองแต่ก่อนไม่เคยเห็นเขียนเช่นนั้น ครั้นต่อมาพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตย สถาน พ.ศ.2493 ได้กลับใช้คำว่า “อัยการ” เมื่อยกศัพท์ว่า “อัย” หรือ “อัยย” ซึ่งเป็นคำบาลี แปลว่า “ผู้เป็นเจ้าผู้เป็นใหญ่ นาย” คำว่า “การ” คืองานหรือหน้าที่ ฉะนั้นคำว่า “อัยการ” ตามความหมายของการแยกศัพท์ ก็คืองานของ ผู้เป็นเจ้านาย หรือ งานของผู้เป็นใหญ่ แต่ความหมายในปทานุกรมหรือพจนานุกรมได้ผิดแผกออกไป คือ หมายความว่า ชื่อกรมหนึ่งซึ่งมีหน้าที่ฟ้องความแผ่นดิน หรือเจ้าหน้าที่ในกรมนั้น

คำว่า “อัยการ” ตามรูปกฎหมาย

การค้นหาที่มาของคำว่า “อัยการ” ตามกฎหมายเก่า เสด็จพระเจ้าวรวงค์ เธอ ซึ่งได้กล่าวพระนามข้างต้นนั้นได้ทรงยกพระราชปรารภในประมวลกฎหมาย รัชกาลที่ 1 และในลักษณะพระธรรมสาตร ขึ้นพิจารณาดังนี้

ในพระราชปรารภในประมวลกฎหมายรัชกาลที่ 1 มีความว่า “แลฝ่ายข้าง อาณาจักร กสัตรผู้จะครองแผ่นดินนั้นอาศัยซึ่งโบราณราชนิติกฎหมาย พระอายการ อันกสัตร แต่ก่อนบัญญัติไว้ให้เป็นบรรทัดฐานจึงพิพากษา ตราสินเนื้อความราษฎรทั้งปวงได้โดยยุติธรรม และพระราชกำหนดบท พระอายการนั้น ก็ฟั่นเฟือนวิปริตผิดซ้ำต่างกันไปเป็นอันมาก จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จัดข้าทูลอองฯ ที่มีสติปัญญาได้ 11 คน ชำระพระราช กำหนดบทพระอายการอันมีอยู่ในหอหลวง ตั้งแต่พระธรรมสาตรไปให้ถูกถ้วนตามบาลีเนื้อความผิดมิให้ผิดเพี้ยน..”

ในพระธรรมสาตรมีความว่า “อันสาขาคดีนั้น คือ ลักษณะพระราชกำหนดบทพระอายการ และพระราชบัญญัติซึ่งจัดเป็นพระราชสาตรทั้งปวง อันโบราณราชกสัตรทรงพระอุตสาหะพิจารณาคำนึง ตามพระ คำภีร์พระธรรมสาตร แล้วมีพระราชบัญญัติดัดแปลงตกแต่งตั้งเป็น พระราชกำหนดบทพระอายการไว้โดยมาตราเป็นอันมากทุก ๆ ลำดับ กสัตรมาตราบเท่าทุกวันนี้”

ภารกิจหน้าที่
การดำเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ

การดำเนินคดีอาญาในศาลเยาวชนและครบครัวมีข้อแตกต่างจากการดำเนินคดีในศาลจังหวัดหรือศาลแขวงมากมายหลายประการ สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

๑. บุคคลที่ต้องขึ้นศาลเยาวชนและครอบครัว คือ เด็กและเยาวชนที่กระทำผิดกฎหมายต่างๆ

เด็ก หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกิน ๗ ปี แต่ไม่เกิน ๑๔ ปี
เยาวชน หมายถึง บุคคลที่มีอายุ ๑๔ ปี แต่ไม่ถึง ๑๘ ปี

บุคคลใดที่กระทำความผิดต่อเด็กและเยาวชนตาม พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ.๒๕๔๖ เช่น กระทำทารุณกรรมเด็กส่งเสริมหรือยินยอมให้เด็กประพฤติตนไม่สมควร (เที่ยวเตร่กลางคืน, แข่งรถซิ่ง, ร่วมวงดื่มสุรา, ให้เข้าในสถานบริการในยามค่ำคืน) ยินยอมให้เด็กเล่นการพนันหรือเข้าไปในสถานที่เล่นการพนัน จำหน่ายหรือให้สุราหรือบุหรี่แก่เด็ก หรือยุยงส่งเสริมให้นักเรียนนักศึกษาฝ่าฝืนระเบียบของสถานศึกษา ผู้ฝ่าฝืนมีโทษจำคุกไม่เกิน ๓ เดือน หรือปรับไม่เกิน ๓,๐๐๐ บาท

๒. การดำเนินการหลังการจับกุมเด็กหรือเยาวชน พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการตาม มาตรา ๕๐ กล่าวคือ
๒.๑ ถ้าคดีอาญานั้นเจ้าพนักงานมีอำนาจเปรียบเทียบปรับ ก็สามารถเปรียบเทียบปรับไปได้เลย คดีเป็นอันเสร็จตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
๒.๒ ถ้าคดีอาญานั้นไม่สามารถเปรียบเทียบปรับได้พนักงานสอบสวนจะต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
๒.๒.๑ แจ้งการจับกุมหรือควบคุมไปยังผู้อำนวยการสถานพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชนที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ
๒.๒.๒ แจ้งการจับกุมหรือควบคุมไปยังบิดา มารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอยู่ในเขตอำนาจ
๒.๒.๓ พนักงานสอบสวนจะต้องถามปากคำเด็กหรือเยาวชนให้เสร็จภายในเวลายี่สิบสี่ชั่วโมงนับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนนั้นมาถึงสถานที่ทำการของพนักงานสอบสวน
๒.๒.๔ เมื่อสอบปากคำแล้วพนักงานสอบสวนต้องส่งตัวเด็กหรือเยาวชนนั้นไปยังสถานพินิจและคุ้มครองเด็กหรือเยาวชน

๓. การดำเนินการหลังจากสถานพินิจได้รับตัวเด็กหรือเยาวชนไว้แล้วเป็นหน้าที่ของผู้อำนวยการสถานพินิจที่จะต้อง ดำเนินการเกี่ยวกับตัวเด็กหรือเยาวชน ดังต่อไปนี้
๓.๑ ผู้อำนวยการสถานพินิจมีอำนาจควบคุมเด็กหรือ เยาวชนนั้นไว้ยังสถานพินิจหรือจะปล่อยชั่วคราวโดยมีประกันหรือไม่มีประกันหรือมีประกันและหลักประกัน ถ้าจะปล่อยชั่วคราวผู้อำนวยการสถานพินิจสั่งได้เลย แต่ถ้าเห็นว่าไม่สมควรปล่อยชั่วคราวให้ส่งคำร้องไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษาหัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวแล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาสั่งคำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด แต่ยื่นคำร้องขอใหม่ได้อีก ผู้อำนวยการสถานพินิจมีอำนาจสั่งงดการสืบเสาะแล้วทำรายงานการสืบเสาะส่งไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการแล้วแต่กรณี ผู้อำนวยการสถานพินิจมีอำนาจสั่งงดการสืบเสาะข้อเท็จจริงในคดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงจำนวน ไม่เกิน ๓ ปีหรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำ ทั้งปรับ พิจารณาอนุญาตให้ผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาซึ่งมีข้อหาว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำความผิดต่อศาลเยาวชนและครอบครัว พิจารณาแจ้งความเห็นสั่งไม่ฟ้องเด็กหรือเยาวชนไปยังพนักงานอัยการ ในกรณีที่เห็นว่าเด็กหรือเยาวชนอาจกลับตนเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง

๔. กำหนดระยะเวลาฟ้องและระยะเวลาผัดฟ้องผู้ต้องหา
กรณีพนักงานสอบสวนอยู่ในเขตอำนาจศาล มีหลักดังนี้คือ
– โทษอย่างสูงจำคุกไม่เกิน ๖ เดือนหรือโทษปรับ ต้องฟ้องภายใน ๓๐ วันนับแต่วันจับกุม
– โทษอย่างสูงจำคุกเกิน ๖ เดือน แต่ไม่เกิน ๕ ปี ผัดฟ้องได้ไม่เกิน ๒ ครั้ง ๆ ละไม่เกิน ๑๕ วัน
– โทษอย่างสูงจำคุกเกิน ๕ ปีขึ้นไป ผัดฟ้องได้ไม่เกิน ๔ ครั้ง ๆ ละ ไม่เกิน ๑๕ วัน แต่ในการยื่นคำร้อง ผัดฟ้องครั้งที่ ๓ และ ๔ ศาลต้องไต่สวนคำร้องก่อนอนุญาต ถ้าฟ้องไม่ทันภายในกำหนดระยะเวลาดังกล่าว กฎหมายห้ามมิให้พนักงานอัยการฟ้องคดีเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าว เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากอัยการสูงสุด

วิสัยทัศน์ (Vision)

“องค์กรนำในการใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม”

พันธกิจ (Missions)

1. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานงานตามภารกิจ ด้านการอํานวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทาง กฎหมายแก่ประชาชนให้มีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา
2. พัฒนาความร่วมมือ บูรณาการเครือข่ายองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ
3. เพิ่มศักยภาพมาตรฐานกลไกการบริหารจัดการระบบงานและกระบวนการทํางานที่สําคัญ รวมทั้งการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลและระบบจัดการองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน
4. พัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพคู่คุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรมีสมรรถนะสูง มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โครงสร้าง (Structure)
วัฒนธรรมองค์กร

บุคลากร

ทำเนียบผู้บริหาร 

ลำดับที่รายนามระยะเวลาดำรงตำแหน่ง
1นายวิชิต อินศร7 พฤษภาคม 2538 – 30 มิถุนายน 2538
2นายเฉลิม ภูมิพิพัฒน์พงษ์1 กรกฎาคม 2538 – 3 ตุลาคม 2539
3นายวิชาญ ธรรมสุจริต4 ตุลาคม 2539 – 30 เมษายน 2541
4นายสุเทพ รักไตรรงค์1 พฤษภาคม 2541 – 30 เมษายน 2542
5นายประณม ถวัลย์ลาภา3 พฤษภาคม 2542 – 30 เมษายน 2543
6นายนิรันดร์ วุฒืวัฒน์1 พฤษภาคม 2543 – 30 เมษายน 2544
7นายชวลิต สุวรรณภูชัย1 พฤษภาคม 2544 – 30 เมษายน 2545 
8นายสัญญา ไพเราะ7 พฤษภาคม 2545 – 30 เมษายน 2546 
9นายพงษ์ศักดิ์ วิริยะพาณิชย์28 เมษายน 2546 – 3 พฤษภาคม 2547
10นายธนวรรษ ว่องไวทวีวงศ์4 พฤษภาคม 2547 – 3 เมษายน 2548
11นายจิรวุฒิ เตชะพันธุ์4 เมษายน 2548 – 30 เมษายน 2549
12นายอุสิตษา ด้วงปัั้น1 พฤษภาคม 2549 – 31 มีนาคม 2550
13 นายเลิศชาย ณ นคร2 เมษายน 2550 – 31 มีนาคม 2551 
14นายอนวัช อิศโร1 เมษายน 2551 – 31 มีนาคม 2553
15นายสิทธิผล โพธิ์ชัย1 เมษายน 2553 – 31 มีนาคม 2554
16นายสมพงษ์ ภุชงค์โสภาพันธุ์1 เมษายน 2554 – 31 มีนาคม 2555 
17นางวิชญา หาญนัทธี 1 เมษายน 2555 – 31 มีนาคม 2556
18ว่าที่ร้อยตรี ชาญณรงค์ เนื้อนุ่ม 1 เมษายน 2556 – 31 มีนาคม 2557
19นายชวนนท์ อิสสระวิทย์1 เมษายน 2557 – 31 มีนาคม 2558
20นายรัฐกฤษ พูนชัย1 เมษายน 2558 – 31 มีนาคม 2559
22นายวิพุธ บุญประสาท1 เมษายน 2559 – 31 มีนาคม 2560
23พ.ต.ต.พรรษวุฒ สุวานิช3 เมษายน 2560 – 31 มีนาคม 2561
24นายบัญชา ใจสอาด2 เมษายน 2561 – 31 มีนาคม 2562
25นายรุ่งวิทย์ ประนิธิ1 เมษายน 2562 – 31 มีนาคม 2563
26นางสาวนฤมล   นาวงษ์1 เมษายน 2563 – 31 มีนาคม 2564
27นางสาวอาจารี   สุนทรพินิจกิจ1 เมษายน 2564 – 31 มีนาคม 2565
28นายธีรพล   แก้วไวยุทธ1 เมษายน 2565 – 31 มีนาคม 2566
29นายสมเกียรติ เบ็ญจขันธ์1 เมษายน 2566 – ปัจจุบัน

นางสาวอัมพิกา มานะพงศ์
อัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดร้อยเอ็ด

นายยุรนันท์ กิตติวรยศ
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
ผู้กลั่นกรองงาน

นางสาวมธุริน เจริญภิญโญชัย
อัยการประจำกอง

นางสาววิจิตรา ฤทธิ์มนตรี
เจ้าพนักงานธุรการอาวุโส
รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการ สำนักอำนวยการ

นางสาวปราณี พลแพงพา
นิติกรชำนาญการ

นางสาวสุเปรมศรี สร้อยชื่น
เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน

นายจุลเทพ ศิลปชัย
พนักงานขับรถ

สถิติคดี

สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดร้อยเอ็ด

ปี พ.ศ.
สำนวน
2563256425652566
ส.1245171148195
ส.1 ฟ674861
ส.2641211
ส.2 ก191619122
ส.4 อาญา226147113147
ส.มาตรการพิเศษ37332534
ส.คุ้มครองสวัสดิภาพ1232
ส.มาตรการริบทรัพย์
ส.3
ส.4 วาจา (ค.ด.)12
ส.64342
ส.7 ฎีกา111
รวม606424332517

เอกสารเผยแพร่

คำแนะนำสำหรับผู้เสียหายและพยาน

ในการขึ้นเบิกความเป็นพยานในศาลในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์

          พยานในที่นี้หมายถึงพยานบุคคล ซึ่งเป็นบุคคลที่สามารถเข้าใจและตอบคำถามได้และต้องเป็นผู้ที่ได้เห็นได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรง หรืออาจเป็นพยานบอกเล่าที่รับฟังข้อเท็จจริงมาจากบุคคลอื่น หรือที่บันทึกไว้ในเอกสาร หรือวัตถุอื่นใดก็ได้

          สำหรับพยานที่จะมาเบิกความที่ศาลส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้เสียหายในคดี หรือเป็นประจักษ์พยานซึ่งถือเป็นพยานสำคัญในคดี โดยเมื่อพนักงานอัยการยื่นคำฟ้องแล้ว หากเป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพศาลอาจพิพากษาคดีโดยไม่ต้องสืบพยาน ผู้เสียหายหรือพยานจึงไม่จำต้องมาเบิกความที่ศาล แต่หากเป็นคดีที่จำเลยให้การปฏิเสธ หรือข้อหาความผิดซึ่งกฎหมายกำหนดอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีขึ้นไป หรือโทษสถานที่หนักกว่านั้น ศาลจะต้องกำหนดนัดสืบพยานโจทก์ และพยานจำเลย หรือสืบพยานโจทก์ประกอบคำรับสารภาพของจำเลยแล้วแต่กรณี พยานและผู้เสียหายจะต้องมาเบิกความต่อศาล ซึ่งมีขั้นตอนและคำแนะนำดังนี้

          ๑. เมื่ออยู่ในหลักเกณฑ์ที่ต้องสืบพยานแล้ว โจทก์จะขอให้ศาลออกหมายเรียกพยานและให้เจ้าพนักงานตำรวจหรือเจ้าพนักงานของศาลส่งหมายเรียกให้กับพยาน เมื่อพยานได้รับหมายเรียกแล้วให้ตรวจสอบดูว่าต้องไปเบิกความที่ศาลใด ในวัน เดือน ปี และเวลาใด เพราะในบางจังหวัดอาจมีหลายศาลและอยู่ต่างท้องที่กัน เช่นศาลจังหวัดนครราชสีมา และศาลจังหวัดบัวใหญ่ เป็นต้น เพื่อจะได้เดินทางไปไม่ผิดศาล ซึ่งโดยปกติแล้วศาลจะนัดพิจารณาช่วงเช้า เวลา ๐๘.๓๐ น. หรือช่วงบ่าย เวลา ๑๓.๓๐ น. หรือทั้งเช้าและบ่าย

          ๒. หลังจากผู้เสียหายหรือพยานได้รับหมายเรียกแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจจะรายงานผลการส่งหมายเรียกให้พนักงานอัยการทราบ และก่อนวันนัดสืบพยานโดยปกติแล้วพนักงานอัยการที่รับผิดชอบว่าความคดีนั้นจะโทรศัพท์ติดต่อผู้เสียหาย หรือพยานที่จะมาเบิกความเพื่อแจ้งเตือนผู้เสียหายหรือพยานอีกครั้งหนึ่ง

          ๓. ในวันเดินทางไปศาลต้องแต่งตัวสุภาพเรียบร้อย ต้องไม่ดื่มหรือเสพสุรา หรือของมึนเมา หรือสิ่งเสพติดอื่นไปเบิกความ และควรนำหมายเรียกติดตัวไปด้วย เพื่อความสะดวกในการติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ศาลหากเกิดเหตุขัดข้อง และไม่ว่าศาลจะนัดพิจารณาเช้าหรือบ่ายพยานควรเดินทางไปถึงศาลก่อนเบิกความ เพื่อให้มีเวลาพูดคุยกับพนักงานอัยการเพื่อทบทวนความทรงจำ หรือสอบถามพนักงานอัยการในข้อสงสัยเกี่ยวกับคดีหรือการเบิกความ

          ๔. เมื่อเดินทางไปถึงศาลให้ติดต่อเจ้าหน้าที่ศาลเพื่อสอบถามว่าคดีที่ต้องเบิกความอยู่ห้องพิจารณาคดี (บัลลังก์) ที่เท่าใด หรือหากประสงค์จะตรวจสอบด้วยตนเองก็สามารถกระทำได้ โดยการไปตรวจสอบบัญชีนัดความของศาลซึ่งอาจติดประกาศไว้หน้าศาล หรือในศาลแล้วแต่ความสะดวกของศาลแต่ละศาล ซึ่งในบัญชีนัดความจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับคดีและห้องพิจารณาไว้ด้วย

          ๕. เมื่อไปถึงห้องพิจารณาแล้วให้เข้าไปในห้องพิจารณาเพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ศาลว่าพยานเดินทางมาศาลแล้ว อย่ารออยู่หน้าห้องพิจารณาเพราะเจ้าหน้าที่ศาลหรือพนักงานอัยการอาจไม่ทราบว่าพยานเดินทางมาศาลแล้ว และทำให้การติดตามพยานมาเบิกความที่ศาลในวันนั้นติดขัดได้ ซึ่งหากพนักงานอัยการเดินทางมาถึงห้องพิจารณาแล้วโดยปกติพนักงานอัยการจะสอบถามว่าใครเป็นผู้เสียหายและพยานโจทก์บ้าง แต่หากไม่พบตัวพนักงานอัยการจนใกล้เวลาจะต้องเบิกความแล้ว พยานสามารถโทรศัพท์ติดต่อพนักงานอัยการได้ทันที หรือหากไม่มีเบอร์โทรศัพท์ติดต่อก็อาจขอให้เจ้าหน้าที่ศาลช่วยติดตามตัวพนักงานอัยการให้ก็ได้    

          ๖. เมื่อพนักงานอัยการได้พบกับผู้เสียหายหรือพยานแล้ว พนักงานอัยการจะพูดคุยเรื่องทั่วๆไปกับพยานเล็กน้อยเพื่อให้พยานคลายความกังวล แล้วถามว่าเคยขึ้นเบิกความที่ศาลมาก่อนหรือไม่ เพื่อจะได้ทราบประสบการณ์ของพยานในการเบิกความ แล้วจะสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับคดีเพื่อทบทวนความทรงจำให้พยาน ว่าพยานเข้าไปเกี่ยวข้องกับคดีอย่างไร ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และผลเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นการเล่าเหตุการณ์ตามลำดับขั้นตอน และจะแจ้งด้วยเสมอว่าให้พยานเบิกความไปตามความเป็นจริงในสิ่งซึ่งพยานได้รู้ ได้เห็น หรือได้ยินมาด้วยตนเอง เพราะหากพยานเบิกความเท็จอาจถูกดำเนินคดีอาญาได้ และในส่วนนี้หากผู้เสียหายหรือพยานมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการดำเนินคดี หรือสิทธิของผู้เสียหายที่ควรได้รับจากการกระทำผิดของจำเลย ผู้เสียหายอาจสอบถามพนักงานอัยการได้

          ๗. ในคดีอาญาที่ผู้เสียหายหรือพยานเป็นเด็กอายุไม่เกิน ๑๘ ปี ผู้พิพากษาจะจัดให้พยานอยู่ในห้องอีกห้องหนึ่งซึ่งไม่ใช่ห้องพิจารณาคดีปกติ และจะมีนักจิตวิทยา หรือนักสังคมสงเคราะห์ และจะถามพยานผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์

          ๘. เมื่อพร้อมเบิกความแล้วพนักงานอัยการจะแจ้งผู้พิพากษาเพื่อขึ้นพิจารณาแล้วพยานจะต้องไปนั่งอยู่ที่คอกพยาน (สถานที่นั่งสำหรับเบิกความ) หรือห้องสำหรับสืบพยานเด็กแล้วแต่กรณี แล้วสาบานหรือปฏิญาณตนตามลัทธิศาสนาของตน ซึ่งโดยปกติแล้วก่อนเบิกความพนักงานอัยการจะสอบถามพยานก่อนว่านับถือศาสนาใด แล้วสาบานหรือปฏิญาณตนตามลัทธิศาสนานั้น ซึ่งจะมีกระดาษบันทึกถ้อยคำที่ต้องสาบานติดไว้ที่คอกพยาน แต่หากพยานอ่านหนังสือไม่ออก พนักงานอัยการจะเป็นผู้นำสาบานหรือปฏิญาณ และในบางกรณีหากพยานไม่ได้นับถือลัทธิหรือศาสนาใดก็ให้สาบานหรือปฏิญาณว่าจะเบิกความด้วยความสัตย์จริง หรือแล้วแต่ดุลพินิจของผู้พิพากษาแต่ละท่าน

         แต่บุคคลต่อไปนี้ได้รับยกเว้นไม่ต้องสาบานหรือปฏิญาณตนก่อนเบิกความ คือ พระมหากษัตริย์ พระราชินี พระรัชทายาท หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่าสิบห้าปี หรือบุคคลที่ศาลเห็นว่าหย่อนความรู้สึกผิดและชอบ พระภิกษุ และสามเณรในพระพุทธศาสนา และบุคคลซึ่งโจทก์และจำเลยตกลงกันว่าไม่ต้องสาบานหรือปฏิญาณ

          ๙. เมื่อกล่าวคำสาบานหรือปฏิญาณเสร็จแล้วผู้พิพากษาจะเริ่มถามพยานเกี่ยวกับชื่อ อายุ ที่อยู่ อาชีพ และความเกี่ยวข้องกับคดีว่าพยานมีความเกี่ยวพันกับคู่ความในคดีนี้อย่างไร จากนั้นโดยปกติผู้พิพากษาจะเปิดโอกาสให้พนักงานอัยการซักถามพยานเพื่อให้พยานเล่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับคดีที่พยานได้รู้ ได้เห็น หรือได้ยินมาด้วยตนเองตามลำดับขั้นตอนไป หรือศาลอาจถามพยานเองก็ได้ เมื่อพนักงานอัยการซักถามพยานเสร็จทนายความจำเลยหรือที่ปรึกษากฎหมายจำเลยจะถามค้านพยานซึ่งเป็นคำถามเพื่อทำลายน้ำหนัก (จับผิด) คำเบิกความพยานที่ตอบพนักงานอัยการ โดยปกติจะเป็นคำถามนำในลักษณะจูงใจให้พยานตอบเพียงว่าใช่หรือไม่ใช่ เมื่อจบคำถามค้านพนักงานอัยการจะถามติงพยานเพื่อดึงน้ำหนักคำพยานที่ถูกทำลายไปตอนถามค้านกลับคืนมา เมื่อจบคำถามก็เป็นอันจบพยานปากนี้ แต่คู่ความอาจงดการถามค้านหรือถามติง เสียก็ได้หากเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต่อรูปคดี

          ๑๐. ในขณะเบิกความผู้พิพากษาจะพูดถ้อยคำที่พยานเบิกความแล้วบันทึกเสียงของศาลไว้ ทำเช่นนี้สลับกับพยานเบิกความไปจนเสร็จ แล้วส่งไฟล์หรือเทปเสียงไปให้พนักงานพิมพ์ซึ่งในขณะที่ผู้พิพากษาบันทึกเสียงนั้น หากพยานเห็นว่าไม่ถูกต้องตรงกับที่พยานเบิกความและพนักงานอัยการหรือคู่ความอื่นไม่ท้วงติง พยานสามารถแจ้งผู้พิพากษาให้บันทึกให้ถูกต้องได้ เมื่อจัดพิมพ์เสร็จแล้วผู้พิพากษาจะอ่านคำเบิกความให้พยานฟังอีกครั้ง หากมีข้อความส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ถูกต้องตรงกับที่พยานเบิกความไปแล้วพยานสามารถแจ้งให้ผู้พิพากษาแก้ไขให้ถูกต้องได้ แต่ในขั้นตอนนี้ผู้พิพากษาจะไม่อนุญาตให้พยานเบิกความใหม่แตกต่างจากที่เบิกความไว้แล้ว

          ๑๑. พยานต้องเบิกความด้วยวาจา ห้ามอ่านข้อความที่จด หรือเขียนมา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษา ซึ่งหากมีข้อเท็จจริงบางส่วนที่พยานจำไม่ได้ ก็ให้พยานตอบว่าจำไม่ได้หรือไม่แน่ใจ อย่าไปคาดเดาหรือคาดคะเนเอาเองเพราะอาจเสียหายต่อคดีได้ และหากฟังคำถามไม่ชัดเจน หรือไม่เข้าใจควรขอให้ผู้ถามถามใหม่อีกครั้ง หรือขอให้ผู้พิพากษาอธิบายคำถามนั้น

          ๑๒. สำหรับคำถามที่ใช้ถามพยานนั้นกฎหมายห้ามพนักงานอัยการ ทนายความ หรือที่ปรึกษากฎหมายจำเลยถามพยานด้วยคำถามที่ไม่เกี่ยวกับคดี หรือคำถามที่อาจทำให้พยานหรือคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุคคลภายนอกต้องรับโทษทางอาญา หรือคำถามที่เป็นการหมิ่นประมาทพยานอาจไม่ตอบคำถามดังกล่าวได้เมื่อได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษา

          ๑๓. สำหรับพยานที่เป็นคนหูหนวกหรือเป็นใบ้ หรือทั้งหูหนวกและเป็นใบ้ไม่สามารถเบิกความด้วยวาจาได้ ผู้พิพากษาจะสั่งให้พยานเบิกความด้วยวิธีเขียนหนังสือ หรือเบิกความผ่านล่ามภาษามือ หรือวิธีการอื่นที่เห็นว่าเหมาะสม

          ๑๔. หลังจากผู้พิพากษาอ่านคำเบิกความเสร็จแล้ว พยานต้องลงชื่อในคำเบิกความและลงชื่อรับค่าพาหนะและค่าป่วยการ หรือเอกสารอื่นที่เจ้าหน้าที่ศาลจัดทำขึ้นก่อน จากนั้นให้สอบถามเจ้าหน้าที่ศาลอีกครั้งว่าเรียบร้อยหรือไม่ พยานสามารถเดินทางกลับได้แล้วหรือไม่ เพราะหากพยานไม่ได้ลงชื่อในเอกสารอย่างใดอย่างหนึ่ง เจ้าหน้าที่ศาลจะติดต่อพยานให้มาลงชื่ออีกในภายหลังซึ่งอาจเสียเวลาโดยไม่จำเป็น

          ๑๕. กรณีที่มีการเลื่อนคดีไม่ว่าเพราะสาเหตุใด หากพยานมาศาลแล้ว และเจ้าหน้าที่ศาลให้พยานลงลายมือชื่อทราบวันนัดใหม่ที่ต้องเบิกความในนัดหน้าแล้ว ผู้พิพากษาจะไม่ออกหมายเรียกพยานอีก เพราะฉะนั้นพยานต้องจำวันนัดใหม่ให้ดีและมาเบิกความในวันนัดใหม่ดังกล่าว

          ๑๖. สำหรับพยานที่ได้รับหมายเรียกพยานโดยชอบแล้วจงใจไม่ไปศาล ศาลอาจเลื่อนการสืบพยานไปแล้วออกหมายจับเอาตัวพยานกักขังไว้จนกว่าจะได้เบิกความตามวันที่ศาลเห็นสมควร และพยานอาจถูกฟ้องดำเนินคดีในข้อหาขัดขืนหมายเรียกของศาล และหากพยานคนใดรู้อยู่แล้วว่าจะมีการส่งหมายเรียกถึงตนแต่หาทางหลีกเลี่ยงที่จะไม่รับหมาย พยานก็มีความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลซึ่งมีโทษจำคุกและปรับด้วย

          ๑๗. หากพยานได้รับหมายเรียกโดยชอบแล้วมีเหตุขัดข้องไม่อาจเดินทางมาศาลในวันนัดสืบพยานได้ไม่ว่าจะเป็นเพราะเหตุเจ็บป่วย หรือต้องเดินทางไปต่างประเทศโดยกำหนดล่วงหน้าไว้แล้ว หรือเหตุจำเป็นประการอื่น พยานสามารถทำหนังสือแจ้งมายังหัวหน้าพนักงานอัยการ (อัยการจังหวัด) หรือผู้พิพากษาหัวหน้าศาล เพื่อชี้แจงถึงเหตุผลความจำเป็น โดยพยานอาจนำหนังสือไปยื่นที่สำนักงานอัยการหรือที่ศาลด้วยตนเองหรือมอบฉันทะให้ผู้อื่นนำไปยื่นแทนก็ได้แต่ต้องก่อนวันที่ศาลนัดสืบพยาน

ติดต่อหน่วยงาน

สำนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดร้อยเอ็ด
ถนนราชการดำเนิน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองร้อยเอ็ด จังหวัดร้อยเอ็ด 45000
โทร. 0 4351 8206, 0 4351 8260, 0 4351 8270 โทรสาร 0 4351 8206