ภาพกิจกรรม

เกี่ยวกับสำนักงาน

         ประวัติความเป็นมา

เนื่องจากสภาพปัญหามากมายหลายสาเหตุด้วยกัน ที่มีส่วนทำให้เกิดความเดือนร้อนแก่ประชาชน โดยเฉพาะประชาชนที่มีฐานะยากจน หรือที่อยู่ในชนบทห่างไกล อาทิเช่น การถูกเอารัดเอาเปรียบในด้านเศรษฐกิจ ปัญหาการแย่งที่ดินทำกิน การกระทบกระทั่งกันระหว่างเจ้าหน้าที่ของรัฐกับราษฎรในการใช้อำนาจรัฐอันไม่เป็นธรรม ฯลฯ สาเหตุต่าง ๆเหล่านี้ เป็นเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนที่ถูกกระทำ ต้องสูญเสียสิทธิเสรีภาพและทรัพย์สินไป ซึ่งผลที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือการแก้แค้น ประทุษร้ายต่อร่างกาย และชีวิตซึ่งกันและกัน การก่ออาชญากรรม ที่ทำให้สังคมอยู่กันอย่างหวาดผวา ไม่มีความผาสุก และเมื่อเกิดขึ้นมาก ๆ ก็จะมีผลกระทบ ต่อความมั่นคงของประเทศได้ ซึ่งภาวการณ์ดังกล่าว จากการศึกษาวิจัยก็ได้พบว่า มูลเหตุสำคัญประการหนึ่งก็คือ ความไม่รู้กฎหมาย ที่ทำให้คนส่วนหนึ่งมีการกระทำที่ละเมิด ต่อกฎเกณฑ์ที่กฎหมายได้กำหนดไว้ ในขณะที่คนอีกส่วนหนึ่งก็ไม่มีความรู้ ที่จะใช้กฎหมาย ในการปกป้องและพิทักษ์สิทธิหรือผลประโยชน์ของตน เมื่อเกิดกรณีพิพาทขึ้น ก็ทำให้รัฐต้องทุ่มเทงบประมาณจำนวนไม่น้อย ในแต่ละปีเพื่อแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ให้สำเร็จ

          อย่างไรก็ตาม การใช้มาตรการแก้ไขปัญหาสังคม โดยวิธีการปราบปรามแต่เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่วิถีทางที่ได้ผลอย่างแท้จริง วิธีการที่ดีที่ควรทำควบคู่กันไปก็คือ การส่งเสริมประชาชนให้มีความรู ้ ในสิทธิและหน้าที่ของตนตามกฎหมาย จะทำให้เกิดความสัมฤทธิ์ผล ในการลดปัญหาพิพาทขัดแย้งได้ในปริมาณที่มากกว่า ดังนั้น จากแนวความคิดดังกล่าว ได้นำมาสู่การปฏิบัติที่เป็นรูปธรรมอย่างจริงจัง ในยุครัฐบาลของ ฯพณฯ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ซึ่งได้มีการจัดตั้งโครงการให้ความช่วยเหลือ ทางกฎหมายแก่ประชาชน ชนบทในเขตยากจนขึ้น อันเป็นโครงการหนึ่ง ในแผนงานบริการขั้นพื้นฐาน ของแผนพัฒนาชนบทยากจน แล้วบรรจุโครงการนี้เข้าเป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๕ (พ.ศ. ๒๕๒๕-๒๕๒๙) โดยในชั้นแรกได้มอบหมาย ให้สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย กระทรวงมหาดไทยเป็นผู้ปฏิบัติ

          สำนักนโยบายและแผนมหาดไทย ได้ดำเนินงานไปได้ระยะหนึ่ง ก็มีมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ ๕ เมษายน ๒๕๒๖ เห็นชอบ ตามความเห็นของคณะกรรมการปฏิรูป ระบบราชการ และระเบียบการบริหารราชการแผ่นดิน ให้โอนโครงการให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ชนบทในเขตยากจน ให้สำนักงานอัยการสูงสุด (กรมอัยการในขณะนั้น) เป็นผู้ดำเนินการสืบต่อมา ก่อนหน้าที่จะได้รับโอนงานมานั้น กรมอัยการได้มีการดำเนินงานด้านการคุ้มครอง สิทธิเสรีภาพ และ ผลประโยชน์ของประชาชนตามที่กฎหมาย กำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ ของพนักงานอัยการอยู่แล้วโดย กรมอัยการได้มีคำสั่งที่ ๑๗๔/๒๕๒๕ ลงวันที่ ๑๕ กันยายน ๒๕๒๕ จัดตั้งสำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชน (สคช.) ขึ้น โดยจัดตั้งเป็นหน่วยงานภายใน ซึ่งเมื่อสำนักนโยบายและแผนมหาดไทย ได้ส่งมอบงานตามโครงการให้ความช่วยเหลือ ทางกฎหมายแก่ ประชาชนให้กรมอัยการทั้งหมด ในวันที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๒๗ กรมอัยการก็ได้มอบหมายงานตามโครงการฯ ให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนดำเนินงานมาตั้งแต่บัดนั้น เป็นต้นมา

          สำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน ดำเนินงานให้ความช่วยเหลือ ทางกฎหมายแก่ประชาชนชนบทในเขตยากจน ปรากฏว่าเกิดผลดีมาเป็นลำดับ ดังนั้นเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๒๗ คณะรัฐมนตรี ได้มีมติให้โอนงานช่วยเหลือทางกฎหมายแก่เกษตรกรและ ผู้ยากจน ที่สำนักงานปลัดสำนัก นายกรัฐมนตรีดำเนินการอยู่ มาให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนดำเนินงาน ต่อไปด้วย ดังนั้น ตั้งแต่ปี พ.ศ . ๒๕๒๗ เป็นต้นมา สำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน สำนักงานอัยการสูงสุด (กรมอัยการในขณะนั้น) จึงเป็นหน่วยงานเดียวของรัฐ ที่ปฏิบัติงานทางด้านคุ้มครองสิทธิ และ ช่วยเหลือทางกฎหมาย แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่องมาตราบจนปัจจุบัน  ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ได้มีพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการกรมอัยการ กระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๕๓๑ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๐๕ ตอนที่ ๑๒๒ ลงวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๓๑ แบ่งส่วนราชการในกรมอัยการเพิ่มขึ้น คือ กองคดีเด็กและเยาวชน กองคดีภาษีอากร กองคดีศาลแขวง กองคดีเศรษฐกิจและทรัพยากร และ สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ซึ่งตามพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ได้กำหนดให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ของประชาชนเป็นส่วนราชการระดับกอง ตามกฎหมายของกรมอัยการ และเปลี่ยนชื่อเป็น “สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน” ตามคำสั่งกรมอัยการที่ ๑๙๙/๒๕๓๑ ลงวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๑

          สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน ตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ หรือเมื่อมีกรณีอันสมควร เข้าคุ้มครองป้องกันสิทธิเสรีภาพและผลประโยชน์ ของประชาชนในประการอื่น ที่กฎหมายให้มีอำนาจดำเนินการได้ ตลอดจนดำเนินงาน  ให้บริการช่วยเหลือทางด้านกฎหมาย แก่ประชาชนผู้ยากไร้ และประชาชนในชนบท รวมทั้งดำเนินการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย ให้แก่ประชาชนทั่วไป ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค แบ่งออกเป็น ๓ กอง คือ”

          ๑. กองคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน
          ๒. กองช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน
          ๓. กองแผนและติดตามประเมินผล

ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๑ เป็นต้นไป

ปัจจุบันนี้ ตามกฎกระทรวง แบ่งส่วนราชการสำนักงานอัยการสูงสุด (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๔๙ ลงวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๔๙

          ข้อ ๑๕ (๒๔) กำหนดให้สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือ ทางกฎหมายแก่ประชาชน มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบการดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และผลประโยชน์ของประชาชน การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การเผยแพร่ความรู้ทางด้านสิทธิมนุษยชน และความรู้ทางกฎหมาย แก่ประชาชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ การดำเนินการเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคด้านอรรถคดี การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย และการเผยแพร่ความรู้ทางกฎหมาย เกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคแก่ประชาชน ศึกษาวิจัย และพัฒนาระบบ รูปแบบ วิธีการ และแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการดังกล่าว

ผลการปฏิบัติงาน

          สคช. ได้รับการคัดเลือกและยกย่องให้เป็นหน่วยงานดีเด่นระดับชาติ สาขาพัฒนาสังคม พ.ศ. ๒๕๒๙ จากคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ในส่วนที่เกี่ยวกับประชาชนทั้งในกรุงเทพฯและในต่างจังหวัด ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๓๕ อนุมัติให้ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีกติกา ระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (พ.ศ. ๒๕๐๙) และจากเหตุผลดังกล่าวได้มี การจัดตั้งคณะกรรมการคุ้มครองและส่งเสริมสิทธิมนุษยชนระดับชาติขึ้น โดยมีนายกรัฐมนตรีหรือผู้ที่ นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธาน ซึ่งคณะกรรมการฯ ได้กำหนดให้สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นแกน กลางในการจัดตั้งองค์กรทางด้านสิทธิมนุษยชน

โครงสร้างของ สคช.

          สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน มีหน่วยงานที่ทำหน้าที่คุ้มครองสิทธิและให้ความช่วยเหลือ ทางกฎหมายแก่ประชาชนสังกัดอยู่ ทั้งในส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ดังนี้

ส่วนกลาง ประกอบด้วย

          ๑. สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน (ส่วนกลาง)
          ๒. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย
          ๓. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิ
          ๔. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิประชาชนระหว่างประเทศ
          ๕. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองผู้บริโภค
          ๖. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ๑ (รัชดาภิเษก)
          ๗. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ๒ (หลักเมือง)
          ๘. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายช่วยเหลือทางกฎหมาย ๓ (ธนบุรี)
          ๙. สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย 4 (มีนบุรี)

ส่วนภูมิภาค

          เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ต่าง ๆ ได้รับการบริการทางกฎหมาย จากพนักงานอัยการโดยเสมอภาค และทั่วถึงกัน สำนักงานอัยการสูงสุดจึงมีคำสั่ง ให้จัดตั้งสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคดี จังหวัด (สคชจ.) ขึ้น โดยมีหน้าที่สำคัญคือ เผยแพร่และฝึกอบรมความรู้ทางกฎหมาย และให้คำปรึกษาปัญหากฎหมายแก่ประชาชน จัดหาทนายความช่วยเหลือในทางอรรถคดี แก่ประชาชนผู้ยากจนและไม่ได้รับความเป็นธรรม ตลอดจนงานการประนอมข้อพิพาท งานคุ้มครองสิทธิทางศาลตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจและหน้าที่ของพนักงานอัยการ เช่น การร้องขอให้ศาลตั้งผู้จัดการมรดก ฯลฯ

สำนักงานคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชน ในส่วนภูมิภาคประกอบด้วย

           ๑. สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย ภาค ๑ – ๙ จำนวน ๙ แห่ง
           ๒. สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด (สคชจ.) ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานอัยการจังหวัด จำนวน ๗๖ แห่ง
           ๓. สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัด ประจำจังหวัดสาขา (สคชจ. สาขา) ซึ่งตั้งอยู่ที่สำนักงานอัยการจังหวัดประจำอำเภอ จำนวน ๓๔ แห่ง


อำนาจหน้าที่ของสำนักงานอัยการสูงสุด

องค์กรอัยการ
อัยการสูงสุด
พนักงานอัยการ
วิสัยทัศน์ (Vision)

“เป็นองค์กรแห่งความยุติธรรมของสังคมเพื่อความมั่นคงของชาติและความผาสุกของประชาชน”

พันธกิจ (Missions)
  1. อำนวยความยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส พึ่งพิงได้บนพื้นฐานของความเสมอภาค
  2. รักษาผลประโยชน์ของรัฐ เพื่อประโยชน์สาธารณะและการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
  3. รับรู้ ดูแล แก้ปัญหาในการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ และเป็นที่พึ่งของประชาชนในด้านกฎหมาย
  4. พัฒนาศักยภาพองค์กรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลกบนฐานความเชี่ยวชาญ
ค่านิยม “PUBLIC”
  • P : People First      ประชาชนมาที่หนึ่ง
  • U : Uprightness      เป็นที่พึ่งความยุติธรรม
  • B : Betterment      คิดและทำเพื่อพัฒนา
  • L : Lawfulness      รักษากฎหมายด้วยเหตุผล
  • I : Integrity      ประพฤติตนซื่อสัตย์และโปร่งใส
  • C : Collaboration      ร่วมมือร่วมใจสู่เป้าหมาย
โครงสร้าง (Structure)

บุคลากร

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดลำปาง

บุคลากร

นายธรรมเรศวร์ ลิ่มกุลพงษ์
อัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิฯ ลำปาง

ร้อยตำรวจเอก สัญญา บุญภา
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
ผู้กลั่นกรองงาน

นายกิจพ์ขเชษฐ์ จิตตพงศ์
รองอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิฯ ลำปาง
 นางอัมพร  ไชยทาน
นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ
รักษาการในตำแหน่ง
ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ
นางนงเยาว์  สุขจินตนาการ
เจ้าพนักงานธุรการชำนาญงาน
นางสาวจิราพร สุริภา
นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ
นางโสภา จิระ
นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ
นายพีรศิลป์  ขลิบเงิน
นิติกรปฏิบัติการ
นางสาวกนกพร ยาประเสริฐ
นิติกรปฏิบัติการ
นางสาวณัชชา ศรีทะนันชัย
นิติกร
นายพิสิทธิ์ สิทธิชุม
พนักงานขับรถยนต์
นายสุรศักดิ์  เมฆจันทร์สม
ทนายอาสา
 นายวรายุทธ  ขำกฤษ
ทนายอาสา
นางสาวจันทร์จิรา  เครือตัน
ทนายอาสา

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมาย
และการบังคับคดีจังหวัดลำปาง

๑. นายเสรี  เนียมนพเนตรพ.ศ.๒๕๓๗ – ๒๕๓๘
๒. นายวัชระ  ถิรภัทรพันธ์พ.ศ.๒๕๓๘ – ๒๕๓๙
๓. นายสำรวย  วราวรรณพ.ศ.๒๕๓๙ – ๒๕๔๐
๔. นายประสพโชค  วสิกชาติพ.ศ.๒๕๔๐ – ๒๕๔๑
๕. นายไพศาล  วรดิษฐ์๒๐ ม.ค.๔๑ – มี.ค.๔๑
๖. นายสมภพ  รัตนกุล๓ มี.ค.๔๑ – เม.ย.๔๒
๗. นายพิชญ์พันธ์  เศรษฐบุตรพ.ค.๔๒ – ๓๐ เม.ย.๔๓
๘. นางพัชรี  เชื้อชอบธรรม๑ พ.ค.๔๓ – ๓๐ เม.ย.๔๔
๙. นายอภิชาติ  พลอยแก้ว๑ พ.ค.๔๔ – ๓๐ เม.ย.๔๕
๑๐. นายสาโรช  นักเบศร์๑ พ.ค.๔๕ – ๓๐ เม.ย.๔๗
๑๑. นางจิตลดา  นุชชม๑ พ.ค.๔๗ – ๓ เม.ย.๔๘
๑๒. นายสมมาตร  โตโพธิ์ไทย๔ เม.ย.๔๘ – ๓๐ เม.ย.๔๙
๑๓. นายอัศวิน  นิลทอง๑ พ.ค.๔๙ – ๓๑ มี.ค.๕๐
๑๔. นายศราวุธ  นากะพันธ์๑ เม.ย.๕๐ – ๓๑ มี.ค.๕๑
๑๕. นายสุรเชษฐ์  งามวงศ์๑ เม.ย.๕๑ – ๓๑ มี.ค.๕๒
๑๖. นายอุกฤษ  จันทรวิสุทธิ์๑ เม.ย.๕๒ – ๓๑ มี.ค.๕๓
๑๗. นายเนธิภัททิก์  เสฎฐิตานันท์๑ เม.ย.๕๓ – ๓๑ มี.ค.๕๔
๑๘. นายสัญชัย  กรุงกาญจนา๑ เม.ย.๕๔ – ๓๑ มี.ค.๕๕
๑๙. นายนพดล  เพียรพิทักษ์๑ เม.ย.๕๕ – ๓๐ พ.ค.๕๖
๒๐. นายเกียรติ  มุลาลินน์๑ เม.ย.๕๖ – ๓๑ มี.ค.๕๗
๒๑. นายดุสิต  กฤษณังกูร๑ เม.ย.๕๗ – ๓๑ มี.ค.๕๘
๒๒. นายนราธิป  ธารากรสันติ๑ เม.ย.๕๘ – ๓๑ มี.ค.๕๙
๒๓. นายกฤติ  พฤกษ์อัครกูล๑ เม.ย.๕๙ – ๒ เม.ย.๖๐
๒๔. นางผุสดี  สุวรรณมงคล๓ เม.ย.๖๐ – ๑ เม.ย.๖๑
๒๕. นางสาวเบญจพัฒน์  เตชวีรพงศ์๒ เม.ย.๖๑ – ๓๑ มี.ค.๖๒
๒๖. นายณุวัฒน์  หรรษคุณาฒัย๑ เม.ย.๖๒ – ๓๑ มี.ค.๖๓
๒๗. นางสาวอรัญญา  เตไชยกูล๑ เม.ย.๖๓ – ๓๑ มี.ค.๖๔
๒๘. นางสาวจินดา สุระชาติ๑ เม.ย.๖๔ – ๓๑ มี.ค.๖๕
๒๙. นายวรพจน์ เฉียงตะวัน๑ เม.ย.๖๕ – ๓๑ มี.ค.๖๖
๓๐. นางภาณุมาศ สุวรรณสุจริต๑ เม.ย.๖๖๓๑ มี.ค.๖๗
๓๑. นายธรรมเรศวร์ ลิ่มกุลพงษ์๑ เม.ย.๖๗ – ปัจจุบัน

สถิติคดี

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดลำปาง

ลำดับที่กิจกรรม2563256425652566
ณ วันที่ 30 พ.ย.
1งานคุ้มครองสิทธิทางศาล
– ขอตั้งผู้จัดการมรดก16117420592
– ขอตั้งผู้ปกครอง3
– ขอถอนผู้ปกครอง1
– ขอศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาล1210112
– ขอศาลสั่งเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้พิทักษ์11
 – ขอศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ2021
– คุ้มครองผู้บริโภค22
– ฟ้องคดีแทนเด็กปฏิเสธความเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของชาย1
2การช่วยเหลือประนอมข้อพิพาท12227012597
3ประนอมข้อพิพาทหนี้นอกระบบ   
4ให้คำปรึกษาปัญหากฎหมาย1390978795683
5ช่วยเหลืออรรถคดี จัดทนายอาสา
ว่าต่าง/แก้ต่าง แก่ประชาชน
27155
6ส่งเสริมและสนับสนุน
การประนอมและระงับข้อพิพาท
ในระดับท้องถิ่น
คน
หมู่บ้าน
335
74
200
55
230
73
476
106
7เผยแพร่ให้ความรู้ทางกฎหมายต่างๆ
แก่ประชาชน 
คน
หมู่บ้าน
1236
286
1050
276
1735
310
1302
708
8ฝึกอบรมความรู้ทางกฎหมาย
แก่บุคคลกลุ่มต่างๆ
คน
หมู่บ้าน


1250
452
410
163
408
 42
9จัดทำคำร้องตาม ปวิอ. มาตรา 44/125418559
10สำนวนบังคับคดีแพ่ง61235237
11สำนวนบังคับคดีอาญา141243106
12สำนวนบังคับโทษปรับยาเสพติด8346
13สำนวนบังคับคดีปกครอง 3 1
14สำนวนพระราชทานความช่วยเหลือ123

เอกสารดาวน์โหลด

เอกสารที่ต้องนำมายื่นต่อสำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดลำปางในการร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก

  1. ใบมรณบัตรของผู้ตาย
  2. ทะเบียนบ้านของผู้ตาย(ประทับตรา “ตาย”)
  3. ทะเบียนบ้าน, บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ร้องขอเป็นผู้จัดการมรดก
  4. ใบมรณบัตรของบิดามารดา กรณีบิดามารดาของผู้ตาย(เจ้ามรดก)ถึงแก่ความตายแล้ว
  5. ทะเบียนสมรส/หรือทะเบียนการหย่าของสามีหรือภรรยาของผู้ตาย
  6. เอกสารที่เกี่ยวข้องกรณีทายาทรับมรดกแทนที่/เจ้ามรดกมีการรับรองบุตร/เจ้ามรดกมีบุตรบุญธรรม
  7. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุลของผู้ตาย/ผู้ร้อง/ทายาท และผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย
  8. สูติบัตรของบุตรของผู้ตาย กรณีบุตรยังไม่บรรลุนิติภาวะ หรือ ไม่สามารถให้ความยินยอมได้
  9. พินัยกรรมของผู้ตาย (ถ้ามี)
  10. หนังสือให้ความยินยอมในการร้องขอจัดการมรดกของทายาท (ต้องกระทำการต่อหน้าเจ้าหน้าที่) (ดาวน์โหลดเอกสาร)
  11. สำเนาบัตรประจำตัวข้าราชการ หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน และสำเนาทะเบียนบ้านของผู้ให้ความยินยอมทุกคน
  12. บัญชีเครือญาติ
  13. เอกสารเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของผู้ตาย เช่น โฉนดที่ดิน สัญญาจำนอง ทะเบียนรถจักรยานยนต์ ทะเบียนรถยนต์ สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร ทะเบียนหรือใบอนุญาตให้มีและใช้อาวุธปืน และอื่น ๆ เป็นต้น
  14. ใบมรณบัตรของทายาท (กรณีทายาทเสียชีวิต)
  15. ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าคำร้องศาล 200 บาท, ค่าปิดประกาศที่ทำการผู้นำชุมชน/ที่ทำการกำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน 100 บาท และค่าส่งหมายตามภูมิลำเนา(เป็นไปตามอัตราที่ศาลกำหนด))

หมายเหตุ  จัดเตรียมสำเนาเอกสารทุกรายการพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 4 ชุด

เอกสารที่ต้องนำมายื่นในการร้องขอตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์

  1. ทะเบียนบ้าน สูติบัตร บัตรประจำตัวประชาชน ของผู้เยาว์
  2. ทะเบียนบ้าน บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่จะเป็นผู้ปกครอง
  3. ใบมรณบัตรของบิดา/มารดาของผู้เยาว์ (กรณีถึงแก่กรรม)
  4. ทะเบียนสมรส/ทะเบียนการหย่าของผู้ที่จะเป็นผู้ปกครอง
  5. ทะเบียนสมรส/ทะเบียนการหย่าของบิดามารดาของผู้เยาว์
  6. ใบสำคัญการเปลี่ียนชื่อ ชื่อสกุล ของผู้ที่จะเป็นผู้ปกครอง/ผู้เยาว์/บิดามารดาของผู้เยาว์
  7. หลักฐานการจดทะเบียนรับรองบุตร (กรณีบิดาไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของผู้เยาว์)
  8. หนังสือให้ความยินยอมของสามี/ภริยาของผู้ที่จะเป็นผู้ปกครอง (ดาวน์โหลดเอกสาร)
  9. หลักฐานทางทะเบียนบ้านของบิดามารดาของผู้เยาว์ หรือ แบบรับรองรายการทะเบียนราษฎร (กรณีบิดามารดาทอดทิ้ง) 
  10. หลักฐานใบแจ้งความ (บันทึกประจำวัน) (กรณีผู้เยาว์ถูกทอดทิ้ง)
  11. ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าคำร้องขอจัดตั้งผู้ปกครองผู้เยาว์ 200 บาท)

หมายเหตุ  จัดเตรียมสำเนาเอกสารทุกรายการพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 5 ชุด

เอกสารที่ต้องนำมายื่นในการร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถและตั้งผู้อนุบาล

  1. สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน ของผู้จะขอให้เป็นคนไร้ความสามารถ, สำเนาบัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี), สำเนาสูติบัตร (ถ้ามี/กรณีเป็นผู้เยาว์/เป็นบุตรของผู้ร้อง)
  2. สำเนาทะเบียนบ้าน, สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่จะเป็นผู้อนุบาล
  3. สำเนาใบมรณบัตรของบิดา/มารดาของผู้ที่จะขอให้เป็นคนไร้ความสามารถ (กรณีถึงแก่กรรม)
  4. สำเนาทะเบียนสมรสของผู้ที่จะเป็นผู้อนุบาล (กรณีผู้ร้องกับผู้ป่วยเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย)
  5. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล ของผู้ที่จะเป็นผู้อนุบาล/ผู้ที่จะขอให้เป็นคนไร้ความสามารถ
  6. รายงานความเห็นของแพทย์ระบุชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร ขณะนี้มีสภาพเป็นอย่างไร
  7. รูปถ่ายผู้ป่วย
  8. หนังสือให้ความยินยอมของทายาท (ดาวน์โหลดเอกสาร) , หรือใบมรณบัตรของทายาท
  9. ค่าธรรมเนียมศาล(ค่าคำร้องศาล 200 บาท

หมายเหตุ  จัดเตรียมสำเนาเอกสารทุกรายการพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 4 ชุด

เอกสารที่ต้องนำมายื่นในการร้องขอให้ศาลสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถและตั้งผู้พิทักษ์

  1. ทะเบียนบ้าน, บัตรประจำตัวประชาชน ของผู้จะขอให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ, บัตรประจำตัวคนพิการ (ถ้ามี), สูติบัตร (ถ้ามี/กรณีเป็นผู้เยาว์/เป็นบุตรของผู้ร้อง)
  2. ทะเบียนบ้าน, บัตรประจำตัวประชาชนของผู้ที่จะเป็นผู้พิทักษ์
  3. ใบมรณบัตรของบิดา/มารดาของผู้ที่จะขอให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ (กรณีถึงแก่กรรม)
  4. ทะเบียนสมรสของผู้ที่จะเป็นผู้พิทักษ์ (กรณีผู้ร้องกับผู้ป่วยเป็นสามีภรรยากันโดยชอบด้วยกฎหมาย)
  5. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล ของผู้ที่จะเป็นผู้พิทักษ์/ผู้ที่จะขอให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
  6. รายงานความเห็นของแพทย์ระบุชัดเจนว่าเป็นโรคอะไร ขณะนี้มีสภาพเป็นอย่างไร
  7. รูปถ่ายผู้ป่วย
  8. หนังสือให้ความยินยอมของทายาท (ดาวน์โหลดเอกสาร) , หรือใบมรณบัตรของทายาท
  9. ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าคำร้องศาล 200 บาท) 

หมายเหตุ  จัดเตรียมสำเนาเอกสารทุกรายการพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 4 ชุด

เอกสารที่ต้องนำมายื่นในการร้องขอให้เป็นคนสาบสูญ

  1. ทะเบียนบ้าน,บัตรประจำตัวประชาชน ของผู้ยื่นคำร้อง
  2. บันทึกประจำวันเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้รับแจ้งว่าบุคคลนั้นได้หายไปจากภูมิลำเนาโดยไม่ทราบว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร
  3. ทะเบียนบ้านของคนที่สาบสูญ
  4. ทะเบียนบ้าน, บัตรประจำตัวประชาชนของพยานที่รับรองว่าบุคคลได้หายไปจริง
    (ผู้ใหญ่บ้าน/กำนัน)
  5. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล 
  6. ใบสำคัญการสมรส (กรณีผู้สาบสูญจดทะเบียนสมรส)
  7. ใบมรณบัตรของบิดามารดาผู้สาบสูญ (กรณีผู้สาบสูญไม่มีคู่สมรส)
  8. ค่าธรรมเนียมศาล (ค่าคำร้องศาล 200 บาท) 

หมายเหตุ  จัดเตรียมสำเนาเอกสารทุกรายการพร้อมรับรองสำเนาถูกต้อง จำนวน 4 ชุด

ติดต่อหน่วยงาน

สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดลำปาง
ตั้งอยู่ในอาคารสำนักงานอัยการลำปาง ชั้น ๑ ภายในบริเวณศาลากลางหลังเก่า
เลขที่ ๒/๑ ถนนบุญวาทย์ ตำบลหัวเวียง   
อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปาง รหัสไปรษณีย์ ๕๒๐๐๐
หมายเลขโทรศัพท์ ๐ ๕๔๒๑ ๗๗๐๐
หมายเลขโทรสาร ๐ ๕๔๒๒ ๒๕๓๕
e-mail : lampang-lawaid@ago.go.th