ข่าวประชาสัมพันธ์ / ภาพกิจกรรม

ผู้บริหารสำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช

นายธิติ คุ้มรักษ์
อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช

ผู้ตรวจการอัยการ ( ท่านกอร์ปกุล วินิจนัยภาค ) พร้อมด้วย ท่านฉัตรชัย ใจดี อธิบดีอัยการภาค 8 และคณะ ลงพื้นที่ตรวจติดตามการปฏิบัติราชการสำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช 31 มกราคม 2567

อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช พร้อมด้วยรองอธิบดีอัยการ อัยการพิเศษฝ่าย ข้าราชการอัยการและธุรการ ร่วมประชุมแนวทาง
การดำเนินการตามตัวชี้วัด และแก้ไขปัญหาของการประเมินประสิทธิภาพ
ประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2567 ( รอบ 6 เดือนและ 12 เดือน )

สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช พร้อมข้าราชการอัยการ และธุรการ ร่วมกิจกรรมวันพระราชทานธงชาติไทย วันที่ 28 กันยายน 2566 ณ บริเวณหน้าเสาธง อาคารสำนักงานอัยการจังหวัดทุ่งสง

สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช ร่วมพิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม 2566 ณ สนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช ร่วมพิธีถวายเครื่องราชสักการะและวางพานพุ่ม และพิธีจุดเทียนถวายพระพรชัยมงคล พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 ณ สนามหน้าเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช

สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช ร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพิธีถวายสัตย์ปฏิญาณเพื่อเป็นข้าราชการที่ดีและพลังของแผ่นดิน เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา 28 กรกฎาคม 2566 26 มิถุนายน 2566 ณ ห้องประชุมชั้น 5 สำนักงานอัยการจังหวัดทุ่งสง

ข่าวประชาสัมพันธ์

การดำเนินคดีปกครองเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง

ความหมายของ “สัญญาทางปกครอง”

     มาตรา ๓  แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้นิยามความหมายของ สัญญาทางปกครองว่า “หมายความรวมถึงสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือ จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ”

     จากนิยามดังกล่าว จะเห็นได้ว่า สัญญาที่จะเป็นสัญญาทางปกครองนั้น ต้องมีลักษณะประกอบด้วย

     ประการแรก  คู่สัญญาอย่างน้อยหนึ่งฝ่ายต้องเป็นฝ่ายปกครองหรือผู้ที่กระทำการแทนฝ่ายปกครอง

     ประการที่สอง  ต้องเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์แห่งสัญญา เป็นการสัมปทานสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะหรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

     และต่อมาที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ได้วางหลักเกณฑ์เพิ่มเติมเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองในการประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ ๖/๒๕๔๔ เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๔๔ ว่า “…รวมถึงสัญญาที่มีข้อกำหนดในสัญญาซึ่งมีลักษณะพิเศษที่แสดงถึงเอกสิทธิ์ของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองซึ่งก็คือการบริการสาธารณะบรรลุผล…” เป็นการกำหนดความหมายอันมีลักษณะทั่วไปของสัญญาทางปกครองหรือลักษณะของสัญญาทางปกครองโดยสภาพ

     ดังนั้น องค์ประกอบของสัญญาทางปกครองจึงอาจแยกได้ดังนี้

     ๑. ต้องเป็นสัญญาที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง หรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ
     มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ให้ความหมายของ “หน่วยงานทางปกครอง” หมายความว่า “กระทรวง ทบวง กรม ส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรม ราชการส่วนภูมิภาค ราชการส่วนท้องถิ่น รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ และให้หมายความรวมถึงหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง” ได้แก่

     ๑. ส่วนราชการที่เป็นราชการส่วนกลาง ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้บัญญัติให้จัดระเบียบบริหารราชการส่วนกลางไว้ คือ สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวงหรือทบวง ซึ่งมีฐานะเทียบเท่ากระทรวง กรม หรือส่วนราชการที่เรียกชื่ออย่างอื่นและมีฐานะเป็นกรมซึ่งสังกัดหรือไม่สังกัด

     นอกจากนี้ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวงกรม พ.ศ. ๒๕๔๕ มาตรา ๔๖ ยังได้บัญญัติให้มีส่วนราชการที่มีฐานะเป็นกรมที่ไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง หรือทบวง อันเป็นราชการส่วนกลางอีก เช่น สำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ราชบัณฑิตยสถาน สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน และสำนักงานอัยการสูงสุด เป็นต้น

     ๒. ราชการส่วนภูมิภาค ตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. ๒๕๓๔ มาตรา ๕๑ ได้แก่ จังหวัด

     ๓. ราชการส่วนท้องถิ่น เช่น กรุงเทพมหานคร เมืองพัทยา องค์การบริหารส่วนจังหวัด องค์การบริหารส่วนตำบล และเทศบาล

     ๔. รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา เช่น การทางพิเศษแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย การไฟฟ้านครหลวง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การรถไฟแห่งประเทศไทย องค์การคลังสินค้า องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย องค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย สำนักงานฉลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น ซึ่งรัฐวิสาหกิจบางแห่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติและบางแห่งจัดตั้งขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกาซึ่งถือว่าเป็นหน่วยงานทางปกครอง ตามคำนิยามของ มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

     อนึ่ง  รัฐวิสาหกิจ  บางประเภทที่จัดตั้งขึ้นโดยการจดทะเบียนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ในรูปบริษัทจำกัด ซึ่งมีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายเอกชน เช่น บริษัท ขนส่ง จำกัด, บริษัท ไม้อัดไทย จำกัด, บริษัท ไทยเดินเรือทะเล จำกัด, บริษัท ท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด หรือ จดทะเบียนเป็นบริษัทมหาชน จำกัด ตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. ๒๕๓๕ หรือตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. ๒๕๔๒ เช่น บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน), บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน), บริษัท ทศท.คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน), ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (มหาชน), ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรีซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลโดยอยู่ในความควบคุมของกระทรวงที่สังกัด เช่น โรงงานยาสูบ อยู่ในความควบคุมดูแลของกระทรวงการคลัง ซึ่งไม่เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา รัฐวิสาหกิจต่างดังกล่าวเหล่านี้แม้จะถือได้ว่าเป็น “หน่วยงานของรัฐ” ประเภทหนึ่งก็ตาม แต่จะไม่ถือว่าเป็นหน่วยงานทางปกครองตามนัยของ มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และพนักงานที่ทำงานอยู่ในรัฐวิสาหกิจดังกล่าวก็จะไม่ถือว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐในอันที่จะมีสิทธิฟ้องหรือถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองได้ดังเช่นตัวอย่าง แนวคำวินิจฉัยของศาลปกครอง ดังนี้

     คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่  ๔/๒๕๔๔ ผู้ถูกฟ้องคดี เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด มีกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ไม่ได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา และมิได้เป็นหน่วยงานอื่นของรัฐจึงมิใช่หน่วยงานทางปกครอง

     คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๒๒/๒๕๔๔ ผู้ถูกฟ้องคดี จัดตั้งขึ้นโดยการจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๑๑ ซึ่งถูกยกเลิกโดยพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสิรมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ตามหลักสหกรณ์โดยมีคณะกรรมการดำเนินการซึ่งที่ประชุมใหญ่เลือกตั้งจากสมาชิกสหกรณ์ฯ ผู้ถูกฟ้องคดี จึงมิใช่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในสหกรณ์ก็เป็นเพียงพนักงานในสหกรณ์มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามความหมายของ มาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒

     คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๓๐/๒๕๔๕ คำนิยามตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้บัญญัติให้รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเท่านั้นเป็นหน่วยงานทางปกครอง ส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์หรือตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัดที่มีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการหรือดำเนินกิจการทางด้านธุรกิจ เช่น บริษัทเอกชนทั่วไปหากรัฐบาลมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่าร้อยละ ๕๐ แม้เข้าเกณฑ์เป็นรัฐวิสาหกิจตามคำนิยามในมาตรา ๔ แห่งพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ ก็ยังไม่เข้าเกณฑ์เป็นรัฐวิสาหกิจตามคำนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒ เพราะมิได้ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกา การที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒ บัญญัติให้รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาเท่านั้นอยู่ในความหมายของคำนิยามว่า “หน่วยงานทางปกครอง” จึงเป็นการตรากฎหมายภายในขอบเขตของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา ๒๗๖ แล้ว ส่วนคำว่า “หน่วยงานอื่นของรัฐ” ที่อยู่ในคำนิยามของคำว่า “หน่วยงานทางปกครอง” ในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒ นั้นหมายถึง หน่วยงานที่รัฐตั้งขึ้นโดยมีกฎหมายกำหนดอำนาจหน้าที่ไว้โดยเฉพาะอันถือได้ว่าเป็นหน่วยงานที่ใช้อำนาจรัฐในทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีมิได้มีกฎหมายให้ใช้อำนาจรัฐในทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครองแต่ประการใดจึงมิใช่หน่วยงานอื่นของรัฐ ตามนัยคำนิยามนี้เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีเป็นรัฐวิสาหกิจ ตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๐๒ เนื่องจากรัฐบาลมีทุนรวมอยู่ด้วยเกินกว่า ร้อยละ ๕๐ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ตามที่ระบุไว้ในหนังสือบริคณห์สนธิผู้ถูกฟ้องคดี จึงเป็นเพียงรัฐวิสาหกิจที่ดำเนินกิจการทางด้านธุรกิจเช่นนิติบุคคลอื่นที่ประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ทั่วไป เมื่อมิได้เป็นรัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติหรือพระราชกฤษฎีกาโดยเฉพาะและมิได้เป็นหน่วยงานอื่ื่นของรัฐที่มีกฎหมายรองรับให้ใช้อำนาจรัฐในทางปกครองหรือดำเนินกิจการทางปกครอง ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมิใช่หน่วยงานทางปกครองและเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดี ก็มิใช่เจ้าหน้าที่ของรัฐตามคำนิยามในมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒ นอกจากนั้น การอนุมัติให้กู้ยืมเงินและการกำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ยืมของผู้ถูกฟ้องคดีตามคำฟ้องก็เป็นการดำเนินกิจการทางด้านธุรกิจของผู้ถูกฟ้องคดีมิได้เป็นการใช้อำนาจรัฐในทางปกครองแต่อย่างใด คดีตามคำฟ้องจึงเป็นคดีพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรมตามมาตรา ๒๗๑ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

     ๕. หน่วยงานอื่นของรัฐ

      นอกจากนี้ องค์การมหาชน ที่ตราขึ้นโดยพระราชกฤษฎีกา ตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. ๒๕๔๒ ถือเป็นหน่วยงานของรัฐ และเป็นนิติบุคคล เช่น สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (สปศ.) สำนักงานสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ โรงพยาบาลบ้านแพ้ว (องค์การมหาชน) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (สทอภ.) สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา (องค์การมหาชน) (สมศ.) ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน) (ศมส.) สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (สคพ.) กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ (องค์การมหาชน) สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน (องค์การมหาชน) เป็นต้น

     ๖. หน่วยงานที่ได้รับมอบหมายให้ใช้อำนาจทางปกครองหรือให้ดำเนินกิจการทางปกครอง ได้แก่ หน่วยงานที่โดยเนื้อแท้แล้วมิใช่หน่วยงานในภาครัฐโดยตรง แต่เป็นหน่วยงานที่ได้รับมอบหมายจากรัฐให้เป็นผู้ใช้อำนาจทางปกครองแทน เช่น เนติบัณฑิตยสภา ตามพระราชบัญญัติเนติบัณฑิตยสภา พ.ศ. ๒๕๐๗ สภาทนายความ ตามพระราชบัญญัติทนายความ พ.ศ. ๒๕๒๘ แพทยสภาตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. ๒๕๒๘ สภาวิศวกรตามพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้น

     ส่วนหน่วยงานภาคเอกชนที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินกิจการทางปกครองในการจัดทำบริการสาธารณะแทน อาจกระทำในรูปของสัญญาสัมปทานเพื่อการบริการสาธารณะ เช่น สำนักงานช่างรังวัดเอกชนตามพระราชบัญญัติช่างรังวัดเอกชน พ.ศ. ๒๕๓๕ หรือสถานตรวจสภาพรถเอกชนตามกฎกระทรวง ฉบับที่ ๓๓ (พ.ศ. ๒๕๓๕) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. ๒๕๒๒ เป็นต้น

     ๒. มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค แสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ หรือ ตกลงให้คู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเข้าดำเนินการหรือร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง หรือ มีลักษณะพิเศษที่แสดงเอกสิทธิ์ของรัฐ

     ตัวอย่างสัญญาทางปกครองที่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน หรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ

     คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๑๘/๒๕๔๗ การที่ผู้ฟ้องคดีซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง ได้ให้สัมปทานทำไม้ป่าชายเลนในโครงการคลองเหมือง (พง.๓๖) ในท้องที่ตำบลเกาะพระทอง อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา แ่ก่ผู้ถูกฟ้องคดี แต่ผู้ถูกฟ้องคดีไม่ชำระเงินค่าเปิดป่าตามที่กำหนดในสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน กรณีจึงเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (ู๔) ประกอบ มาตรา ๗๒ วรรคหนึ่ง (๓) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒

     คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๘๕/๒๕๕๙ ประทานบัตรที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมออกให้ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เพื่อให้ทำเหมืองหินอุตสาหกรรม มีลักษณะเป็นการอนุญาตให้แสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติในเขตพื้นที่ที่กำหนดในประทานบัตรและข้อตกลงการจ่ายผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐ เพื่อตอบแทนการออกประทานบัตรได้กำหนดว่า เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ได้รับอนุญาตประทานบัตรเหมืองแร่หินอุตสาหกรรมตามคำขอแล้วจะจ่ายผลประโยชน์พิเศษเพื่อประโยชน์แก่รัฐให้ผู้ฟ้องคดีจึงเป็นสัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐและมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้แสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งเป็นสัญญาทางปกครองตามนัยบทนิยาม “สัญญาทางปกครอง” ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒

คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๕๘๘/๒๕๔๘       ผู้ฟ้องคดีขออนุญาตประกอบกิจการในที่ดินของรัฐโดยทำการขุดดินลูกรังซึ่งจะต้องได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ตามมาตรา ๙ แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และผู้ฟ้องคดีจะต้องเสียค่าตอบแทนเป็นรายปี ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดี ตามวิธีการและอัตราที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติจังหวัด ตามมาตรา ๙ ทวิ แห่งประมวลกฎหมายเดียวกัน เมื่อข้อเท็จจริง ปรากฏว่าอธิบดีกรมที่ดินได้อนุญาตให้ผู้ฟ้องคดีประกอบกิจการในที่ดินของรัฐโดยการขุดดินลูกรังมีกำหนดเวลา ๕ ปี ไปแล้ว การที่ผู้ฟ้องคดีได้ไปชำระค่าตอบแทนปีแรกเป็นเงิน ๓๐,๐๐๐ บาท ให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีถือได้ว่า ผู้ฟ้องคดีได้ตกลงกับผู้ถูกฟ้องคดีในการที่จะประกอบกิจการเพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จึงเข้าลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

     ตัวอย่างสัญญาทางปกครองที่มีลักษณะเป็นสัญญาให้จัดทำบริการสาธารณะ

     คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๙๗๗/๒๕๔๘   สัญญาอนุญาตให้ประกอบกิจการลานจอดรถยนต์ ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะและเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนที่มาใช้บริการ ณ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ เป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ จึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง

     คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๑๗/๒๕๕๒ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ เป็นส่วนราชการในสังกัดกระทรวงแรงงาน ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองได้ทำสัญญาจ้างให้บริการทางการแพทย์ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ. ๒๕๓๓ กับผู้ฟ้องคดีในนามของโรงพยาบาลลานนา สัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ โดยการให้บริการทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนตามพระราชบัญญัติข้างต้น จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว

     คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๗๒๖/๒๕๔๗ (ประชุมใหญ่เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์การประมวลผลระบบคอมพิวเตอร์ที่ผู้ฟ้องคดีจะต้องส่งมอบเพื่อติดตั้งในโรงพยาบาล ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ มีลักษณะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะใช้ในการเชื่อมโยงและรับส่งข้อมูลของประชาชนที่มาใช้บริการสาธารณะ ด้านการแพทย์จากแผนกหนึ่งไปยังอีกโรงพยาบาลหนึ่งให้สะดวก รวดเร็ว มีประสิทธิภาพ วัตถุแห่งสัญญาในคดีจึงเป็นการซื้อเครื่องมือสำคัญที่จำเป็นต่อการจัดทำบริการสาธารณะด้านการแพทย์ให้บรรลุผล แม้ว่าเจ้าหน้าที่ของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จะเป็นผู้ควบคุมและใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ดังกล่าวก็ตาม แต่วัตถุประสงค์หลักก็เป็นไปเพื่อการจัดทำบริการสาธารณะ อันเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนที่มาใช้บริการ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ และกรณีเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติเดียวกัน ซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลปกครองที่จะรับคำฟ้องไว้พิจารณาได้จึงกลับคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นเป็นให้รับคำฟ้องไว้พิจารณา

     คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๔๘/๒๕๔๗ การว่าจ้างเพื่อจัดหาและติดตั้งเครื่่องช่วยเดินอากาศ ILS ซึ่งเป็นเครื่องมือสำหรับบอกระยะห่างของเครื่องบินจากสถานีควบคุมการบิน อันเป็นเครื่องมือสำคัญที่ผู้รับจ้างจะต้องจัดหามาโดยเฉพาะสำหรับช่วยการเดินอากาศ ไม่สามารถจัดหาได้ทั่วไปในท้องตลาดตลอดจนดำเนินการก่อสร้างอาคาร LOCALIZER และ อาคาร GLIDE SLOPE ซึ่งเป็นอาคารติดตั้งเครื่อง LOCALIZER สำหรับบอกเส้นกึ่งกลางทางวิ่งและเครื่อง GLIDE SLOPE สำหรับบอกมุมร่อนหัวลงในทางวิ่งและปรับปรุงถนนทางเข้าท่าอากาศยาน ทั้งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์ของสัญญาเพื่อให้การจัดระบบการจราจรและการขนส่งทางอากาศดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย จึงเป็นการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง ดังนั้น สัญญาว่าจ้างดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง

คำวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาลที่ ๔๖/๒๕๕๕ กองทุนพัฒนาสหกรณ์ เป็นกองทุนที่จัดตั้งขึ้นในกรมของผู้ฟ้องคดีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นทุนส่งเสริมกิจการของสหกรณ์ตามที่บัญญัติในมาตรา ๒๗ แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. ๒๕๔๒ ดังนั้น การที่ผู้ฟ้องคดีได้ตกลงกันทำสัญญากับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นสหกรณ์การเกษตรตามสัญญาเลขที่ ๑๖/๒๕๔๙ ลงวันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๔๙ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์เพื่อนำไปให้สมาชิกของผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นเกษตรกรกู้ยืมเพื่อนำไปรวบรวมไม้ยูคาลิปตัสอันเป็นผลิตผลของเกษตรกรผู้ทำสวนยูคาลิปตัสเพื่่อแปรรูปจำหน่ายจึงมีลักษณะเป็นการมอบหมายให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ซึ่งเป็นองค์กรเกษตรกรจัดหาเงินกู้หรือสินเชื่อ ให้แก่เกษตรกรไปดำเนินการรวบรวมและแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร อันมีลักษณะเป็นการจัดทำบริการสาธารณะทางด้านการเกษตร สัญญาดังกล่าวเป็นสัญญาทางปกครอง

     คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๕๖/๒๕๕๘ สัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีตามสัญญาจ้างพนักงานจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลนามะเกลือ เลขที่ ๒/๒๕๕๒ ลงวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๒ เป็นพนักงานจ้างตามภารกิจ ตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์ นิติสัมพันธ์ ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นไปตามสัญญาจ้างซึ่งสัญญาดังกล่าวมีลักษณะที่คู่สัญญาฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีภารกิจในการพัฒนาตำบลทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม รวมไปถึงการจัดทำบริการสาธารณะเพื่อประโยชน์ของประชาชนในท้องถิ่นของตนเอง สัญญาจ้างระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นสัญญาที่ให้ผู้ฟ้องคดี เข้าร่วมดำเนินงานจัดทำบริการสาธารณะ จึงเป็นสัญญาทางปกครองตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

     คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๘๑/๒๕๕๓ สัญญาจ้างผู้ฟ้องคดีเป็นผู้บริหารชุมชนโครงการบ้านเอื้ออาทร จำนวน ๗ โครงการเพื่อดำเนินการบริหารชุมชนในโครงการบ้านเอื้ออาทรให้เป็นชุมชนที่น่าอยู่อาศัยอย่างยั่งยืน สมาชิกชุมชนมีวินัย มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน มีคุณภาพชีวิตที่ดี และผู้ฟ้องคดีต้องบริหารงานด้านรักษาความสะอาด งานรักษาความปลอดภัย ควบคุมดูแลระบบไฟฟ้า และน้ำประปาส่วนกลาง อันถือได้ว่าเป็นการจัดทำบริการสาธารณะ สัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นการที่หน่วยงานทางปกครองมอบหมายให้ผู้ฟ้องคดี เข้าดำเนินการหรือร่วมดำเนินการบริการสาธารณะโดยตรง สัญญาดังกล่าวจึงมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง

ตัวอย่างสัญญาทางปกครองที่มีลักษณะเป็นสัญญาที่แสดงถึงเอกสิทธิของรัฐ

     คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๐๔/๒๕๔๔ ข้อกำหนดในสัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดี เป็นข้อกำหนดที่มีลักษณะพิเศษที่ให้เอกสิทธิ์แก่ผู้ว่าจ้างซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายปกครองเป็นอย่างมาก ข้อกำหนดบางข้อของสัญญา เช่น ข้อกำหนดที่ให้สิทธิแก่คู่สัญญาฝ่ายปกครองเพียงฝ่ายเดียวที่จะเลิกสัญญาได้ โดยที่ผู้รับจ้างซึ่งเป็นคู่สัญญาฝ่ายเอกชนไม่ได้ผิดสัญญาในสาระสำคัญ หรือข้อกำหนดที่ให้อำนาจแก่ผู้ว่าจ้างที่จะสั่งให้ผู้รับจ้างทำงานพิเศษเพิ่มเติมได้แม้ไม่เคยมีการระบุไว้ในสัญญาจ้าง โดยผู้รับจ้างไม่มีสิทธิโต้แย้งคัดค้าน แม้กระทั่งเรื่องเวลาการทำงานและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับลักษณะที่เป็นสัญญาสำเร็จรูปของสัญญาจ้างฉบับนี้ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้ฟ้องคดีก่อสร้างหอพักข้าราชการ โรงพยาบาลคณะแพทย์ศาสตร์ของผู้ถูกฟ้องคดีนั้นยังมีลักษณะพิเศษ เพื่อให้การใช้อำนาจทางปกครองหรือการดำเนินกิจการทางปกครองบรรลุผลที่ไม่พบในสัญญาทั่วไปในทางแพ่ง นอกจากนี้ สัญญาระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีฉบับนี้ยังมีการตกลงให้ใช้สัญญาแบบปรับราคาสำหรับราคางานก่อสร้างตามสัญญาจ้างนี้อีกด้วย จึงเห็นว่าสัญญาฉบับนี้ เป็นสัญญาทางปกครอง

สัญญาอุปกรณ์

     สัญญาอุปกรณ์ เช่นสัญญาที่เกิดจากข้อตกลงตามประกาศสอบราคาหรือประกาศประกวดราคา (สัญญาสอบราคา สัญญาหลักประกันซอง หรือสัญญาจะเข้าร่วมประมูลงาน) สัญญาค้ำประกันหากสัญญาหลักเป็นสัญญาทางปกครอง ศาลปกครองสูงสุดวินิจฉัยว่า สัญญาอุปกรณ์ถือเป็นสัญญาทางปกครอง ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาทางปกครองจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองเช่นเดียวกับสัญญาหลัก

     คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดคดีหมายเลขแดงที่ อ.๘/๒๕๕๙ สัญญาค้ำประกันที่พิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า เมื่อผู้ฟ้องคดีมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐและเป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๕๑ ซึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองที่มีวัตถุประสงค์ในการบุกเบิกแสวงหาและเป็นคลังความรู้ ให้การศึกษา ส่งเสริม ประยุกต์ และพัฒนาวิชาชีพชั้นสูง สร้างบัณฑิต วิจัย เป็นแหล่งรวมสติปัญญา และบริการทางวิชาการแก่สังคม ได้ตกลงทำสัญญาจ้างเลขที่ ๔๖/๒๕๕๐ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๙ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๑ ทำการปรับปรุงอาคารเคมี ๑ ซึ่งอาคารดังกล่าวถือเป็นเครื่องมือประกอบการจัดทำบริหารสาธารณะของผู้ฟ้องคดี สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาที่จัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภค อันมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง และเมื่อสัญญาดังกล่าวมีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครอง สัญญาค้ำประกันตามหนังสือค้ำประกันเลขที่ ค. ๐๐๐๑๙/๒๐๐๐๖๕/๐๑๗๐/๔๙ ลงวันที่ ๖ ตุลาคม ๒๕๔๙ ที่ออกโดยผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ เพื่อเป็นการประกันการปฏิบัติงานตามสัญญาพิพาท อันมีลักษณะเป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาประธาน สัญญาค้ำประกันจึงอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองเช่นเดียวกัน ดังนั้น สัญญาค้ำประกันที่พิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีและผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงเป็นกรณีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง การที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ อุทธรณ์ว่า ข้อพิพาทระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาของศาลปกครองจึงไม่อาจรับฟังได้

     หากสัญญาหลักไม่เป็นสัญญาทางปกครอง สัญญาอุปกรณ์ก็ไม่เป็นสัญญาทางปกครองด้วย ไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาศาลปกครอง

     คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๖๕๙/๒๕๕๑ ผู้ฟ้องคดีเป็นสถานศึกษาและวิจัยที่มีวัตถุประสงค์ให้การศึกษาและส่งเสริมวิชาการและวิชาชีพชั้นสูง ทำการสอนทำการวิจัยให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและทะนุบำรุงศิลปะและวัฒนธรรมของชาติ ตามมาตรา ๖๗ แห่งพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๒๒ แต่สัญญาจ้างปรับปรุงภูมิทัศน์และระบบระบายน้ำที่จะทำขึ้นในอนาคต มีเนื้องานส่วนใหญ่เป็นงานปรับปรุงภูมิทัศน์โดยรอบบริเวณอาคารเรียนที่ผู้ฟ้องคดีสร้างใหม่ ซึ่งงานปรับปรุงภูมิทัศน์ดังกล่าวมิได้เกี่ยวเนื่องโดยตรงกับการจัดทำบริการสาธารณะของผู้ฟ้อง จึงไม่เป็นสัญญาทางปกครอง ดังนั้น เมื่อสัญญาหลักที่จะมีขึ้นในอนาคต ไม่เป็นสัญญาทางปกครอง สัญญาหลักประกันซอง ระหว่างผู้ฟ้องคดีกับผู้ถูกฟ้องคดีที่ ๒ จึงไม่มีลักษณะเป็นสัญญาทางปกครองโดยสภาพ ซึ่งส่งผลให้ข้อพิพาทที่เกิดจากสัญญาหลักประกันซองดังกล่าว ไม่เป็นคดีพิพาทเกี่ยวสัญญาทางปกครองที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ

ประเภทของสัญญาทางปกครอง

     สัญญาทางปกครองที่มีการดำเนินคดีปกครองอาจแบ่งประเภทได้ ดังนี้ คือ
     ก. สัญญาทางปกครองเกี่ยวกับการพัสดุ (Marche’ public)
     ข. สัญญารับทุนการศึกษาและลาศึกษาต่อ
     ค. สัญญาสัมปทาน / สัญญาร่วมลงทุน หรือ สัญญาเกี่ยวกับโครงการขนาดใหญ่

การดำเนินคดีปกครองเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครอง

ลักษณะแห่งคำสั่งทางปกครอง

     คำสั่งทางปกครอง ตาม พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ บัญญัติว่า “คำสั่งทางปกครอง” หมายความว่า

     (๑) การใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่ที่มีผลเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว เช่น การสั่งการ การอนุญาต การอนุมัติ การวินิจฉัยอุทธรณ์ การรับรอง และการรับจดทะเบียนแต่ไม่หมายความรวมถึงการออกกฎ

     (๒) การอื่นที่กำหนดในกฎกระทรวง ได้แก่ กฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๒ (พ.ศ. ๒๕๔๓) ออกตามความในพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ซึ่งกำหนดให้การดำเนินการของเจ้าหน้าที่ดังต่อไปนี้ เป็นคำสั่งทางปกครอง ได้แก่

     “๑. การดำเนินการเกี่ยวกับการจัดหาหรือการให้สิทธิประโยชน์ในกรณีดังต่อไปนี้
          (๑) การสั่งรับหรือไม่รับคำเสนอขาย รับจ้าง แลกเปลี่ยน ให้เช่า ซื้อ เช่า หรือให้สิทธิประโยชน์
          (๒) การอนุมัติสั่งซื้อ จ้าง แลกเปลี่ยน เช่า ขาย ให้เช่า หรือให้สิทธิประโยชน์
          (๓) การสั่งยกเลิกกระบวนการพิจารณาคำเสนอหรือการดำเนินการอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
          (๔) การสั่งให้เป็นผู้ทิ้งงาน

     ๒. การให้หรือไม่ให้ทุนการศึกษา”
     ดังนั้น คำสั่งทางปกครองต้องประกอบด้วยลักษณะสำคัญ ๒ ประการ คือ
     ก. เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายของเจ้าหน้าที่
     คำว่า “เจ้าหน้าที่” นั้น มาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ก็บัญญัติให้คำนิยามไว้เช่นกัน โดยบัญญัติว่า “เจ้าหน้าที่” หมายความว่า  บุคคล คณะบุคคล หรือนิติบุคคล ซึ่งใช้อำนาจหรือได้รับมอบให้ใช้อำนาจทางปกครองของรัฐในการดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดตามกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งขึ้นในระบบราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือกิจการอื่นของรัฐหรือไม่ก็ตาม
     ส่วนการใช้อำนาจตามกฎหมายในการออกคำสั่งทางปกครองที่เป็นการอนุญาตเพื่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ร้องขอต่อเจ้าหน้าที่ ได้แก่
     – การสั่งการ ซึ่งอาจเป็นการสั่งบังคับให้บุคคลกระทำการหรือห้ามมิให้บุคคลกระทำการใด
     – การอนุญาต เช่น การอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาในราชอาณาจักรไทยหรือพำนักอาศัยในราชอาณาจักรไทย หรือทำงานในราชอาณาจักรไทย
     – การอนุมัติ เช่น การอนุมัติปริญญาบัตร ประกาศนียบัตรหรือวุฒิบัตร การอนุมัติให้ข้าราชการลาออกจากราชการ การอนุมัติให้ข้าราชการเบิกค่าเช่าบ้าน หรือเบิกค่ารักษาพยาบาล ฯลฯ
     – การวินิจฉัยอุทธรณ์ ซึ่งได้แก่ การวินิจฉัยอุทธรณ์โต้แย้งคำสั่งทางปกครองชั้นต้น
     – การรับรอง เช่น การออกบัตรประจำตัวประชาชน การออกโฉนดที่ดิน การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน การออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง ฯลฯ
     – การรับจดทะเบียน เช่น การรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ การรับจดทะเบียนสัตว์พาหนะ
     – การปฏิเสธคำขอให้ออกคำสั่งทางปกครอง เช่น การปฏิเสธคำขอใบอนุญาต การปฏิเสธคำขออนุมัติ การบรรจุแต่งตั้งบุคคลเป็นข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ การเลื่อนหรือไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการหรือพนักงานของรัฐ การลงโทษข้าราชการหรือพนักงานของรัฐทางวินัย
     อำนาจทางบริหารตามกฎหมายดังกล่าว ใช่ว่าจะเป็นอำนาจทางปกครองเสียทั้งหมด เช่น อำนาจกระทำการตามกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความทั้งหลาย ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญาหรือกฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง ไม่ถือว่าเป็นอำนาจทางปกครอง

      ข. เป็นการที่เจ้าหน้าที่ใช้อำนาจทางปกครอง ซึ่งมีผลโดยตรงเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลในอันที่จะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน ระงับ หรือมีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคล ไม่ว่าจะเป็นการถาวรหรือชั่วคราว โดยกำหนดให้บุคคลฝ่ายหนึ่งมีอำนาจหรือสิทธิที่จะเรียกร้องให้บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งกระทำการหรืองดเว้นกระทำการอย่างใดอย่างหนึ่งและกำหนดให้ฝ่ายหลังนี้มีหน้าที่ต้องกระทำการหรืองดเว้นกระทำการตามที่บุคคลฝ่ายแรกเรียกร้อง

     ดังนั้น คำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งบังคับให้เจ้าหน้าที่ที่อยู่ในบังคับบัญชาของตนกระทำการ ห้ามมิให้กระทำการหรืออนุญาตให้กระทำการหรืองดเว้นกระทำการในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่โดยไม่มีผลกระทบต่อสถานภาพของสิทธิหรือหน้าที่ที่เจ้าหน้าที่มีต่อหน่วยงานมิใช่ “คำสั่งทางปกครอง” แต่เป็น “มาตรการภายในฝ่ายปกครอง” เช่น อธิบดีกรมที่ดินสั่งให้เจ้าพนักงานที่ดินอำเภอผักไห่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ไปช่วยราชการที่สำนักงานที่ดินจังหวัดพระนครศรีอยุธยา หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาไทยสั่งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทยชี้แจงแสดงความคิดเห็น ทำรายงานเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการของกรมการปกครองหรือสอบสวนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปฏิบัติราชการเรื่องใดเรื่องหนึ่งของผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ เป็นต้น

     แต่หากเป็นคำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่มีผลกระทบต่อสถานภาพแห่งสิทธิหรือหน้าที่ที่เจ้าพนักงานที่มีต่อหน่วยงานถือเป็นคำสั่งทางปกครอง เช่น อธิบดีกรมการปกครองออกคำสั่งเลื่อนขั้นเงินเดือนหรือไม่เลื่อนขั้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการในสังกัดกรมการปกครองหรืออธิบดีกรมที่ดินออกคำสั่งลงโทษให้ข้าราชการในสังกัดกรมที่ดินทางวินัย เป็นต้น

    ระยะเวลาในการออกคำสั่งทางปกครอง

     ก. คำสั่งทางปกครองที่มีผู้ขอให้ออก

      พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๙/๑ (แก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๔ บัญญัติว่า “การออกคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือในเรื่องใด หากมิได้มีกฎหมายหรือกฎกำหนดระยะเวลาในการออกคำสั่งในเรื่องนั้นไว้เป็นประการอื่น ให้เจ้าหน้าที่ออกคำสั่งทางปกครองนั้นให้แล้วเสร็จภายในสามสิบวันนับแต่วันที่เจ้าหน้าที่ได้รับคำขอและเอกสารถูกต้องครบถ้วน (หมายถึง ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบและครบถ้วน ตาม มาตรา ๒๗ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๗ มาตรา ๓) ให้เป็นหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปของเจ้าหน้าที่ที่จะกำกับดูแลให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการให้เป็นไปตามวรรคหนึ่ง”

     คำว่า “คำขอ” มีคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ ๑๕๔๕/๒๕๕๘ วินิจฉัยว่า หมายถึง กรณีการออกคำสั่งทางปกครองที่ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ยื่นคำขอ เช่น การออกใบอนุญาตให้ประกอบกิจการ การออกหนังสือรับรอง การรับจดทะเบียน การอนุญาตหรืออนุมัติ เป็นต้น แต่มาตรา ๓๙/๑ มิได้มุ่งหมายใช้บังคับคำสั่งทางปกครองที่เกิดจากการขอให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการตามกฎหมายที่ไม่ได้ก่อให้เกิดสิทธิแก่ผู้ขอ เช่น คำร้องเรียน คำกล่าวหา หรือกล่าวโทษ เป็นต้น

     นอกจากนี้ มาตรา ๓๙/๑ ถือเป็นกฎหมายบังคับใช้ทั่วไป หากมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติระยะเวลาการออกคำสั่งทางปกครองเรื่องนั้นเป็นอย่างอื่น ก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายเฉพาะเรื่องนั้น

     อนึ่ง การออกคำสั่งทางปกครองภายในระยะเวลาเกินกว่าที่มาตรา ๓๙/๑ กำหนดอาจถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควรตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ มาตรา ๙ (๓) ได้

     ข. คำสั่งทางปกครองที่อาจใช้มาตรการบังคับทางปกครองได้

     ในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองที่เป็นคำสั่งให้ชำระเงินตามาตรา ๕๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ และคำสั่งให้กระทำหรือละเว้นกระทำตามมาตรา ๕๘ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ในชั้นเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองมีข้อพึงพิจารณา ดังนี้

     ๑. การบังคับทางปกครองใช้กับคำสั่งทางปกครองประเภทที่ต้องมีการบังคับการให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของการออกคำสั่งทางปกครองนั้น ในกรณีที่ผู้รับคำสั่งทางปกครองฝ่าฝืนไม่ยอมปฏิบัติ ปฏิบัติไม่ถูกต้องหรือปฏิบัติไม่ครบถ้วนตามข้อกำหนดต่างๆ ในคำสั่งทางปกครอง แต่ไม่ใช้กับคำสั่งทางปกครองที่ให้สิทธิประโยชน์กับผู้รับคำสั่งทางปกครอง

     ๒. เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองในฐานะที่เป็นองค์กรผู้ใช้อำนาจรัฐสามารถที่จะพิจารณาดำเนินการบังคับการให้เป็นไปตามคำสั่งทางปกครองได้เอง โดยไม่ต้องฟ้องร้องเป็นคดีต่อศาล อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ดังกล่าวจะมอบอำนาจให้เจ้าหน้าที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่อื่นเป็นผู้ดำเนินการก็ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการ ดังต่อไปนี้
     ๑) การมอบอำนาจให้ดำเนินการของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทำคำสั่งทางปกครองในราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
     ๒) การมอบอำนาจให้ดำเนินการของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทำคำสั่งทางปกครองในราชการส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามกฎหมายที่จัดตั้งราชการส่วนท้องถิ่นนั้น
     ๓) การมอบอำนาจให้ดำเนินการของเจ้าหน้าที่ผู้มีอำนาจทำคำสั่งทางปกครองของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ให้เป็นไปตามกฎหมายที่จัดตั้งรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐนั้น
     ๔) การมอบอำนาจให้ดำเนินการของเจ้าหน้าที่ในระหว่างหน่วยงานตาม (๑) (๒) (๓) ที่มีฐานะเป็นนิติบุคคล ให้เป็นไปตามความตกลงระหว่างหน่วยงานนั้น โดยข้อตกลงดังกล่าวต้องทำเป็นหนังสือและกำหนดตำแหน่งของเจ้าหน้าที่ที่จะมอบและรับมอบไว้ในข้อตกลงนั้น

     ๓. การใช้มาตรการบังคับทางปกครองของเจ้าหน้าที่ ให้ใช้ได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของคำสั่งทางปกครองโดยกระทบกระเทือนต่อผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองน้อยที่สุด

     ๔. ก่อนที่เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองจะดำเนินการบังคับทางปกครอง มีเงื่อนไขการใช้อำนาจบังคับทางปกครอง ๒ ประการ ได้แก่
     ๑) ผู้รับคำสั่งทางปกครองที่จะถูกดำเนินการบังคับทางปกครองจะต้องเป็นเอกชนเท่านั้น
     ๒) ต้องไม่มีการสั่งทุเลาการบังคับทางปกครองเกี่ยวกับคำสั่งทางปกครองไว้ก่อนโดยเจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งหรือผู้มีอำนาจพิจารณาอุทธรณ์หรือผู้มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยความถูกต้องของคำสั่งทางปกครองดังกล่าวและคำสั่งทุเลาการบังคับทางปกครองเป็นคำสั่งทางปกครองที่อาจถูกเพิกถอนได้ภายใต้หลักเกณฑ์การเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง

     ๕. การบังคับทางปกครองไม่ใช้กับเจ้าหน้าที่ด้วยกัน เว้นแต่จะมีกฎหมายกำหนดไว้เป็นอย่างอื่นตามที่กำหนดใน มาตรา ๕๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ อนึ่ง คำว่าเจ้าหน้าที่ตามมาตรานี้ หมายถึง เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติตามอำนาจหน้าที่อันเป็นตัวแทนของรัฐ (ฝ่ายปกครอง) เท่านั้น ไม่รวมถึงเจ้าหน้าที่ในความหมายมาตรา ๕ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ (ความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เรื่องเสร็จที่ ๔๙๔/๒๕๔๕ กรณีที่เจ้าหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเพราะกระทำละเมิดต่อหน่วยงานของรัฐ ถึงแม้จะเป็นการกระทำละเมิดในการปฏิบัติหน้าที่ แต่เมื่อเป็นกรณีที่ต้องรับผิดเป็นการส่วนตัว เจ้าหน้าที่ผู้นั้นจะมีสถานะเป็นเพียงเอกชนเท่านั้น) และหากเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้รับคำสั่งทางปกครองนั้นถึงแก่ความตาย การใช้มาตรการบังคับทางปกครองย่อมไม่อาจกระทำได้ แต่ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งทางปกครองเกษียณอายุราชการหรือพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ตาม หน่วยงานของรัฐก็ยังมีอำนาจในการใช้มาตรการบังคับทางปกครองได้ (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๗๓/๒๕๔๖ และที่ ๓๓๑/๒๕๔๖)

     ค. คำสั่งทางปกครองที่เป็นการเพิกถอนคำสั่งทางปกครอง

     การเพิกถอนคำสั่งทางปกครองเป็นการทบทวนคำสั่งทางปกครองซึ่งเป็นการควบคุมภายในฝ่ายปกครองและเป็นเหตุที่ทำให้คำสั่งทางปกครองสิ้นผลลงตามมาตรา ๔๒ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ผู้ทำคำสั่งทางปกครองหรือผู้บังคับบัญชาของเจ้าหน้าที่ผู้นั้นอาจเพิกถอนคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือชอบด้วยกฎหมายได้ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๙ ถึงมาตรา ๕๓ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙

องค์ประกอบของคำสั่งทางปกครอง

     การพิจารณาว่าคำสั่งลักษณะใดเป็นคำสั่งทางปกครองนั้น จำต้องพิจารณาองค์ประกอบ ดังนี้
     ๑) คำสั่งนั้นต้องเป็นการกระทำโดยเจ้าหน้าที่ซึ่งมีอำนาจในเรื่องนั้น (มาตรา ๑๒ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙)
     ๒) คำสั่งนั้นต้องเป็นการใช้อำนาจทางปกครองตามกฎหมายฝ่ายเดียว
     ๓) คำสั่งนั้นต้องเป็นการสร้างนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล
     ๔) คำสั่งนั้นต้องมีผลเฉพาะกรณี และ
     ๕) คำสั่งนั้นต้องมีผลโดยตรงออกไปภายนอกฝ่ายปกครอง

เนื้อหาของคำสั่งทางปกครอง

     คำสั่งทางปกครองที่ออกโดยหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น จะต้องเป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย หากหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งทางปกครองไม่ชอบด้วยกฎหมายในกรณีใดกรณีหนึ่งหรือหลายกรณีดังต่อไปนี้ ก็อาจถูกฟ้องเป็นคดีพิพาทเกี่ยวกับการที่หน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกคำสั่งโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายได้ (มาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๑) แห่งพระราบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒)

     ๑) ออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่มีอำนาจ
     ๒) ออกคำสั่งทางปกครองโดยนอกเหนืออำนาจหน้าที่
     ๓) ออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย
     ๔) ออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ถูกต้องตามรูปแบบขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น
     ๕) ออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่สุจริต
     ๖) ออกคำสั่งทางปกครองโดยมีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรม
     ๗) ออกคำสั่งทางปกครองโดยมีลักษณะเป็นการสร้างขั้นตอนโดยไม่จำเป็น
     ๘) ออกคำสั่งทางปกครองโดยมีลักษณะเป็นการสร้างภาระให้เกิดกับประชาชนเกินสมควร
     ๙) ออกคำสั่งทางปกครองโดยเป็นการใช้ดุลพินิจโดยมิชอบ

รูปแบบของคำสั่งทางปกครองที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินคดีปกครอง ได้แก่

     ๑. คำสั่งทางปกครองอาจทำเป็นหนังสือหรือวาจาก็ได้ (พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มาตรา ๓๔
     ๒. คำสั่งทางปกครองที่ทำเป็นหนังสือและการยืนยันคำสั่งทางปกครองเป็นหนังสือต้องจัดให้มีเหตุผลไว้ด้วยและเหตุผลนั้นอย่างน้อยต้องประกอบด้วย ข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญข้อกฎหมายที่อ้างอิงและข้อพิจารณาและข้อสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจตามนัยมาตรา ๓๗ วรรคหนึ่งแห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ มิฉะนั้น ถือว่าเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เว้นแต่เป็นกรณีที่กำหนดไว้ตามมาตรา ๓๗ วรรคสาม ที่เจ้าหน้าที่ไม่ต้องให้เหตุผลประกอบคำสั่งทางปกครอง กล่าวคือ

     ๑) เป็นกรณีที่มีผลตงตามคำขอและไม่กระทบสิทธิและหน้าที่ของบุคคลอื่น
     ๒) เหตุผลนั้นเป็นที่รู้กันอยู่แล้วโดยไม่จำต้องระบุอีก
     ๓) เป็นกรณีที่ต้องรักษาไว้เป็นความลับตามมาตรา ๓๒ และ
     ๔) เป็นการออกคำสั่งทางปกครองด้วยวาจาหรือเป็นกรณีเร่งด่วน แต่ต้องให้เหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรในเวลาอันควรหากผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งนั้นร้องขอ

     นอกจากนี้ มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง คำสั่งทางปกครองที่ต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งหรือในเอกสารแนบท้ายคำสั่งประกาศ ณ วันที่ ๓๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๓ กำหนดให้คำสั่งทางปกครองต่อไปนี้ จะต้องระบุเหตุผลไว้ในคำสั่งนั้น หรือในเอกสารแนบท้ายคำสั่งนั้นเสมอ ได้แก่

     ๑) คำสั่งทางปกครองที่เป็นการปฏิเสธการก่อตั้งสิทธิของคู่กรณี เช่น การไม่รับคำขอการไม่อนุญาต ไม่อนุมัติไม่รับรอง ไม่รับอุทธรณ์หรือไม่รับจดทะเบียน
     ๒) คำสั่งทางปกครองที่เป็นการเพิกถอนสิทธิ เช่น การเพิกถอนใบอนุญาต เพิกถอนการอนุมัติ เพิกถอนการรับรอง หรือเพิกถอนการรับจดทะเบียน
     ๓) คำสั่งทางปกครองที่กำหนดให้กระทำการหรือละเว้นกระทำการ
     ๔) คำสั่งทางปกครองที่เป็นคำวินิจฉัยอุทธรณ์
     ๕) คำสั่งยกเลิกการสอบราคา การประกวดราคา หรือการประมูลราคาที่มีผู้ได้รับคัดเลือกจากคณะกรรมการที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาผลการดำเนินการดังกล่าวแล้ว

     คำสั่งทางปกครองที่ออกโดยฝ่าฝืนวิธีพิจารณาในการออกคำสั่งทางปกครองย่อมเป็นคำสั่งทางปกครองที่ไม่สมบูรณ์หรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่บทบัญญัติมาตรา ๔๑ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙  ได้เปิดช่องให้เจ้าหน้าที่สามารถแก้ไขเยียวยาความบกพร่องของคำสั่งทางปกครองให้กลับมาสมบูรณ์หรือชอบด้วยกฎหมายได้ ๔ กรณีตามมาตรา ๔๑ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว ดังนี้

     ๑) การออกคำสั่งทางปกครองโดยยังไม่มีผู้ยื่นคำขอ ในกรณีที่เจ้าหน้าที่จะดำเนินการเองไม่ได้ นอกจากจะมีผู้ยื่นคำขอ ถ้าต่อมาในภายหลังได้มีการยื่นคำขอเช่นนั้นแล้ว
     ๒) คำสั่งทางปกครองที่ต้องจัดให้มีเหตุผลตามมาตรา ๓๗ วรรคหนึ่ง ถ้าได้มีการจัดให้มีเหตุผลดังกล่าวในภายหลัง
     ๓) การรับฟังคู่กรณีที่จำเป็นต้องกระทำได้ดำเนินการมาโดยไม่สมบูรณ์ ถ้าได้มีการรับฟังให้สมบูรณ์ในภายหลัง
     ๔) คำสั่งทางปกครองที่ต้องให้เจ้าหน้าที่อื่นให้ความเห็นชอบก่อนถ้าเจ้าหน้าที่นั้นได้ให้ความเห็นชอบในภายหลัง

     ๔. คำสั่งทางปกครองที่ไม่ต้องอุทธรณ์หรือโต้แย้ง

     คำสั่งทางปกครองบางประเภทที่ไม่จำต้องอุทธรณ์โดยสามารถนำมาฟ้องต่อศาลปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนได้ทันทีเพราะไม่มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนหรือวิธีการสำหรับการแก้ไขความเดือดร้อนหรือเสียหายไว้โดยเฉพาะตามมาตรา ๔๒ วรรคสองแห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้แก่คำสั่งทางปกครอง ดังต่อไปนี้

     ๑) คำสั่งทางปกครองที่ออกโดยรัฐมนตรี ตามมาตรา ๔๔ วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เช่น คำวินิจฉัยของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมที่ไม่รับคำขอให้พิจารณาค่าทดแทนการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ใหม่ เป็นต้น
     ๒) คำสั่งทางปกครองที่ออกโดยคณะกรรมการตามมาตรา ๔๘ ประกอบ มาตรา ๘๗ แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. ๒๕๓๙ เช่น มติของสภามหาวิทยาลัยที่ให้ดำเนินการสรรหาบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งคณบดี เป็นต้น

ที่มา : คู่มือข้อแนะนำการดำเนินคดีปกครอง สำหรับหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. ๒๕๖๐ สำนักงานคดีปกครอง สำนักงานอัยการสูงสุด

อัยการสูงสุดAttorney General
รองอัยการสูงสุดDeputy Attorney General
ผู้ตรวจการอัยการInspector General
อธิบดีอัยการDirector General
อธิบดีอัยการภาคDirector General for Regional Public Prosecution
รองอธิบดีอัยการDeputy Director General
รองอธิบดีอัยการภาคDeputy Director General for Regional Public Prosecution
อัยการพิเศษฝ่ายExecutive Director
อัยการผู้เชี่ยวชาญพิเศษSenior Expert Public Prosecutor
อัยการผู้เชี่ยวชาญExpert Public Prosecutor
อัยการจังหวัดProvincial Chief Public Prosecutor
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสุงสุดProvincial Public Prosecutor attached to the Office of the Attorney General
อัยการประจำสำนักงาน
อัยการสูงสุด
Public Prosecutor attached to the Office of the Attorney General
รองอัยการจังหวัดDeputy Provincial Chief Public Prosecutor
อัยการประจำกองDivisional Public Prosecutor
อัยการจังหวัดผู้ช่วยAssistant Provincial Public Prosecutor
อัยการผู้ช่วยAssistant Public Prosecutor
อัยการอาวุโสSenior Public Prosecutor
เลขานุการอัยการสูงสุดSecretary to the Attorney General
รองเลขานุการอัยการสูงสุดDeputy Secretary to the Attorney General
ผู้ช่วยเลขานุการอัยการสูงสุดAssistant Secretary to the Attorney General
เลขานุการรองอัยการสูงสุดSecretary to the Deputy Attorney General
ผู้ช่วยเลขานุการรองอัยการสูงสุดAssistant Secretary to the Deputy Attorney General
เลขานุการผู้ตรวจการอัยการSecretary to the Inspector General
ผู้ช่วยเลขานุการผู้ตรวจการอัยการAssistant Secretary to the Inspector General
ผู้อำนวยการDirector
ประเภทตำแหน่ง ชื่อตำแหน่งในสายงานClassification Title
1. บริหาร   
ก. ระดับต้น        (Primary Level)   
ข. ระดับสูง        (Higher Level)
นักบริหารExecutive
2. อำนวยการ   
ก. ระดับต้น        (Primary Level) 
ข. ระดับสูง        (Higher Level)
ผู้อำนวยการDirector
3. วิชาการ   
 ก. ระดับปฏิบัติการ         (Practitioner Level)   
ข. ระดับชำนาญการ         (Professional Level)   
ค. ระดับชำนาญการพิเศษ          (Senior Professional           Level)   
 ง. ระดับเชี่ยวชาญ         (Expert Level)   
จ. ระดับทรงคุณวุฒิ         (Advisory Level) 
นักจัดการงานทั่วไปนักทรัพยากรบุคคลนิติกรนักวิเคราะห์นโยบายและแผนนักประชาสัมพันธ์นักวิชาการคอมพิวเตอร์นักวิชาการพัสดุนักวิชาการสถิตินักวิเทศสัมพันธ์นักวิชาการเงินและบัญชีนักวิชาการตรวจสอบภายในนักวิเคราะห์งบประมาณมัณฑนากรวิศวกรไฟฟ้าวิศวกรโยธาสถาปนิกบรรณารักษ์ General Administration OfficerHuman Resource OfficerLegal OfficerPlan and Policy AnalystPublic Relations OfficerComputer Technical OfficerSupply AnalystStatisticianForeign Relations OfficerFinance and Accounting AnalystInternal AuditorBudget AnalystInterior DesignerElectrical EngineerCivil EngineerArchitectLibrarian 
4. ทั่วไป   
ก. ระดับปฏิบัติงาน        (Operational Level) 
 ข. ระดับชำนาญงาน        (Experienced Level)   
ค. ระดับอาวุโส        (Senior Level) 
 ง. ระดับทักษะพิเศษ        (Highly Skilled Level) 
เจ้าพนักงานธุรการ เจ้าพนักงานพัสดุเจ้าพนักงานการเงินและบัญชีเจ้าพนักงานห้องสมุดเจ้าพนักงานสื่อสารเจ้าพนักงานโสตทัศนศึกษานายช่างโยธาGeneral Service Officer หรือOffice Clerk Supply OfficerFinance and Accounting OfficerLibrary Service OfficerTelecommunications OfficerAudio-Visual OfficerCivil Works Technician 

เกี่ยวกับสำนักงาน

ประวัติความเป็นมาของ สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช

                  สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช เปิดทำการเมื่อวันที่ ๑๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๖ เป็นส่วนราชการในสำนักงานอัยการสูงสุด การจัดการและการแบ่งส่วนราชการของสำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช โดยคำสั่งสำนักงานอัยการสูงสุดที่ ๓๒๙/๒๕๔๔ เรื่อง การจัดระเบียบบริหารราชการและการแบ่งส่วนราชการ (ฉบับที่ ๖) สั่ง ณ วันที่ ๗ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๔๔ และตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสำนักงานอัยการสูงสุด พ.ศ. ๒๕๔๖ ข้อ ๒ (๓๕) แบ่งส่วนราชการสำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราชเป็น ๒ ฝ่ายคือฝ่ายกิจการทั่วไปและสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครองนครศรีธรรมราช ๑-๒ ข้อ ๓ (๓๕)  ให้สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช มีอำนาจหน้าที่

(ก) รับผิดชอบการดำเนินคดีทั้งปวงที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการหรือสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราช
(ข) ปฏิบัติงานร่วมกันหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมาย

อำนาจหน้าที่

อำนาจหน้าที่ของสำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช

อธิบดีอัยการฝ่ายคดีปกครองเป็นหัวหน้าสำนักงานและเป็นผู้บังคับบัญชาข้าราชการในสังกัดและรับผิดชอบบริหารราชการสำนักงาน ทำหน้าที่เป็นกรรมการของคณะกรรมการบริหารราชการแบบบูรณาการของสำนักงานอัยการเขต ๘
รองอธิบดีอัยการฝ่ายคดีปกครองนครศรีธรรมราช ๑ นาย เป็นผู้ช่วยในการบริหารราชการ
อัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครองนครศรีธรรมราช เป็นหัวหน้าสำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครองนครศรีธรรมราช
เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไปทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายกิจการทั่วไป  และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลและบังคับบัญชาของอัยการสูงสุด

 สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราชมีอำนาจหน้าที่

              (ก) รับผิดชอบการดำเนินคดีทั้งปวงที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการ
หรือสำนักงานอัยการสูงสุด ซึ่งอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองนครศรีธรรมราช
กล่าวคือ มีเขตอำนาจตลอดท้องที่ จังหวัดสุราษฏร์ธานี จังหวัดนครศรีธรรมราช จังหวัดชุมพร
               (ข) ปฏิบัติงานร่วมกันหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมาย
ส่วนราชการในสำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช

สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครองนครศรีธรรมราช ๑-๒

๑. รับผิดชอบงานสำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช ตามที่สำนักงานอัยการสูงสุดกำหนด
๒. ปฏิบัติงานร่วมกันหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมาย

ฝ่ายกิจการทั่วไป

           ๑. รับผิดชอบงานธุรการ งานสารบบคดี งานบริหารงานบุคคล งานเลขานุการ งานการเงิน
และบัญชีและงานที่เกี่ยวข้องกับอาคารสถานที่ พัสดุและยานพาหนะของสำนักงาน
คดีปกครองนครศรีธรรมราช
           ๒. ปฏิบัติงานร่วมกันหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องที่ได้รับมอบหมาย

วิสัยทัศน์ (Vision)

“องค์กรนำในการใช้กฎหมาย เพื่อรักษาความยุติธรรมให้กับประชาชนและสังคม”

พันธกิจ (Missions)

1. ยกระดับคุณภาพมาตรฐานงานตามภารกิจ ด้านการอํานวยความยุติธรรม การรักษาผลประโยชน์ของรัฐและประชาชน และการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและช่วยเหลือทาง กฎหมายแก่ประชาชนให้มีคุณภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้ เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา
2. พัฒนาความร่วมมือ บูรณาการเครือข่ายองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้านการพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปและตอบสนองต่อนโยบายรัฐบาลเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของประเทศ
3. เพิ่มศักยภาพมาตรฐานกลไกการบริหารจัดการระบบงานและกระบวนการทํางานที่สําคัญ รวมทั้งการพัฒนาระบบติดตามประเมินผลและระบบจัดการองค์ความรู้เพื่อมุ่งสู่การสร้างนวัตกรรมโดยมีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นพื้นฐาน
4. พัฒนาองค์กรให้มีคุณภาพคู่คุณธรรมตามหลักธรรมาภิบาล บุคลากรมีสมรรถนะสูง มีคุณธรรม จริยธรรม และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

โครงสร้าง (Structure)
วัฒนธรรมองค์กร

ข้าราชการอัยการ

นายธิติ คุ้มรักษ์
อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช

นายอุดมเกียรติ พูลสวัสดิ์
รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช

สำนักงานคดีอัยการพิเศษฝ่ายคดีปกครองนครศรีธรรมราช 1

นายพิสิทธิ์พล ภูมิศิริสวัสดิ์
อัยการพิเศษฝ่าย ๑

นายชัชชาย บุญญาธิการ

อัยการผู้เชี่ยวชาญ

นายพิทยา วีระพงศ์
อัยการอาวุโส

นายนิพล ดวงขวัญ
อัยการอาวุโส

ข้าราชการธุรการ

นายนพกรฏ ไกรแก้ว
ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการ

นางสาววิลัยวรรณ์ จันทร์จำปา
นิติกรชำนาญการพิเศษ

นางอุไรรัตน์ ต่วนมิหน้า
นิติกรชำนาญการ

นางศิริผกา สินดำ
เจ้าพนักงานคดีชำนาญการ

นางสาวยุภาพร รัตนบุรี
นักจัดการงานทั่วไปชำนาญการ

นายสราวุฒิ เอียดแก้ว
เจ้าพนักงานคดีปฎิบัติการ

นางกาญจนา กลิ่นนวล
นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ

นางสาวอัมพิกา เพชรรักษ์
นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ

นางสาวนิลวดี ดำเพ็ง
นักจัดการงานทั่วไปปฏิบัติการ

นางสาวนธิตา รัตนวัย
นิติกรปฎิบัติการ

นายกฤตธีร์ พาลเสือ
นิติกรปฎิบัติการ

นางมยุรีย์ หางนาค
เจ้าพนักงานธุรการปฏิบัติการ

นางสาวกานดา ทวีสุข
พนักงานเครื่องคอมพิวเตอร์

นายวรากร สรรพกิจผล
พนักงานขับรถ

กระบวนงานคดีปกครอง

การส่งเรื่องสำนวนคดีปกครอง
     การส่งเรื่องหรือสำนวนคดีปกครองให้แก่สำนักงานคดีปกครองที่อยู่ในเขตอำนาจ เพื่อขอให้สำนักงานคดีปกครองเป็นผู้รับมอบอำนาจดำเนินคดีนั้นให้ดำเนินการ ดังนี้
     ๑. หน่วยงานที่ส่งเรื่องจัดเจ้าหน้าที่นำส่งสำนวนคดีด้วยตนเอง
     ๒. การส่งโดยวิธีอื่นหรือโดยไปรษณีย์
            ให้มีหนังสือส่งเรื่องถึง “อธิบดีอัยการ สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช” สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช เลขที่ ๒๖๔ ชั้น ๔ ถนนนคร-ทุ่งสง ตำบลถ้ำใหญ่  อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ๘๐๑๑๐

ผู้มีอำนาจในการขอให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแทน
     ๑. กรณีที่ตัวความเป็นส่วนราชการ ผู้ที่จะติดต่อขอให้สำนักงานคดีปกครองดำเนินคดีต้องเป็นส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคล ผู้ที่ลงนามในหนังสือติดต่อต้องเป็นหัวหน้าส่วนราชการที่เป็นนิติบุคคล เช่น กระทรวง ได้แก่ ปลัดกระทรวง เป็นต้น
     ๒. กรณีตัวความเป็นราชการส่วนภูมิภาค ผู้ที่จะติดต่อขอให้สำนักงานคดีปกครองดำเนินคดีและผู้ที่ลงนามในหนังสือติดต่อต้องเป็นผู้ว่าราชการจังหวัด
     ๓. กรณีที่เป็นรัฐวิสาหกิจที่อยู่ในอำนาจรับดำเนินคดีของสำนักงานอัยการสูงสุด หรือองค์การมหาชน ผู้ที่จะติดต่อขอให้สำนักงานคดีปกครองดำเนินคดีและผู้ที่ลงนามในหนังสือติดต่อต้องเป็นผู้แทนของหน่วยงานดังกล่าว
     ๔. กรณีที่เจ้าพนักงานของรัฐถูกฟ้อง เจ้าพนักงานของรัฐต้องเสนอเรื่องตามลำดับชั้นจนถึงส่วนราชการที่บังคับบัญชาของผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ที่มีอำนาจลงนามในหนังสือต้องเป็นหัวหน้าส่วนราชการนั้น ๆ เช่น ผู้อำนวยการสำนักการคลังกรุงเทพมหานครถูกฟ้องคดี ผู้ที่มีอำนาจลงนามในหนังสือต้องเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นต้น

ประเภทคดีและการเตรียมการเพื่อส่งเรื่องให้พนักงานอัยการ

    คดีปกครองที่อาจส่งสำนวนหรือเรื่องให้สำนักงานคดีปกครองดำเนินการ อาจแบ่งได้ดังนี้
    ๑. กรณีขอให้ฟ้องคดีหรือสำนวนว่าต่าง
    ๒. กรณีขอให้ยื่นคำให้การหรือฟ้องแย้ง
    ๓. กรณีขอให้คัดค้านการขอทุเลาการบังคับตามกฎหรือคำสั่งการขอบรรเทาทุกข์ชั่วคราวหรือการขอให้คุ้มครองประโยชน์ในระหว่างการพิจารณาคดีเพื่อบังคับตามคำพิพากษาและการไต่สวนคำร้องขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาลของคู่กรณีอีกฝ่าย
    ๔. กรณีการขอบังคับหรือเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ

กรณีขอให้ฟ้องคดีหรือสำนวนว่าต่าง

     สำนวนคดีว่าต่าง  หมายถึง สำนวนคดีที่เป็นข้อพิพาททางปกครองที่หน่วยงานของรัฐเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายและประสงค์จะฟ้อง ให้ศาลมีคำสั่งหรือคำพิพากษา บังคับให้คู่กรณีที่เป็นเอกชนต้องชำระเงิน หรือกระทำการ หรืองดเว้นกระทำการ โดยขอให้ยื่นคำฟ้องหรือคำร้องต่อศาลปกครอง

การเตรียมการของตัวความ  มีดังนี้

    ๑. หน่วยงานตัวความต้องจัดทำสรุปข้อเท็จจริงแสดงความเป็นมาของคดี เริ่มต้นจากฐานะทางกฎหมายของหน่วยงานตัวความ ฐานะทางกฎหมายของผู้ถูกฟ้องคดี ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงานตัวความกับผู้ถูกฟ้องคดี ข้อโต้แย้งสิทธิที่เกิดขึ้น หน่วยงานตัวความได้ดำเนินการทวงถามให้เป็นไปตามสิทธิที่กฎหมายกำหนด และหรือสัญญากำหนดแล้วหรือไม่ ประการใดหรือได้แจ้งสงวนสิทธิการเรียกเงินค่าปรับและบอกเลิกสัญญาแล้วหรือไม่ประการใด ผู้ถูกฟ้องคดีละเลยไม่ชำระหนี้หรือไม่อย่างไร ความประสงค์ของหน่วยงานตัวความที่จะเรียกร้องจากผู้ถูกฟ้องคดี พร้อมสำเนาเอกสารที่เกี่ยวข้องให้สัมพันธ์กับข้อเท็จจริงดังกล่าวตามลำดับเหตุการณ์ของเรื่อง  โดยหน่วยงานตัวความต้องรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารทุกแผ่นทุกหน้า และให้ผู้ประสานงานคดีนำมาส่งหากไม่ถูกต้องครบถ้วนจะได้แนะนำให้ดำเนินการต่อไป

     ทั้งนี้ ในบันทึกสรุปข้อเท็จจริงข้างต้น ต้องจัดให้มีการลงนามท้ายบันทึกสรุปข้อเท็จจริงโดยผู้แทนของหน่วยงานที่ส่งเรื่องหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบ

     ๒. หน่วยงานของตัวความต้องชี้แจงข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวกับวันครบกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีของข้อพิพาทตามความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ในวันใด พร้อมเหตุผลว่าคดีดังกล่าวครบระยะเวลาการฟ้องคดีในวันดังกล่าวเพราะเหตุใดมาในหนังสือนำส่งเรื่องเพื่อดำเนินคดี

     ทั้งนี้ ตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ นร ๐๕๐๕/ว ๑๘๔ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๙ และมติคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาคดีแพ่งและคดีปกครอง การส่งเรื่องไปยังสำนักงานคดีปกครองเพื่อดำเนินคดีนั้นให้หน่วยงานตัวความเร่งรัด รวบรวมข้อเท็จจริงพร้อมพยานหลักฐานให้ครบถ้วน และส่งไปยังสำนักงานคดีปกครองก่อนครบกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีไม่น้อยกว่า ๓ เดือน ตามความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครอง และวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

     ดังนั้น ในหนังสือนำส่งเรื่องหรือสำนวนคดีขอให้ระบุวันที่จะครบกำหนดเวลาการฟ้องคดีในวันใด พร้อมเหตุผลว่าคดีดังกล่าวครบระยะเวลาการฟ้องคดีในวันดังกล่าวเพราะเหตุใด นอกจากนี้ในกรณีมีการขยายเวลาการยื่นคำให้การ กรณีเป็นผู้ถูกฟ้องคดีก่อนส่งเรื่องขอให้ระบุการยื่นขยายเวลายื่นคำให้การและวันที่ศาลอนุญาตให้ขยายมาในหนังสือนำส่งเรื่องเพื่อดำเนินคดีด้วย

     ๓. การปิดอากรแสตมป์เอกสารที่เกี่ยวข้อง เช่น สัญญา หากต้องปิดอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนดให้ปิดอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามกฎหมายและขีดฆ่าอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนก่อนคัดถ่ายสำเนามาเพื่อประกอบการพิจารณาเพราะหนังสือสัญญาที่ต้องปิดอากรแสตมป์หากฝ่าฝืนไม่ปิดอากรแสตมป์ให้ถูกต้องไม่อาจใช้เป็นเอกสารหลักฐานในการดำเนินคดีได้

     ๔. เอกสารแสดงฐานะของผู้ถูกฟ้องคดี
         ๑. การขอให้ฟ้องคดีต่อบุคคลธรรมดาหน่วยงานตัวความต้องดำเนินขอการคัดสำเนาและขอรับรองรายการทะเบียนราษฎรไปประกอบการพิจารณา
         ๒. กรณีนิติบุคคล หน่วยงานตัวความต้องส่งหนังสือรับรองการจดทะเบียนของนิติบุคคลฉบับปัจจุบันที่คัดถ่ายมาไม่เกิน ๑ เดือน ในขณะที่ส่งเรื่องเพื่อพิจารณาถึงฐานะของนิติบุคคลว่าถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้วหรือไม่ประการใด กรณีที่นิติบุคคลที่จะถูกดำเนินคดีถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทแล้วหน่วยงานตัวความต้องไปดำเนินการยกฐานะของนิติบุคคลที่ถูกขีดชื่อออกจากทะเบียนดังกล่าวกลับคืนสู่ทะเบียนหุ้นส่วนบริษัทให้แล้วเสร็จก่อนที่จะส่งเรื่องมาเพื่อดำเนินคดี มิฉะนั้นไม่อาจฟ้องคดีได้เพราะถือว่านิติบุคคลนั้นสิ้นสภาพบุคคลแล้ว
         ๓. การตรวจสอบสถานภาพการล้มละลายของผู้ถูกฟ้องคดี การขอตรวจสอบสถานภาพการล้มละลายของผู้ถูกฟ้องคดีเป็นข้อที่ไม่ควรละเลย โดยเฉพาะกรณีที่ไม่ได้ติดต่อกับนิติบุคคลผู้ประสงค์จะฟ้องคดีเพราะหากผู้นั้นตกเป็นบุคคลล้มละลายก็ไม่อาจฟ้องคดีได้ต้องดำเนินการขอรับชำระหนี้ต่อเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์แทน ซึ่งมีกำหนดเวลาเพียง ๒ เดือนนับแต่วันโฆษณาคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์เด็ดขาด
        ๔. ใบมอบอำนาจให้ดำเนินคดี การมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน กรณีที่ผู้ลงนามในใบมอบอำนาจมิใช่ผู้แทนของนิติบุคคลต้องแนบคำสั่งมอบอำนาจของผู้แทนนิติบุคคลหรือคำสั่งแต่งตั้งการดำรงตำแหน่งของผู้มอบอำนาจ หลักฐานบัตรประจำตัวของผู้แทนนิติบุคคลหรือผู้มอบอำนาจ อย่างน้อยจำนวนละ ๒ ชุด
        ๕. การคำนวณจำนวนค่าเสียหาย ในกรณีที่พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนเห็นว่าพยานหลักฐานที่รวบรวมมาข้างต้นเพียงพอแก่การดำเนินคดีแล้วหากเป็นกรณีที่ต้องคำนวณค่าเสียหายพร้อมทั้งดอกเบี้ยตามสัญญาและดอกเบี้ยฐานผิดนัดตามกฎหมายพนักงานอัยการจะได้มีหนังสือแจ้งให้ตัวความคำนวณดอกเบี้ยให้ถูกต้องสอดคล้องตามสัญญา และหรือเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดจนถึงกำหนดวันที่จะฟ้องคดี ให้หน่วยงานคำนวณค่าเสียหายพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันที่พนักงานอัยการได้แจ้งกำหนดวันที่จะยื่นฟ้อง
       เมื่อพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนเห็นว่า คดีดังกล่าวมีหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการฟ้องร้องและได้กำหนดวันที่จะฟ้องร้องดำเนินคดีแล้ว พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนจะได้ประมาณการค่าธรรมเนียมศาลที่ต้องชำระ และมีหนังสือแจ้งให้ตัวความเตรียมเงินค่าธรรมเนียมศาลที่ต้องชำระ และมีหนังสือแจ้งให้ตัวความเตรียมเงินค่าธรรมเนียมไปชำระยังศาลปกครอง โดยหน่วยงานตัวความอาจชำระเป็นเงินสดหรือเช็คธนาคาร ให้สั่งจ่ายในนาม “เงินค่าธรรมเนียมและเงินค่าปรับของสำนักงานศาลปกครอง….” หากเป็นศาลปกครองกลางให้สั่งจ่ายในนาม “เงินค่าธรรมเนียมและเงินค่าปรับของสำนักงานศาลปกครองกลาง” เป็นต้น ทั้งนี้ เอกสารและหลักฐานทีไ่ด้จัดส่งให้พนักงานอัยการหน่วยงานตัวความควรจัดทำสำเนาเอกสารเก็บไว้ที่ตัวความ จำนวน ๑ ชุด เพื่อประโยชน์ในการทำความเห็นในชั้นอุทธรณ์ต่อศาลปกครองสูงสุดต่อไป

       อนึ่ง สำหรับในกรณีหน่วยงานราชการส่งเรื่องเพื่อให้ดำเนินคดีกับหน่วยงานราชการด้วยกันให้ปฏิบัติตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนมาก ที่ นร ๐๕๐๕/ว ๑๘๔ ลงวันที่ ๑๔ ธันวาคม ๒๕๔๙ และมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการยุติข้อพิพาทระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐและรัฐวิสาหกิจ

กรณีขอให้ยื่นคำให้การหรือฟ้องแย้ง

     กรณียื่่นคำให้การหรือสำนวนแก้ต้าง 
         สำนวนคดีหรือเรื่องแก้ต่าง  หมายถึง  สำนวนคดีที่หน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ถูกฟ้องคดีเป็นผู้ถูกฟ้องคดีต่อศาลปกครองและศาลปกครองได้รับไว้พิจารณาโดยมีหมายเรียกและคำสั่งให้ยื่นคำให้การแก้คดีหน่วยงานของรัฐต้องเตรียมการก่อนส่งเรื่องมาเพื่อดำเนินการ ดังต่อไปนี้
        ๑. ให้ตรวจสอบหมายแจ้งคำสั่งศาลที่เรียกให้จัดทำคำให้การว่าคดีดังกล่าวจะครบกำหนดยื่นคำให้การเมื่อใด ในกรณีที่หน่วยงานตัวความได้ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้หน่วยงานตัวความติดตามผลคำสั่งของศาลและแจ้งผลคำสั่งของศาลให้ปรากฏข้อเท็จจริงดังกล่าวในหนังสือนำส่งเรื่องไปยังสำนักงานคดีปกครอง
        ๒. ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำคำให้การ โดยมีประเด็นหักล้างประเด็นตามคำฟ้อง พร้อมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้อง และหน่วยงานตัวความต้องรับรองความถูกต้องของสำเนาเอกสารทุกแผ่นทุกหน้า
        อนึ่ง ในกรณีที่หน่วยงานตัวความพิจารณาแล้วเห็นว่า คดีที่ตนถูกฟ้องนั้นไม่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองและประสงค์จะโต้แย้งอำนาจการพิจารณาว่าคดีไม่อยู่ในอำนาจการพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง ให้แจ้งความประสงค์พร้อมเหตุผลให้ปรากฏในหนังสือนำส่งเรื่องเพื่อดำเนินคดี
        ทั้งนี้ ในบันทึกสรุปข้อเท็จจริงข้างต้นต้องจัดให้มีการลงนามท้ายบันทึกสรุปข้อเท็จจริงโดยผู้แทนของหน่วยงานหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบ
       ๓. จัดให้มีใบมอบอำนาจให้ดำเนินคดี คำสั่งมอบอำนาจ หรือคำสั่งแต่งตั้งกรรมการดำรงตำแหน่งของผู้มอบอำนาจ หลักฐานบัตรประจำตัวของผู้แทนหรือผู้มอบอำนาจอย่างน้อย จำนวน ๒ ชุด โดยให้ผู้ประสานงานคดีนำมาส่ง

       การมอบอำนาจในการตั้งพนักงานอัยการเป็นผู้ดำเนินคดีแทนนั้น มีข้อสังเกตว่ากรณีเป็นการมอบอำนาจเป็นการทั่วไปให้ทำการแทนผู้แทนนิติบุคคล การมอบอำนาจนั้นต้องระบุถึงการมอบอำนาจให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแทนไว้ให้ชัดเจนด้วย เพราะบางหน่วยงานได้กำหนดไว้ในกฎหมายของหน่วยงานห้ามมิให้ผู้รับมอบอำนาจทั่วไปทำการมอบอำนาจช่วงต่อไปอีกทำให้ไม่สามารถลงนามในใบมอบอำนาจให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแทนได้ เพราะเป็นการมอบอำนาจช่วง
        การมอบอำนาจให้ดำเนินคดีแทน กรณีเป็นการแก้ต่างแทนคณะกรรมการซึ่งถือเป็นคณะบุคคลการมอบอำนาจให้คณะกรรมการทุกคนลงนามในใบมอบอำนาจพร้อมแนบสำเนาบัตรประจำตัวของกรรมการทุกคนมาด้วยหรืออาจมีมติของที่ประชุมคณะกรรมการมอบอำนาจให้ประธานคณะกรรมการเป็นผู้รับมอบอำนาจแทนกรรมการทุกคน พร้อมกับแนบรายงานการประชุมคณะกรรมการที่ปรากฏมติดังกล่าวมาด้วย
       ในกรณีที่หน่วยงานของตัวความไม่ได้รับการยกเว้นในเรื่องอากรแสตมป์ หน่วยงานตัวความต้องจัดเตรียมอากรแสตมป์ให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด อนึ่ง การส่งสำนวนขอให้แก้ต่างนั้น หน่วยงานตัวความต้องส่งสำนวนขอให้แก้ต่างไปยังสำนักงานคดีปกครอง โดยมีกำหนดระยะเวลาไม่น้อยกว่า ๑๐ วันทำการ ก่อนครบกำหนดระยะเวลายื่นคำให้การตามหมายแจ้งคำสั่งศาล

     กรณีฟ้องแย้ง

       คำฟ้องแย้ง  หมายถึง กรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีมีสิทธิเรียกร้องที่จะบังคับเอากับผู้ฟ้องคดี ที่อาจยื่นเป็นคำฟ้องต่อผู้ฟ้องคดีได้ตามนัยแห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๔๕ “ผู้ถูกฟ้องคดีจะฟ้องแย้งมาในคำให้การก็ได้ คำฟ้องแย้งนั้นให้ถือเสมือนเป็นคำฟ้องใหม่” เช่นนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีอาจยื่นคำฟ้องเพื่อบังคับ ตามสิทธิเรียกร้องที่มีต่อผู้ฟ้องคดีเข้ามาในคดีที่ถูกฟ้องได้โดยไม่ต้องแยกไปฟ้องเป็นคดีต่างหากหลักเกณฑ์สำคัญของการฟ้องแย้ง คือ

      ๑. ฟ้องแย้งต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิมพอที่จะรวมการพิจารณาตัดสินชี้ขาดเข้าด้วยกันได้ ตามนัยแห่งระเบียบของที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๓ ข้อ ๔๕ วรรคสอง
      ในกรณีที่คำฟ้องแย้งนั้นเป็นเรื่องอื่นที่ไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม ให้ตุลาการเจ้าของสำนวนสั่งไม่รับคำฟ้องแย้ง คำสั่งดังกล่าวให้เป็นที่สุด กล่าวคือ

      ๑.๑ ต้องเป็นเรื่่องที่จำเลยฟ้องขอให้บังคับต่อโจทก์จะขอให้บังคับจำเลยด้วยกันไม่ได้ หรือจำเลยจะฟ้องแย้งบังคับบุคคลภายนอกไม่ได้ เช่นฟ้องแย้งขอให้บังคับเจ้าพนักงานที่ดินแก้ไขรูปแผนที่และเนื้อที่ดินของโจทก์และจำเลยให้ตรงกับความจริง เป็นฟ้องแย้งที่กระทบกระเทือนสิทธิของเจ้าพนักงานที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอก มิใช่ฟ้องแย้งโจทก์ซึ่งเป็นคู่ความในคดี จึงเป็นเรื่องอื่นไม่เกี่ยวกับคำฟ้องเดิม (คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๗๘/๒๕๔๙)

       ๑.๒ ผู้มีสิทธิฟ้องแย้งต้องอยู่ในฐานะจำเลย รวมถึงกรณีผู้ร้องสอดที่ถูกเรียกเข้ามาเป็นจำเลยร่วมหรือเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามด้วย (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๓/๒๕๐๗ ประชุมใหญ่) แต่เมื่อเป็นจำเลยร่วมกับจำเลยจึงต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่จำเลยซึ่งเป็นคู่ความฝ่ายที่ตนเข้าร่วม เมื่อจำเลยให้การโดยมิได้ฟ้องแย้งจำเลยร่วมทั้งห้าจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องแย้งโจทก์ได้

       ๑.๓ ฟ้องแย้งต้องไม่เป็นฟ้องแย้งที่มีเงื่อนไขหรืออาศัยสิทธิของบุคคลภายนอกมาฟ้องแย้ง

       คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๘๙๗-๑๘๙๙/๒๕๕๗ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทอยู่ในเขตโฉนดที่ดินของบิดาของจำเลย เมื่อบิดาจำเลยยังมีชีวิตอยู่การครอบครองของจำเลยจึงเป็นการครอบครองแทนบิดาจำเลย ดังนั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ วินิจฉัยว่า การที่โจทก์ทั้งสี่โต้แย้งว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสี่เป็นการโต้แย้งสิทธิของบิดาจำเลย ไม่ได้โต้แย้งสิทธิของจำเลย จำเลยไม่มีอำนาจฟ้องแย้งจึงชอบแล้ว

       คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๙๓๒/๒๕๔๙ โจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ตามสัญญาเช่าซื้อ จำเลยที่ ๒ ตามสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ ๒ ฟ้องแย้งอ้างว่าชำระค่าเช่าซื้อครบถ้วนแล้ว เมื่อจำเลยที่ ๑ ถึงแก่ความตาย โจทก์ต้องจดทะเบียนใส่ชื่อทายาทของจำเลยที่ ๑ เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รถยนต์ที่เช่าซื้อเป็นการกล่าวอ้างว่า โจทก์โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ ๑ หาใช่โต้แย้งสิทธิของจำเลยที่ ๒ ไม่ จำเลยที่ ๒ ไม่มีอำนาจฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยที่ ๒ จึงไม่เกี่ยวข้องกับฟ้องเดิมไม่อาจพิจารณารวมไปกับคำฟ้องเดิมได้

       ๑.๔ ฟ้องแย้งต้องไม่อ้างเหตุขัดกับคำให้การ เช่น

       คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๖๔๘/๒๕๔๑ จำเลยให้การว่า สัญญาซื้อขายที่โจทก์นำมาฟ้องตกเป็นโมฆะ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยให้ปฏิบัติตามสัญญาได้การที่จำเลยฟ้องแย้งขอให้บังคับโจทก์ชำระเงินตามสัญญาดังกล่าวจึงขัดกับคำให้การของจำเลย และหากจำเลยชนะคดีก็ไม่อาจบังคับตามคำขอได้ ถือได้ว่าฟ้องแย้งดังกล่าวไม่เกี่ยวกับฟ้องเดิม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาคดีแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคสาม

       ๑.๕ คำฟ้องแย้งต้องเกี่ยวกับฟ้องเดิม หรือเป็นผลสืบเนื่องจากข้อตกลงเดิมที่โจทก์ฟ้อง

        คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๑๘๒/๒๕๔๖ โจทก์ฟ้องว่า จำเลยปลูกสร้างโรงเรือนและรั้วคอนกรีตรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์โดยไม่มีสิทธิและไม่สุจริต ขอให้รื้อถอนรั้วคอนกรีตและอาคารที่รุกล้ำ จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารและรั้วคอนกรีตโดยสุจริต ขอให้โจทก์จดทะเบียนโอนขายส่วนที่รุกล้ำหรือจดทะเบียนภาระจำยอม ดังนี้ ประเด็นข้อพิพาทมีว่า จำเลยปลูกสร้างอาคารและรั้วคอนกรีตรุกล้ำไปในที่ดินของโจทก์โดยสุจริตหรือไม่ หากฟังได้ว่าจำเลยกระทำโดยสุจริตและรั้วคอนกรีตติดตรึงเป็นส่วนหนึ่งของอาคารโรงเรือน จำเลยก็มีสิทธิตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๑๒ ไม่ต้องรื้อถอนโรงเรือนส่วนที่รุกล้ำแต่ต้องใช้ค่าที่ดินให้โจทก์และจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอมได้ตามคำขอบังคับตามฟ้องแย้ง ฟ้องแย้งของจำเลยจึงเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมโดยตรง ชอบที่จะรับฟ้องแย้งของจำเลยได้พิจารณาพิพากษา

       คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๔๑/๒๕๕๐ กรณีฟ้องเดิมเป็นการฟ้องเรียกผู้รับจ้างและผู้ค้ำประกันให้ชำระค่าปรับที่เกิดจากการทำงานล่าช้า การที่ผู้รับจ้างฟ้องแย้งขอให้ผู้ว่าจ้างใช้ค่าเสียหายที่เกิดจากการตรวจรับงานล่าช้าและค่าเสียหายจากการที่การก่อสร้างล่าช้าเพราะเหตุอุปสรรคอันเกิดจากความผิดและความบกพร่องของผู้ว่าจ้าง ถือว่าเป็นฟ้องแย้งที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม

     ๒. ฟ้องแย้งถือเป็นการใช้สิทธิยื่นคำฟ้องประเภทหนึ่งการฟ้องแย้ง จึงต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การฟ้องคดีเช่นต้องอยู่ภายในระยะเวลาการฟ้องคดีตามความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ และต้องเสียค่าธรรมเนียมเช่นเดียวกับการฟ้องคดี แต่มีข้อแตกต่างกับการฟ้องคดีทั่วไปที่อาจยื่นคำฟ้องเข้ามาในคำให้การในคดีที่ถูกฟ้องได้โดยระบุว่าเป็นฟ้องแย้ง ภายในเวลาที่ศาลกำหนดให้ยื่นคำให้การ (จะฟ้องแย้งเข้ามาในระยะเวลาการคำให้การยื่่นเพิ่มเติมไม่ได้ หากมีความจำเป็นหรือทราบเหตุที่ต้องฟ้องคดีก็ให้ฟ้องเข้ามาเป็นคดีใหม่)

     ๓. ข้อเท็จจริงที่ใช้ในการจัดทำคำฟ้องแย้งนั้นต้องสอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่ใช้ในการทำคำฟ้องตามข้อ ๑ ทั้งนี้ในบันทึกสรุปข้อเท็จจริงข้างต้น ต้องจัดให้มีการลงนามท้ายบันทึกสรุปข้อเท็จจริงโดยผู้แทนของหน่วยงานหรือหัวหน้าหน่วยงานที่รับผิดชอบว่าประสงค์จะให้มีการฟ้องแย้งด้วยเพราะถือเป็นการว่าต่างเข้ามาใหม่เพิ่มเติมจากการขอให้แก้ต่างคดี

     ๔. ข้อควรระวังเมื่อฟ้องแย้งเป็นการฟ้องคดีอย่างหนึ่ง ดังนั้น ต้องดำเนินการฟ้องคดีหรือยื่นฟ้องคดีภายในกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดี ตามความในมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒

๑.๒ ส่งโดยผู้ว่าราชการจังหวัด หรือกรมเจ้าสังกัด หรือ ผู้กำกับดูแลรับผิดชอบในการปฏิบัติราชการของหน่วยงานทางปกครอง หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกฟ้องหรือจะฟ้องคดีนั้นตามระเบียบของทางราชการ

๑.๓ ให้ระบุตัวบุคคลผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ประสานงานคดีกับพนักงานอัยการพร้อมหมายเลขโทรศัพท์ติดต่อ

๑.๔ ในกรณีขอให้ แก้ต่างคดี ให้ส่งเรื่องถึงพนักงานอัยการก่อนวันครบกำหนดยื่นคำให้การตามที่ศาลสั่งไม่น้อยกว่า ๑๐ วัน หากคดีใกล้จะครบระยะเวลาที่ศาลกำหนดให้ยื่นคำให้การ ก่อนส่งเรื่องให้พนักงานอัยการให้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองนครศรีธรรมราช ขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การออกไปอีก ๓๐ วัน แล้วรีบแจ้งผลการขอขยายระยะเวลายื่นคำให้การให้พนักงานอัยการทราบโดยด่วน

๑.๕ ในกรณีขอให้ ว่าต่างคดี  ให้ส่งเรื่องถึงพนักงานอัยการก่อนวันครบกำหนดระยะเวลาที่จะต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.๒๕๔๒ มาตรา ๔๙, ๕๐ หรือ ๕๑ และก่อนจะขาดอายุความไม่น้อยกว่า ๑ เดือน ทั้งนี้เพื่อให้พนักงานอัยการสามารถดำเนินการได้ทันโดยไม่เสียหายต่อคดี

. สิ่งที่ต้องส่งไปในเบื้องต้นพร้อมกับหนังสือส่งเรื่อง

๒.๑ ใบมอบอำนาจของผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีขอให้แก้ต่าง หรือของผู้ฟ้องคดีในกรณีขอให้ว่าต่าง
(ดาวน์โหลดได้ที่นี่) ลงลายมือชื่อของผู้มอบอำนาจและพยานโดยยังไม่ต้องกรอกข้อความ จำนวน ๒ ฉบับ

๒.๒ สำเนาบัตรประจำตัวของผู้ถูกฟ้องคดีในกรณีขอให้แก้ต่าง หรือของผู้ฟ้องคดีในกรณีขอให้ว่าต่าง ซึ่งรับรองสำเนาถูกต้อง ๒ ชุด

๒.๓ คำสั่งเรียกให้ทำคำให้การและสำเนาคำฟ้องในกรณีขอให้แก้ต่าง

๒.๔ บันทึกคำชี้แจงเบื้องต้น

       ๒.๔.๑ กรณีขอให้แก้ต่าง ให้ทำเป็นบันทึกคำชี้แจงเบื้องต้นของผู้ถูกฟ้องคดี โดยมีรายละเอียดเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกฟ้องและข้อโต้แย้งตามประเด็นในคำฟ้องและตามประเด็นที่ศาลกำหนดทั้งในข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเหตุผลในการปฏิบัติราชการเกี่ยวกับเรื่องที่ถูกกล่าวหาในคำฟ้อง จำนวน ๑ ชุดบันทึกคำชี้แจงตอนใดกล่าวซ้ำถึงชื่อของผู้ฟ้องคดีหรือชื่อของผู้ถูกฟ้องคดี ให้ใช้คำว่า “ผู้ฟ้องคดี” หรือ “ผู้ถูกฟ้องคดี” แล้วแต่กรณีแทน และในกรณีที่ ”ผู้ฟ้องคดี” หรือ “ผู้ถูกฟ้องคดี” มีหลายคนหรือหลายหน่วยงาน ก็ให้ระบุอันดับที่ของผู้ฟ้องคดีหรือผู้ถูกฟ้องคดีที่กล่าวถึงไว้ด้วยกรณีที่ผู้ถูกฟ้องคดีหลายคนหรือหลายหน่วยงานร่วมกันขอให้พนักงานอัยการดำเนินคดีแทน และข้อเท็จจริงที่ชี้แจงในคดีดังกล่าวเกี่ยวพันกันกับผู้ถูกฟ้องคดีหลายคนหรือหลายหน่วยงานนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีหลายคนหรือหลายหน่วยงานดังกล่าวอาจร่วมกันทำคำชี้แจงไปในฉบับเดียวกันได้

       ๒.๔.๒ กรณีขอให้ว่าต่าง ให้ทำเป็นบันทึกคำชี้แจงเบื้องต้นของผู้ฟ้องคดีโดยมีรายละเอียดเรื่องราวความเป็นมาเกี่ยวกับเรื่องที่จะฟ้อง ทั้งในข้อเท็จจริงข้อกฎหมายและเหตุผล ในการที่จะใช้สิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครอง จำนวน ๑ ชุด กรณีที่ผู้ฟ้องคดีหลายคนหรือหลายหน่วยงานร่วมกันขอให้พนักงานอัยการฟ้องคดีและดำเนินคดีแทน และข้อเท็จจริงที่ชี้แจงในคดีดังกล่าวเกี่ยวพันกันกับผู้ฟ้องคดีหลายคนหรือหลายหน่วยงานนั้น ผู้ฟ้องคดีหลายคนหรือหลายหน่วยงานดังกล่าวอาจร่วมกันทำคำชี้แจงไปในฉบับเดียวกันได้

๒.๕ ต้นฉบับหรือสำเนาเอกสารหลักฐานที่รับรองสำเนาถูกต้องทุกหน้า (ระบุชื่อตำแหน่งเจ้าหน้าที่ผู้รับรองด้วย) วัตถุ หรือข้อมูลที่บันทึกสำหรับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือประมวลผลโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือข้อมูลที่บันทึกไว้ในหรือได้มาจากสื่ออีเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อทางเทคโนโลยีสารสนเทศประเภทอื่นที่เกี่ยวข้องกับคำชี้แจงใน ๒.๔ ซึ่งกำกับเลขที่เรียงตามลำดับตามคำชี้แจงให้ครบถ้วนถูกต้องตรงกัน

       ๒.๕.๑ กรณีขอให้แก้ต่าง ให้เตรียมสำหรับยื่นต่อศาลจำนวนชุดเท่าที่ระบุในคำสั่งเรียกให้ทำคำให้การ และสำหรับพนักงานอัยการอีก ๑ ชุด

       ๒.๕.๒ กรณีขอให้ว่าต่าง ให้เตรียมสำหรับยื่นต่อศาล ๑ ชุด สำหรับพนักงานอัยการ ๑ ชุด และสำหรับผู้ถูกฟ้องคดีจำนวนชุดเท่ากับจำนวนผู้ถูกฟ้องคดี

๒.๖ ไฟล์เอกสารคำชี้แจงดังกล่าวใน ๒.๔ (ถ้ามี) ขอให้ copy ใส่แผ่น FloppyDisk หรือแผ่น CD ส่งไปด้วยเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการจัดพิมพ์

๓. การประสานงานคดีหลังจากส่งเรื่อง

              ให้ผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดี หรือผู้ประสานงานคดี ประสานงานไปยังพนักงานอัยการเจ้าของสำนวนผู้รับผิดชอบภายใน ๕ วัน เพื่อการนัดหมายในการเตรียมการดำเนินคดีให้ผู้ถูกฟ้องคดี ผู้ฟ้องคดี และหรือผู้ประสานงานคดี ติดตามเรื่อง จัดส่งเอกสารหลักฐานไป หรือนำบุคคลผู้เกี่ยวข้องรู้เห็นไปให้พนักงานอัยการเจ้าของสำนวนผู้รับผิดชอบซักถามเป็นพยาน นำพนักงานอัยการไปตรวจสอบสถานที่ บุคคลหรือสิ่งอื่นใด เพื่อประกอบการพิจารณา ตลอดจนอำนวยความสะดวกอื่นๆ ในการดำเนินคดีจนกระทั่งคดีถึงที่สุด

 . ระยะเวลาการฟ้องคดีปกครอง

               ระยะเวลาการฟ้องคดีปกครองในการฟ้องคดีปกครองนั้น มีเงื่อนไขสำคัญประการหนึ่งที่ผู้ฟ้องคดีต้องให้ความสำคัญ เพราะอาจมีผลทำให้ศาลปกครองรับหรือไม่รับคดีนั้น ไว้พิจารณาเงื่อนไขสำคัญดังกล่าวคือ ระยะเวลาในการฟ้องคดีการฟ้องคดีต่อศาลปกครองมีระยะเวลาในการฟ้องคดีที่แตกต่างกันจำแนกตามประเภทคดี ได้ดังนี้คือ

๑. คดีที่พิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐออกกฎ หรือคำสั่ง ทางปกครอง หรือกระทำการอื่นใดโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย เช่นกรณีผู้ฟ้องคดีเห็นว่าเจ้าพนักงานท้องถิ่น ไม่ออกใบอนุญาตก่อสร้างอาคารโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีผู้ฟ้องคดีเห็นว่าผู้บังคับบัญชามีคำสั่งลงโทษทางวินัยโดยไม่เป็นธรรม ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี

๒. คดีที่พิพาทเกี่ยวกับหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ ต้องปฏิบัติ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เช่น กรณีเจ้าพนักงานท้องถิ่นละเลยต่อหน้าที่ไม่ตรวจตราและออกคำสั่งให้เจ้าของอาคารรื้อถอนอาคารที่ก่อสร้างหรือต่อเติมโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ฟ้องคดีต้องฟ้องภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี ในกรณีที่ผู้ฟ้องคดีร้องขอต่อหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหน้าที่อย่างใดอย่างหนึ่ง แต่หน่วยงานละเลยต่อหน้าที่หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร กรณีเช่นนี้จะเริ่มนับระยะการฟ้องคดีตั้ง แต่วันที่พ้นกำหนด ๙๐ วัน นับแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้มีหนังสือร้องขอต่อหน่วยงาน หรือหากผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือแจ้งจากหน่วยงานแต่เห็นว่า เป็นคำชี้แจงที่ไม่มีเหตุผลกรณีเช่นนี้จะเริ่มนับระยะเวลาการฟ้องคดีตั้งแต่วันที่ผู้ฟ้องคดีได้รับหนังสือแจง

๓. คดีพิพาทเกี่ยวกับการทำละเมิดหรือความรับผิดอย่างอื่นของหน่วยงานทางปกครองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ อันเกิดจากการใช้อำนาจตามกฎหมายหรือจากกฎ คำสั่ง หรือการละเลยต่อหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่ล่าช้าเกินสมควร เช่น การที่เจ้าพนักงานที่ดินออกคำสั่งเพิกถอนการออกโฉนดที่ดินโดยมิชอบ ด้วยกฎหมาย ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหาย และผู้ฟ้องคดีเรียกค่าเสียหายดังกล่าว หรือการฟ้องเรียกค่าทดแทนการเวนคืน หรือการรอนสิทธิจากการวางท่อประปา หรือการตั้ง เสาไฟฟ้า ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครองภายใน ๑ ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ระยะเวลา ๑ ปีนั้น จะต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี และจะต้องฟ้องภายในระยะเวลา ๑๐ ปีเท่านั้น

๔. คดีพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง เช่น ข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างเอกชนก่อสร้างถนน สะพาน อาคารเรียน หรือข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าสัมปทานตามสัญญาสัมปทานทำไม้ป่าชายเลน เป็นต้น ผู้ฟ้องคดีต้องยื่นฟ้องภายใน ๕ ปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีแต่ระยะเวลา ๕ ปีนั้น จะต้องไม่เกิน ๑๐ ปี นับแต่มีเหตุแห่งการฟ้องคดีและจะต้องฟ้องภายในระยะเวลา ๑๐ ปีเท่านั้น

๕. คดีที่พิพาทเกี่ยวกับการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะ เช่นการฟ้องคดีขอเพิกถอนโฉนดที่ดิน ที่ออกทับหนองน้ำสาธารณะ ผู้ฟ้องคดีจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อใดก็ได้

๖. คดีที่พิพาทเกี่ยวกับสาธารณะของบุคคล เช่น การฟ้องเกี่ยวกับสัญชาติของบุคคล ผู้ฟ้องคดีจะยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครองเมื่อใดก็ได้

๗. การฟ้องคดีปกครองที่ยื่นฟ้องเมื่อพ้นกำหนดการฟ้องคดีแล้ว ถ้าศาลปกครองเห็นว่า คดีที่ยื่นฟ้องนั้น จะเป็นประโยชน์แก่ส่วนรวมหรือ เป็นเหตุจำเป็นอื่นศาลปกครองอาจรับไว้พิจารณาก็ได้

๘. การยื่นคำร้องขอบังคับตามคำชี้ขาดอนุญาโตตุลาการ ต้องยื่นคำร้องภายใน ๓ ปี นับแต่วันที่อาจสามารถบังคับคดีได้ (วันที่คู่ความทราบคำชี้ขาด มาตรา ๔๒)

๙. การยื่นคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ต้องยื่นภายใน ๙๐ วัน นับแต่วันทราบคำชี้ขาด (วันที่รับคำชี้ขาดจากสำนักระงับข้อพิพาท สำนักงานศาลยุติธรรม)

 . การคิดเงินค่าธรรมเนียมศาล

               – การฟ้องคดีที่ขอให้ศาลสั่งให้ใช้เงินหรือส่งมอบทรัพย์สิน อันสืบเนื่องจากคดี ตามมาตรา ๙ วรรคหนึ่ง (๓) หรือ (๔) แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๕๐ ล้านบาท คิดค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ ๒ แต่ไม่เกินสองแสนบาท ส่วนที่เกิน ๕๐ ล้านขึ้น ไป คิดค่าธรรมเนียมศาลอีกในอัตราร้อยละ ๐.๑ ของจำนวนทุนทรัพย์ที่จะฟ้อง

               – คำร้องขอให้ศาลบังคับตามคำชี้ขาดหรือคำร้องขอเพิกถอนคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ในประเทศไทย ซึ่งมีทุนทรัพย์ไม่เกิน ๕๐ ล้านบาท คิดค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ ๐.๕ แต่ไม่เกินห้าหมื่นบาท ส่วนที่เกิน ๕๐ ล้านบาทขึ้นไป คิดค่าธรรมเนียมศาลอีกในอัตราร้อยละ ๐.๑ ของจำนวนที่ร้องขอให้ศาลบังคับในการคำนวณทุนทรัพย์ ถ้าทุนทรัพย์ไม่ถึงหนึ่งร้อยบาท ให้นับเป็นหนึ่งร้อยบาท เศษของหนึ่งร้อยบาท ถ้าไม่ถึง ๕๐ บาท ให้ปัดทิ้ง ถ้าเกิน ๕๐ บาท ให้ปัดเป็นหนึ่งร้อยบาท แล้วนำไปคิดเงินค่าธรรมเนียมศาลในอัตราร้อยละ ๒ หรือ ๐.๕ หรือ ๐.๑ แล้วแต่กรณี และเพื่อรวมค่าธรรมเนียมศาลดังกล่าวแล้วมีเศษไม่ถึงหนึ่งบาทให้ปัดทิ้ง

                – การชำระค่าธรรมเนียมศาล ตัวความสามารถชำระได้ ๒ วิธี คือ จ่ายเป็นเงินสดด้วยตนเอง ณ ศาลปกครองนครศรีธรรมราช หรือจ่ายเป็นเช็คที่ธนาคารรับรอง โดยสั่งจ่ายในนาม “เงินค่าธรรมเนียมและเงินค่าปรับของสำนักงานศาลปกครองนครศรีธรรมราช” ส่งไปยังศาลปกครองนครศรีธรรมราช (ทั้งนี้ การชำระค่าธรรมเนียมศาลดังกล่าว ให้หน่วยงานเจ้าของคดีประสานกับพนักงานอัยการหรือนิติกรที่รับผิดชอบคดีก่อนชำระค่าธรรมเนียมศาลทุกครั้ง)

สถิติคดี

เอกสารดาวน์โหลด

ติดต่อหน่วยงาน

สำนักงานคดีปกครองนครศรีธรรมราช
ตั้งอยู่ที่ ชั้น 4 อาคารสำนักงานอัยการจังหวัดทุ่งสง
เลขที่ 264 หมู่ที่ 2 ถนนนคร – ทุ่งสง ตำบลถ้ำใหญ่
อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช 80110
โทรศัพท์ 0-7577-3140 ต่อ 404 , 406 , 417
โทรสาร    0-7577-3140 ต่อ 412
Email address :  nakhonsi-admin@ago.go.th