|

อัยการแม่สะเรียงลงพื้นที่ศูนย์พักพิงแม่ละอูนคุ้มครองสิทธิผู้เสียหาย พร้อมบริจาคสิ่งของช่วยเหลือ

นายสมชัย บรรจง อัยการจังหวัดแม่สะเรียง นายพลภัทร สีแดง อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด (ปฎิบัติหน้าที่ผู้กลั่นกรองงาน) นายพันเลิศ เอกบรมสิริ อัยการจังหวัดผู้ช่วย พร้อมด้วยนายศรุต วรัตพงศ์ อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด นายคณาวุฒิ สันติพงศ์ รองอัยการจังหวัด สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดแม่ฮ่องสอน สาขาแม่สะเรียง ได้เดินทางไปพบกับผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กหญิงอายุ ๑๔ ปีเศษ ที่ศูนย์อพยพ และพักพิงชั่วคราวบ้านแม่ละอูน ตำบลแม่สามแลบ อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่ออธิบาย แจ้ง และคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายในคดีอาญา

คดีนี้ สืบเนื่องจากผู้เสียหายซึ่งอายุ ๑๔ ปีเศษ เป็นคนสัญชาติกระเหรี่ยง เชื้อชาติเมียนม่าร์ พักอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพและพักพิงชั่วคราวบ้านแม่ละอูน ได้ถูกบิดาของเพื่อนล่วงละเมิดทางเพศ โดยหลังจากเกิดเหตุแล้วผู้เสียหายมีอาการหวาดระแวง ไม่สามารถใช้ชีวิตได้ปกติเช่นเดิม มีอาการเหม่อลอย นายสมชัยและคณะพนักงานอัยการ จึงได้ประชุมร่วมกันเพื่อหามาตรการในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย โดยเห็นพ้องตรงกันว่าหากให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กต้องเข้าเบิกความถึงเหตุการณ์ที่ตนถูกล่วงละเมิดทางเพศ ในชั้นพิจารณาของศาลอีก จะเป็นการตอกย้ำและรื้อฟื้นให้ผู้เสียหายซึ่งเป็นเด็กต้องทนทุกข์ทรมานกับบาดแผลทางจิตใจที่ตนถูกกระทำ อันจะส่งผลต่อสภาพจิตใจของผู้เสียหายให้ต้องจมอยู่กับความทรงจำที่พยายามจะลบเลือน การนำมาตรการในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๗๒ ตรี วรรคท้าย มาใช้ด้วยการขอให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนแทนการเบิกความในชั้นพิจารณาจะเป็นประโยชน์แก่ผู้เสียหายยิ่งกว่า ทั้งปัจจุบันผู้เสียหายยังคงพักอาศัยอยู่ที่ศูนย์อพยพและพักพิงชั่วคราวแม่ละอูน ซึ่งตั้งอยู่ที่อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่ห่างจากชายแดนพม่าเพียง ๒ กิโลเมตร มีประชากรผู้ลี้ภัยสงครามอาศัยอยู่กว่าหนึ่งหมื่นคน จำนวนกว่าสามพันหลังคาเรือน ส่วนใหญ่เป็นชาวกะเหรี่ยง สัญชาติเมียนมาร์ การเดินทางเข้าออกศูนย์อพยพและพักพิงชั่วคราวแม่ละอูน ลำบากมาก ต้องใช้รถขับเคลื่อน ๔ ล้อ โดยต้องใช้เวลาเดินทางจากอำเภอแม่สะเรียงเกือบ ๔ ชั่วโมง จึงจะเข้าไปถึง เพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหาย นายสมชัยและคณะพนักงานอัยการจึงได้ประสานกับพนักงานสอบสวน นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา ล่าม อาสาสมัครทหารพราน เจ้าหน้าที่ของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และฝ่ายปกครองอำเภอสบเมย เพื่อเข้าพบผู้เสียหายเพื่ออธิบายและแจ้งสิทธิของผู้เสียหายดังกล่าวให้ผู้เสียหายทราบ ทั้งยังได้แจ้งให้ผู้เสียหายทราบถึงสิทธิที่ผู้เสียหายสามารถ เรียกร้องค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนจากผู้ต้องหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ ได้ด้วย โดยในการนี้นายสมชัยและคณะได้นำข้าวสารและเครื่องอุปโภคบริโภคไปมอบให้แก่ผู้เสียหายด้วย
ต่อมา วันที่ ๑๗ มีนาคม ๒๕๖๔ พนักงานอัยการจังหวัดแม่สะเรียงได้ยื่น คำร้องต่อศาลจังหวัดแม่สะเรียงเพื่อขอให้ศาลรับฟังสื่อภาพและเสียงคำให้การของผู้เสียหายในชั้นสอบสวนเสมือนหนึ่งเป็นคำเบิกความของผู้เสียหายในชั้นพิจารณาของศาลตามมาตรการในการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายแล้ว

อนึ่ง การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามนโยบายของสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานอัยการภาค ๕ ที่ต้องการคุ้มครองสิทธิของผู้เสียหายที่เป็นเด็ก ตามที่ นายอภิชาติ พลอยแก้ว อธิบดีอัยการภาค ๕ ได้มีคำสั่งให้จัดตั้งศูนย์อัยการคุ้มครองสิทธิเด็ก เยาวชน และสถาบันครอบครัวภาค ๕ ขึ้น ในการดำเนินการดังกล่าว นายสมชัย บรรจง อัยการจังหวัดแม่สะเรียงได้รายงานการเข้าคุ้มครองสิทธิดังกล่าวให้นายจรัสพงศ์ ขจัดสารพัดภัย อัยการพิเศษฝ่ายคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือภาค ๕ ทราบแล้ว

Similar Posts